ส่องราคา 'หมู' ย้อนหลัง 5 ปี รู้หรือไม่ อะไรทำให้หมูแพงขึ้น ?

ส่องราคา 'หมู' ย้อนหลัง 5 ปี รู้หรือไม่ อะไรทำให้หมูแพงขึ้น ?

เนื้อหมูราคาพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 170-180 บาท จากปกติ 150-160 บาท จาก 5 ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เนื้อหมูราคาแพงขึ้น

ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม เป็นต้นมา ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับชาวชาบูหมูเลิฟเวอร์เพราะ ราคาเนื้อหมูในท้องตลาดจากราคาปกติกิโลกรัมละ 150-160 บาท พุ่งสูงไปถึงกิโลกรัมละ 170-180 บาท ส่งผลให้ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งต้องออกมาประกาศขึ้นราคาอาหาร พร้อมทั้งแจ้งลูกค้าถึงภาวะที่เกิดขึ้น

159497668534

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมข้อมูลราคาหมูย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งตอบข้อสงสัยว่าทำไมหมูถึงแพงขึ้น มีปัจจัยเงื่อนไขอะไรบ้าง

  • ย้อน 5 ปี ราคาหมูเป็นอย่างไร

เมื่อย้อนหลังดูข้อมูลราคาหมูของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โดยยึดราคา "หมูเป็นหน้าฟาร์ม" ตามการควบคุมของกรมการค้าภายในนั้น พบว่า

ปี 2563 (ถึงเดือนกรกฎาคม) หมูมีราคาต่ำสุด 65.00 สูงสุด 80.00

ปี 2562 หมูมีราคาต่ำสุด 65.00 สูงสุด 75.00

ปี 2561 หมูมีราคาต่ำสุด 44.00 สูงสุด 65.10

ปี 2560 หมูมีราคาต่ำสุด 49.30 สูงสุด 69.10

ปี 2559 หมูมีราคาต่ำสุด 60.17 สูงสุด 77.10

159497673660

โดยหน่วยนับเป็นราคาบาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้หากเป็นเนื้อหมูชำแหละ หรือราคาหน้าแผงตลาดสดนั้น ราคาจะเพิ่มตั้งแต่ 50% เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เนื่องจากมีค่าต้นทุนการชำแหละและการขนส่งเพิ่มเข้ามา สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาหมูในประเทศแพงขึ้นนั้น แบ่งออกได้เป็น 5 ปัจจัยหลัก คือ

1. ความต้องการหมูเพิ่มมากขึ้น

การบริโภคหมูที่เพิ่มสูงขึ้นจากการที่รัฐบาลได้คลายล็อกดาวน์จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่มีการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเปิดเทอม ส่งผลให้ราคาหมูในเดือนกรกฎาคม 2563 พุ่งขึ้น

แต่ถึงอย่างนั้นนอกเหนือจากสถานการณ์โควิด-19 ภายในช่วงเวลาตลอด 1 ปีในปีอื่นๆ ความต้องการหมูก็มีความต้องการต่างกัน โดยเฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนพฤษภาคมของทุกๆ ปี จะมีราคาหมูแพงกว่าเดือนอื่นๆ เนื่องจากมีเทศกาลตรุษจีน และการไหว้เจ้าตามประเพณีที่ต้องใช้หมูเป็นส่วนประกอบในพิธีไหว้

159497741010

ทั้งนี้ในปี 2557 - 2561 ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรของไทย เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 9.73 ต่อปีซึ่งสุกรที่ผลิตได้ใช้บริโภคภายในประเทศเป็นหลักประมาณร้อยละ 97 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด โดยในปี 2561 มีปริมาณการบริโภคสุกร 19.34 ล้านตัว หรือ 1.45 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 3.57

 

2. โรคติดต่อภายในหมู

จากข้อมูลราคาหมูเป็นหน้าฟาร์ม ทำให้เห็นว่าในปี 2562 ที่ผ่านมาราคาหมูพุ่งกว่าปี 2561 แพงกว่า 1 เท่าตัว เนื่องจากในช่วงปี 2562 นั้นมีโรค ASF หรือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ที่ระบาดในหลายประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรต่างต้องเลี้ยงสุกรอย่างระมัดระวัง

