กระทรวงดีอีเร่งประมูลอีอีซีดี เปิดซื้อซองรอบ2เดือนก.ค.นี้

กระทรวงดีอีเร่งประมูลอีอีซีดี เปิดซื้อซองรอบ2เดือนก.ค.นี้

ความคืบหน้าโครงการอีอีซีดี เกิดขึ้นเมื่อเดือนมิ.ย. 2562 ได้เปิดประมูล อีอีซีดี แต่ยังไม่มีผู้เข้ายื่นซองประมูล เนื่องจากโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไม่มีความชัดเจน ทำให้นักลงทุนยังไม่กล้ายื่นซองประมูล เพราะรถไฟความเร็วสูงมีความสำคัญมากสำหรับโครงการ

อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า หลังจากที่โครงการรถไฟความเร็วสูงมีความชัดเจนสามารถคัดเลือกเอกชนเข้ามาดำเนินงานแล้วทำให้กระทรวงดีอีมีแผนที่จะเปิดขายซองประมูลโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล(อีอีซีดี) ในช่วงต้นปีนี้ แต่ก็ติดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงได้เลื่อนการยื่นซองประมูลออกไป ซึ่งคาดว่าจะเปิดซื้อซองประมูลรอบใหม่ได้ในช่วงเดือนก.ค. นี้ จากนั้นจะใช้เวลา 3 เดือน ในการคัดเลือก และตัดสินผู้ชนะการประมูลภายในสิ้นปีนี้  

โดยล่าสุดคาดว่าจะมีนักลงทุนขนาดใหญ่ 2 ราย สนใจเข้าร่วมประมูล ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุนระหว่างผู้ประกอบการไทยและบริษัทต่างชาติในเอเชียที่มีเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งเมื่อได้บริษัทที่ชนะการประมูลแล้วจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2564 และจะเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2565 คาดว่าภายใน 5 ปี จะมีธุรกิจเข้ามาลงทุนเข้ามาเต็มพื้นที่ โดยโครงการนี้มีระยะเวลาร่วมลงทุน 50 ปี

สำหรับ โครงการ อีอีซีดี นี้ จะมีพื้นที่ประมาณ 709 ไร่ ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยโครงการ เฟส 1 จะมีพื้นที่ 120 ไร่ หรือ 20% ของพื้นที่ทั้งหมด โดยงบลงทุนในโครงการนี้จะประกอบด้วย อาคาร โครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะ ทั้งระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน ถนน เคเบิลใยแก้วนำแสง คาดว่าจะมีมูลค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรวมมากกว่า 4 พันล้านบาท แต่จากการหารือกับภาคเอกชนที่สนใจลงทุนคาดว่าจะใช้เงินลงทุนมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพราะได้ออกแบบ อีอีซีดี ในรูปแบบอาคารสูง ทำให้มีผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลมากกว่าการประเมินของกระทรวงดีอี ที่ใช้รูปแบบนิคมอุตสาหกรรมในแนวราบ โดยคาดว่ารจะมีบุคลากรเข้ามาทำงานในพื้นที่นี้ไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นคน

“โครงการอีอีซีดี อยู่ใกล้สถานีรถไฟความเร็วสูงสถานีศรีราคาเพียง 3 กิโลเมตร และจะมีระบบคมนาคมรองเชื่อมต่อจากสถานีศรีราชาเข้ามาในโครงการ จะทำให้มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานสูงมาก"

โดยมีนักลงทุนด้านคลาวด์เซอร์วิส และแพลตฟอร์มรายใหญ่หลายรายสนใจที่จะเข้ามาลงทุนหลายพันล้านบาท จะเกิดธุรกิจดิจิทัลอื่นๆตามมาอีกมาก และจะดึงมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆของโลกเข้ามาตั้ง รวมทั้งยังมีโครงการเคเบิลใต้น้ำหลายเส้นจะเข้ามาในอีอีซีอี ขยายแบนด์วิธกับเพื่อนบ้าน จะช่วยยกระดับไทยไปสู่การเป็นฮับดิจิทัลในภูมิภาคนี้

