ขอ 'สินเชื่อ' ไม่เคยผ่าน ต้องรู้! วิธี 'ใช้เงิน' ให้ 'เครดิตดี' ทำอะไรก็ฉลุย
หมดปัญหากู้ไม่ผ่าน! เปิด 5 พฤติกรรมการ "ใช้เงิน" ให้ "เครดิตดี" ที่ช่วยให้สามารถเข้าถึงโอกาสทางการเงินในอนาคต
เมื่อเงินขาดมือทางเลือกหนึ่งที่หลายคนนึกถึงคือ "สินเชื่อ" หรือแหล่ง "เงินกู้" ต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่อง หรือคนที่ต้องการมีทรัพย์สินของตัวเอง เช่น การซื้อพักอาศัย ซื้อรถยนต์ สร้างธุรกิจ ฯลฯ แต่ปัญหาที่ใครหลายๆ คนเจอคือ "กู้ไม่ผ่าน" ซึ่งปิดโอกาสหลายๆ อย่างของเรา
สาเหตุที่ทำให้กู้เงินไม่ผ่าน มีหลายปัจจัยที่ใช้ประกอบการพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นวัตถุประสงค์การกู้ รายได้ และหนี้สินที่มีอยู่ก่อนหน้าที่สะท้อนความสามารถในการชำระเงินกู้ หลักประกัน ฯลฯ
ทว่า หลายปัจจัยเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้กู้ ในขณะที่สิ่งที่อยู่ในการควบคุมของตัวผู้กู้ ที่สามารถสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินได้กว่า นั่นคือ "คะแนนเครดิต" หรือ "Credit Score" เป็นคะแนนเครดิตความน่าเชื่อถือของผู้สมัครขอสินเชื่อแต่ละราย โดยรวบรวมประวัติการชำระเงินจากสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกในเครดิตบูโร หรือบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ซึ่งสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกเหล่านี้ สามารถขอดูรายงานดังกล่าวเพื่อลดความเสี่ยงในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้
ข่าวที่น่าสนใจ :
- รวมมาตรการ 'ออมสิน' ช่วยผู้ได้รับผลกระทบ 'โควิด-19' (อัพเดท 24 ก.ค. 63)
- ธปท.ไฟเขียว '5 แบงก์' เปิดบัญชีออนไลน์ ใช้เทคโนโลยีชีวมิติจดจำใบหน้า
- ประกันสังคม 101 | พนักงานประจำ จ่ายประกันสังคมทุกเดือน ได้สิทธิ์อะไรบ้าง?
- เช็คสิทธิ์ ‘ประกันสังคม’ มาตรา 33 รับ ‘เงินเยียวยา' 15,000 บาท สรุปล่าสุด! (21 ก.ค. 63)
ดังนั้น การรักษาสถานะการชำระหนี้ให้ตรงตามเวลา ครบตามจำนวนที่ได้ทำสัญญาไว้อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ จะเป็นแต้มต่อในการขอสินเชื่อในอนาคตได้
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวมทริคการใช้เงิน และพฤติกรรมการใช้เงินที่ช่วยให้คุณเป็นคนที่มี "เครดิตทางการเงิน" ที่ดีอยู่ตลอดเวลา และสามารถเข้าถึงโอกาสทางการเงินต่างๆ ได้มากกว่า ดังนี้
- ชำระหนี้ให้ตรงเวลา
การชำระหนี้ต่างๆ ให้ตรงตามเวลา เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยแสดงความมีวินัยทางการเงินของเราได้อย่างชัดเจน เช่น สำหรับคนที่มีบัตรเครดิตจะต้องชำระให้ตรงเวลา และชำระเงินเต็มจำนวนเสมอ เพื่อป้องกันดอกเบี้ย โดยหลักสำคัญ คือจะมีการเก็บประวัติที่มีความต่อเนื่อง เป็นระยะเวลานาน เพื่อสะท้อนว่าเราเป็นผู้วินัยในการชำระหนี้อย่างแท้จริง
ปัจจุบันไม่ได้มีแค่การผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิต หนี้บ้าน หนี้รถ หรือหนี้ก้อนใหญ่ๆ ที่สามารถตรวจสอบได้เท่านั้น เช่นธนาคารกสิกรไทย แบงก์เริ่มนำข้อมูลการใช้จ่าย พฤติกรรมการชำระหนี้ ในชีวิตประจำวัน ผ่าน Mobile Banking โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้า เช่น ข้อมูลด้านเงินฝาก การใช้เครดิต และข้อมูลจากแอพพลิเคชัน K PLUS ฯลฯ เพื่อประเมินหาความต้องการทางการเงิน และนำเสนอสินเชื่อผ่านมือถือ
ซึ่งการใช้ AI และเทคโนโลยีของมือถือเข้ามาช่วย ทำให้ธนาคารรู้ว่าต้องนำเสนอสินเชื่อ "ให้ใคร" ที่มีความต้องการเงินทุน นำเสนอ "ให้เมื่อไหร่" ที่ตรงกับช่วงเวลาที่ลูกค้าต้องการ และนำเสนอ "ให้เท่าไหร่" ซึ่งเป็นวงเงินที่เพียงพอสำหรับความต้องการของธุรกิจลูกค้า
นั่นหมายความว่า คนที่มีพฤติกรรมการเงินที่ดี ย่อมมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากกว่า เพราะมีคะแนนเครดิตที่ดีกว่านั่นเอง
- มี "บัตรเครดิต" เท่ากับ "เครดิตดี" ได้อย่างไร !?
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ในบางครั้ง แม้จะไม่มีหนี้ แถมมีเงินสดเต็มบัญชี แต่อาจมีเครดิตดีไม่เท่ากับคนที่มี "หนี้" แต่จ่ายอย่างมีวินัยก็ได้!