จากภาวะโรค ASF ที่เกิดขึ้น พบว่าสุกรในระบบของไทยหายไปกว่า 20% จากเดิมในปี 2562 ไทยที่มีสุกรในระบบประมาณ 20,000,000 ตัว ที่สำคัญเกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น จากการเฝ้าระวังและป้องกัน ASF อย่างเข้มงวด ทำให้เกษตรกรมีค่าใช้จ่ายเพิ่มถึงตัวละ 100 บาท

159497751273

3. ส่งออกต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

หมูไทย กลายเป็นที่ต้องการของหลายประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่โดนโรคอหิวาต์แอฟริการะบาดในสุกร ทำให้ปริมาณหมูลดลงทุกประเทศ และราคาแพงขึ้น สำหรับประเทศไทย สถานการณ์โรคระบาดในสุกรมีความรุนแรงน้อยกว่าประเทศอื่นๆ อย่าง จีน เวียดนาม และเมียนมา พร้อมทั้งได้รับการยอมรับว่าจากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ว่า สามารถจัดการปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริการะบาดในสุกรได้อย่างดีเยี่ยม ส่งผลให้หมูไทยไม่ขาดแคลนและมีราคาถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลาย จึงกลายเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ อย่าง จีน เวียดนาม

ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ส่งออกหมูอันดับต้นๆ ของเอเชีย โดยเฉพาะในช่วงปี 2562 ยอดส่งออกหมูไปเวียดนาม อยู่ที่ราว 16%ของรายได้ และยอดส่งออกไปจีนอยู่ที่ราว 24% ของรายได้

 

159497752499

 

4. ราคาอาหารหมู

ในการผลิตสุกรนั้นต้นทุนอาหารสัตว์คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 60-70 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ดังนั้นการที่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์มีแนวโน้มสูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสุกรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ปัจจุบันวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับราคาสูงขึ้นเป็นอย่างมาก อาทิ ปลายข้าวราคาสูงกว่า 12 บาทต่อกิโลกรัม และรำข้าวราคา 10-11 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนการผลิตปัจจุบัน 65-67 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาขายหมูเป็นหน้าฟาร์มประมาณ 66-71 บาทต่อกิโลกรัม

5. สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

ปัญหาภัยแล้ง และอากาศร้อนคืออุปสรรคด้านอากาศต่อการเลี้ยงหมู เนื่องจากช่วงไหนที่สภาพอากาศร้อนจัด ส่งผลให้สภาพร่างกายของหมูกินอาหารลดลง ทำให้น้ำหนักหมูลดลง เกษตรจึงต้องเพิ่มปริมาณอาหารหมูเพิ่มมากขึ้น หมายถึงต้นทุนด้านอาหารจึงต้องเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังกระทบกับเกษตรกรที่ส่วนใหญ่มีน้ำไม่เพียงพอ จึงต้องซื้อน้ำจากภายนอกมาใช้ในฟาร์มทุกวัน ทำให้มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีก 2-3% มีค่าไฟเพิ่มเพราะต้องเปิดพัดลมระบายอากาศตลอดเวลา

ขณะที่สภาพอากาศแปรปรวนฉับพลันทำให้ลูกหมูอ่อนแอมาก มักเป็นไข้หวัด ป่วยง่าย จึงมีค่าเวชภัณฑ์ในการรักษาเพิ่ม

จากปัจจัยทั้งหมดล้วนเป็นเหตุผลที่ทำให้ราคาหมูเพิ่มมากขึ้น แต่ใดๆ นั้นราคาที่ผันผวนต้องถูกควบคุมให้อยู่ในราคาที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด ไม่อย่างนั้นประชาชนและผู้ประกอบการจะเดือดร้อนและส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่อย่างฉุดไม่อยู่

159497754179

อ้างอิง 

ราคาสุกรขุนเฉลี่ย ปี 2540 - 2560 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ

ราคาสุกรขุนปี 2563 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ

ปศุศาสตร์ นิวส์