สำหรับ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล 6 กลุ่ม ที่จะได้รับการส่งเสริมภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิทัล หรือดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์ ได้แก่ 1.ฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ 2.ซอฟต์แวร์และระบบอัจฉริยะ 3.บริการดิจิตอลและออกแบบ 4.อุปกรณ์และบริการสื่อสาร 5.เนื้อหาดิจิตอลและข้อมูลดิจิตอล และ 6.โครงสร้างพื้นฐานดิจิตอล รวมทั้งเน้นให้มีการดำเนินงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ถึงแนวทางที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล

นอกจากนี้ จะมีการตั้งสถาบันไอโอที (IoT Institute) พื้นที่ ขนาด 30 ไร่ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อให้พื้นที่อีอีซีดีเติบโตเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนนั้น ทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สศด.) อยู่ระหว่างดำเนินงานก่อสร้างอาคารรวม 5 อาคาร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานวัสดุ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ รวมวงเงินกว่า 3.6 พันล้านบาท

พิชิต สถาปัตยานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นเนอร์จี แม็คซ์ จำกัด บริษัทในเครือบริษัทเอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การวางเครือข่ายเคเบิลใต้น้ำมาขึ้นที่ไทยใช้ไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตระหว่างภูมิภาคฝั่งตะวันตกจากยุโรป อินเดีย ผ่านไทยไปเอเชียตะวันออก เช่น ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี

159447521678

โดยได้มีนักลงทุนจากจีน อินเดีย ยุโรป และสหรัฐ จะเข้ามาวางเคเบิลใต้น้ำเข้ามาในไทยเพิ่มอีก 7-8 เส้น รวมของเดิมที่มีอยู่ 7 เส้น จะทำให้ไทยมีเคเบิลใต้น้ำ 14-15 เส้น ภายใน 2-3 ปี ทำให้ใกล้เคียงกับสิงคโปและฮ่องกงร์ที่เป็นศูนย์กลางดิจิทัลที่มีจำนวน 23 เส้น ทำให้ไทยก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคนี้

“การที่เคเบิลใต้น้ำมาขึ้นที่ไทยเชื่อมต่อระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออกผ่านไทยไปฮ่องกง ญี่ปุ่น และจีน จะมีต้นทุนต่ำกว่าผ่านสิงคโปร์ที่มีเส้นทางยาวกว่าไทยกว่า 700 กิโลเมตร ทำให้ลดต้นทุนการผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไปได้พอสมควร ซึ่งจะทำให้เกิดการดึงดูดอุตสาหกรรมด้านนี้ให้เข้ามาลงทุนในไทย ส่งผลให้ไทยขึ้นมาเป็นผู้นำด้านดิจิทัลได้ในภูมิภาคนี้”

โดยผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับคือเรื่องภาษี จากการซื้อขายสินค้าบนระบบออนไลน์ ที่ในแต่ละปีมีมูลค่ากว่า 4-5 แสนล้านบาท ซึ่งหากไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่สมบูรณ์ ก็จะเป็นแรงดึงดูดให้บริษัทด้านดิจิทัลออนไลน์ต่างๆเข้ามาตั้ง และทำแพลตฟอร์มในไทย

นอกจากนี้ โครงการ อีอีซีดี จะทำให้เกิดการดึงดูดการลงทุนในธุรกิจบิ๊กดาต้า เกิดการตั้งเซอร์เวอร์ขนาดใหญ่ในไทย ซึ่งจะสร้างทั้ง knowledge และ know-how

ส่วนภาคเอกชน จะเกิดการลงทุนด้านศูนย์บิ๊กดาต้ากว่า 4-5 พันล้านบาท และธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเกิดธุรกิจใหม่ๆตลอดห่วงโซ่ธุรกิจอีกมาก รวมทั้งจะมีการตั้งมหาวิทยาลัยมุ่งเน้นด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีชั้นสูง ในอีอีซีดี การตั้งโรงไฟฟ้า การลงทุนด้านโทรคมนาคมใหม่ๆ ซึ่งรวมแล้วจะมีเงินลงทุนรวมเกือบ 1 แสนล้านบาท

ขณะที่ภาคประชาชน จะได้รับจากโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะการลงทุนในระบบ 5จี ที่จะครอบคลุมพื้นที่ อีอีซี ไม่ต่ำกว่า 50% ภายในปี 2564 มีการยกระดับระบบไอโอที ต่างๆ เข้ามาเสริมในสมาร์ทซืตี้ที่จะเกิดขึ้นในอีอีซี เกิดเมืองอัจฉริยะที่มีความสะดวกปลอดภัยให้กับประชาชน