เปิดเบื้องหลัง ‘โรบินฮู้ด’แพลตฟอร์มดิสรัป ฟู้ดดิลิเวอรี่
เรียกว่าเป็น “Talk of the town” ที่สร้างแรงสั่นสะท้อนให้กับวงการธุรกิจธนาคารไม่น้อย หลัง ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ประกาศตัว ฉีกแนว การทำธุรกิจแบงก์ ลงมาใน สนาม Food Delivery ที่ธุรกิจแบงก์ไม่เคยทำมาก่อน ภายใต้ชื่อ “Robinhood”
ที่จดทะเบียนภายใต้ บริษัทเพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ที่ถือหุ้นโดย SCB10X ซึ่งเป็นบริษัทลูกของธนาคารไทยพาณิชย์
ล่าสุด ได้มีโอกาสคุยกับ “สีหนาท ล่ำซำ”ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ในรายการ New normal Talk พลิกมุมคิดมองธุรกิจในมุมใหม่ ที่จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ
โดย “สีหนาท” เล่าจุดเริ่มต้นที่เกิด “Robinhood” ฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่เป็นสัญชาติไทยแท้ เกิดมาจาก แนวคิดของ CEO เอง คือ อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ไทยพาณิชย์ ที่เจอ Pain Point จากการสั่งอาหารผ่านออนไลน์ ในยุคที่มีการทำงานอยู่บ้าน จากผลกระทบไวรัสโคโรนา สายพันธ์ุใหม่ หรือโควิด-19 ว่า ทำไมสั่งอาหารแล้วมีต้นทุนแพง? ทำไมต้องมีการเก็บค่า GP หรือส่วนแบ่ง ทำไมค่า GP ในบางเจ้าพุ่งกระฉูด โดยเรียกเก็บสูงถึง 40% ทำไมสั่งอาหารต้องมีต้นทุนที่แพง ขนส่งก็แพง? Robinhood จึงเกิดมาเพื่อแก้ Pain Point เหล่านี้ให้หมดไป
Robinhood จึงเกิดขึ้น เพื่อทำให้เกิดความเสมอภาค ไม่ต้องมีใครถูกเอารัดเอาเปรียบ ทุกคนได้ประโยชน์ โดยไม่มีการเก็บค่า GP Robinhood จึงเหมือนอัศวินขี่ม้าขาว มาช่วยให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภค กับทุกคน
“รูปแบบนี้ ถือเป็น New normal ที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับธุรกิจแบงก์มาก่อน เมื่อก่อนหากจะทำโปรเจคใหม่ ต้องมียึดเบสิกขั้นพื้นฐาน ต้องนึกถึงกำไรไว้ก่อน ต้องรัน Business model แต่โปรเจคนี้พิเศษมาก สิ่งที่เกิดขึ้น มันเทิร์นความคิดหมดเลย ทุกอย่างรันโดย ความคิดว่า “เราอยากช่วยก่อน” และทำงานร่วมกันกว่า10แผนกเข้ามาอยู่ด้วยกัน ฉะนั้นโปรเจคนี้จึงเกิดขึ้นเร็วมาก และสิ่งที่CEO พูดเสมอว่า ภายใต้วิกฤต ให้มองว่าเป็นโอกาส มีฮีโร่เสมอ”
Robinhoon เกิดขึ้นไม่ยาก เพราะที่ผ่านมา ไทยพาณิชย์ มีการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์มองค์กรอยู่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งการสร้างองค์กร การเสริมองค์กร เสริมด้านเทคโนโลยี ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์กรอยู่แล้ว จึงกลายเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้สามารถนำไอเดียต่างๆ มาต่อยอดจากการทรานส์ฟอร์ม เอากลับมาใช้ได้เร็ว ซึ่งผลลัพธ์ก็มาจากสิ่งที่ลงทุนไปในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นหากเราไม่ทรานส์ฟอร์ม เราเชื่อว่าเมื่อเจอวิกฤติ เราไม่มีทางปรับตัวได้ทันแน่นอน
“สีหนาท” ระบุว่า อยากให้มอง Robinhooh เป็นแพลตฟอร์ม CSR “เสียเงิน ไม่ทำกำไร” แต่ต่อยอดให้กับสังคม เมื่อก่อนเราจะคุ้นชินกับ CSR ที่เป็นวันไทม์ วันช็อต แต่ทำไมไม่มองอีกมุม ว่าแพลตฟอร์มนี้ ทำให้ industry อาหารยังเหลืออยู่ ที่เป็นของคนไทย ทำให้คนไทยได้ยืนอยู่ได้ เพราะหากดูธุรกิจในอินดีสตรีอื่นๆ ส่วนใหญ่เจ้าของเป็นต่างชาติเกือบทั้งหมด จึงเป็นไอเดียว่า หากจะทำ CSR เราต้องทำ สิ่งเล็กๆ แต่มีอิมแพคหนักๆ
ความคืบหน้า Robinhoon เตรียมจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบปลายก.ย.นี้ ถามว่าเราจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า “ไม่รู้” เพราะเรามาจากแบงกิ้ง เราไม่เคยส่งอาหาร แต่ passion คือ เราอยากช่วย และเราจะค่อยๆโต เพราะเราอยากเป็น Alternative หรือเป็นทางเลือก แก่ผู้บริโภค ทางเลือกให้ร้านค้า หรือคนขับรถ
ขณะที่การจ่ายเงิน แพลตฟอร์มนี้ถูกออกแบบมาให้จ่ายเงินผ่านดิจิทัลทั้งหมด ไม่แตะเงินสดเลย เหล่านี้เราเชื่อว่า จะแก้ Pain Point แก้ปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลังของร้านค้า คนขับได้ เพราะเมื่อมีการสั่งออเดอร์บนดิจิทัลเพย์เมนท์ ธนาคารจะสามารถนำเงินเข้าให้ร้านค้า หรือคนขับได้ทันที ภายใน 1ชั่วโมง เพื่อลดปัญหาการขาดสภาพคล่อง ลดการพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ซึ่งต่างกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่มีการนำเงินเข้าระบบข้ามวัน หรือ15 วันครั้ง
ถามว่าแพลตฟอร์มนี้จะสามารถต่อยอดอะไรไปได้อีก หากเรามองแพลตฟอร์มนี้เป็น CSR อนาคตข้อมูลเหล่านี้ สามารถทำเป็นดิจิทัล มาเป็น magic data ที่สามารถใช้ เพื่อให้เงินหมุนเวียนแก่ร้านค้า หรือคนขับได้ เพื่อให้มีกระแสเงินสดได้ในอนาคต และสามารถต่อท่อในการให้บริการเซอร์วิสต่างๆได้อีกมากในอนาคต ดังนั้นถือเป็นผลพลอยได้ จากการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มนี้