สำหรับคนที่ไม่มีหนี้ และยังไม่มีบัตรเครดิต เราสามารถสร้างเครดิตได้ด้วยการเลือกสมัครบัตรเครดิตสักใบที่เหมาะสมกับการใช้จ่ายประจำของคุณ โดยแบ่งการใช้จ่ายประจำที่มีอยู่แล้วมาชำระผ่านบัตรเครดิต เช่น จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ซื้อกองทุน หรือซื้อของใช้ในบ้าน ด้วยการผ่อน 0%
ซึ่งการสัดสรรค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเหล่านี้มาแบ่งผ่อนชำระแบบไร้ดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอ จะไม่ได้สร้างภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนช่องทางการชำระเงิน และในขณะเดียวกัน เราก็จะสร้างเครดิตได้ด้วยในตัว และมีโอกาสได้รับคะแนนสะสมในบัตรเพื่อใช้เป็นสิทธิประโยชน์ต่างๆ เป็นของแถมอีกด้วย
ในทางตรงกันข้าม คนที่ไม่เคยกู้เงินใดๆ เลย หรือไม่เคยมีประวัติการใช้บัตรเครดิต หรือประวัติการชำระหนี้อื่นๆ จึงไม่มีประวัติเกี่ยวกับคะแนนเครดิตในระบบ ในความเป็นจริง ถึงแม้คุณจะไม่มีหนี้ แถมมีเงินฝากในธนาคาร แต่ก็จะขาดหลักฐานที่แสดงให้เห็นได้ว่ามีความสามารถในการชำระหนี้ได้ดีแค่ไหน
ขณะเดียวกัน การที่คุณไม่มีบัตรเครดิต มองในอีกมุมหนึ่งก็อาจจะสื่อได้เช่นกันว่า คุณอาจจะไม่มีความน่าเชื่อถือพอที่จะได้รับการอนุมัติบัตรเครดิตจากสถาบันการเงินที่ใดเลยได้เช่นกัน
ดังนั้น การจัดสรรเงินมาใช้ผ่านบัตรเครดิตสำหรับที่ยังไม่เคยมีประวัติการชำระหนี้ใดๆ ปรากฏ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการสร้างคะแนนเครดิตที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เมื่อพิจารณาร่วมกับองค์ประกอบอื่นๆ ในอนาคต
- เครดิตไม่ดี มีโอกาสแก้ไขได้
แต่สำหรับคนที่เคยมีประวัติชำระหนี้ที่ไม่ดี เช่น เคยผิดนัดชำระ หรือมีหนี้ค้างชำระ สามารถแก้ไขได้ด้วยการเริ่มสร้างประวัติใหม่ ด้วยการปรับพฤติกรรมการชำระหนี้เสียใหม่ ให้กลายเป็นปรกติวิสัย
เนื่องจาก "เครดิตบูโร" หรือ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด จะจัดเก็บข้อมูลไม่เกิน 3 ปี เช่น ถ้าเจ้าของข้อมูลมีบัตรเครดิตที่ค้างชำระในเดือนสิงหาคมและต่อมาได้จ่ายหนี้และปิดบัญชีในเดือนกันยายนจะแสดงยอดหนี้เป็น "0" มีสถานะบัญชีเป็น "ปิดบัญชี" และแสดงข้อมูลอยู่ในเครดิตบูโรอีกไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่ได้รับรายงานข้อมูลการปิดบัญชีจากสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิก
หลังจากนั้นเมื่อครบกำหนด 3 ปี บัญชีบัตรเครดิตดังกล่าวก็จะถูกลบออกไปจากฐานข้อมูลเครดิตบูโรโดยอัตโนมัติ โดยเครดิตบูโรไม่สามารถลบข้อมูลบัญชีบัตรเครดิตได้ในทันทีหลังชำระหนี้เสร็จสิ้น
ทั้งนี้ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) เตือนให้ประชาชนระมัดระวังและอย่าได้หลงเชื่อ คำกล่าวอ้างดังกล่าวกรณีที่มีคนแอบอ้างว่า สามารถรับทำบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล บ้าน รถยนต์ ให้กับผู้ที่ถูกขึ้นบัญชีดำหรือติดแบล็กลิสต์ (Blacklist) ในฐานข้อมูลของเครดิตบูโรได้
รวมทั้งอ้างว่า สามารถปลดล็อกหนี้ได้ เพราะความเป็นจริงแล้ว ฐานข้อมูลในเครดิตบูโรนั้นไม่ใช่ข้อมูลการติดแบล็กลิสต์ มีเพียงประวัติการก่อหนี้และการชำระหนี้ของบัญชีสินเชื่อที่บุคคลนั้นมีอยู่กับสมาชิกของเครดิตบูโร
ที่สำคัญคือ "เครดิตบูโรไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือลบทิ้งข้อมูลได้ และไม่มีใครไปปลดล็อกอะไรได้ตามที่มีการโฆษณาหลอกลวง"
ดังนั้น หากเคยมีประวัติการชำระหนี้ไม่ตรงเวลา ไม่มีใครสามารถช่วยเราได้ เว้นแต่ปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวเองให้กลับมาอยู่ในสถานะปกติอย่างต่อเนื่อง และนับว่าบยังไม่สายสำหรับการสร้างเครดิตใหม่ เพื่อโอกาสในการขอสินเชื่อในอนาคต
"การใช้เงินในวันนี้" มีผลต่อ "โอกาสทางการเงิน" ในวันหน้า ฉะนั้นอย่าละเลยการบริหารจัดการเงินของตัวเอง อย่างมีวินัยเสียแต่วันนี้
ที่มา: ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เครดิตบูโร กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม