CEO Turnover จับตาจุดเปลี่ยน
ไขรหัสปรากฏการณ์ CEO Transformation การปรับเปลี่ยนตำแหน่งของ CEO ทั่วโลกที่กำลังเกิดขึ้นในวงกว้าง กำลังส่งสัญญาณอะไรในวงการธุรกิจบ้าง หรือองค์กรธุรกิจต่างๆ กำลังเดินเข้าสู่ภาวะสุญญากาศ?
หรือนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่? ตั้งแต่ปี 2019 จนถึงวันนี้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวงการธุรกิจโลกที่น่าจับตามองก็คือ การก้าวลงจากตำแหน่งของ CEO บริษัททั่วโลกรวมแล้วกว่า 1,400 บริษัท รวมทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกในกลุ่ม Tech และ Non-tech
ยกตัวอย่างเช่น Disney, IBM, Salesforce, Nike, Mastercard, Under Armour, eBay ยังมี Founder ของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายคนที่สละตำแหน่ง CEO เพื่อหา Successor เข้ามารับตำแหน่งแทนเช่น Reid Hoffman ผู้ร่วมก่อตั้ง Linkedin และ Larry Page ผู้ร่วมก่อตั้ง Google ที่ก้าวลงจากตำแหน่งบริหาร
ล่าสุดในเอเชียกระแสการเปลี่ยนแปลงก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน ยูนิคอร์นแถวหน้าที่กำลังเติบโตในกลุ่ม E-commerce อย่าง Bukalapak และ Pinduoduo ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทก็ประกาศถอดหมวกอำลาตำแหน่งแล้วเช่นกัน ข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาองค์กร Challenger, Gray & Christmas ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของ CEO ทั่วโลกที่เกิดขึ้นกำลังทำลายสถิติสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับทุกช่วงเวลาที่ผ่านมา แม้กระทั่งช่วงปี 2008 ก่อนที่วิกฤติ Financial Crisis จะแผ่ขยายไปทั่วโลก
การปรับเปลี่ยนตำแหน่งของ CEO ทั่วโลกที่กำลังเกิดขึ้นในวงกว้าง กำลังส่งสัญญาณอะไรบางอย่างที่วงการธุรกิจและนักลงทุนต้องจับตามอง นักวิเคราะห์สายกลยุทธ์มองว่าแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่น่าจะเป็นประเด็นเรื่องผลประกอบการแต่เพียงอย่างเดียว เพราะหลายบริษัทที่ CEO ลงจากตำแหน่งไป ก็ไม่ได้มีผลประกอบการที่เลวร้าย บางบริษัทราคาหุ้นกำลังอยู่ในจุด New High เสียด้วยซ้ำ
แล้วอะไรคือสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “CEO Transformation” ครั้งใหญ่?
ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรหลายคนให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะองค์กรธุรกิจจำนวนมากกำลังเดินไปถึงจุดที่เรียกว่า “ภาวะสุญญากาศ” นั่นคือ ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงภายนอกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี การแข่งขัน สภาวะเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ขยายวงกว้าง Demographics ของลูกค้าที่เปลี่ยนไป กำลังซื้อที่เปลี่ยนมือจากคนรุ่นเก่ามาสู่คนรุ่นใหม่ที่ไลฟ์สไตล์แตกต่างจากคนใน Generation ก่อนอย่างสิ้นเชิง ทำให้ CEO อยู่ในจุดที่เรียกว่า “เอาไม่อยู่”
ถึงแม้จะสามารถทำให้ผลประกอบการระยะสั้นเป็นไปได้ตามเป้า แต่ก็ยังติดกับดักโครงสร้างธุรกิจและโครงสร้างองค์กรเดิมที่ไม่สามารถทำให้เกิด Corporate Transformation เพื่อสร้างสิ่งที่เป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจในอีก 3-5 ปีข้างหน้าได้อย่างที่ผู้ถือหุ้นคาดหวัง การไม่สามารถนำพาองค์กรไปสู่ “The Next Level” กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ CEO ไม่ได้ไปต่อ
กับดักและความท้าทายที่ทำให้เหล่า CEO ต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านนี้มีสามประเด็นใหญ่ๆ กับดักข้อแรกคือปัญหาเรื่อง Management Team โดยเฉพาะอย่างยิ่ง CEO ที่เป็นผู้ก่อตั้งหรือผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจ ผู้บริหารองค์กรที่เป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจมักจะมีทีมงาน Direct Report หลายคนที่ร่วมบุกเบิกธุรกิจด้วยกันมา มีแนวทางการทำงานร่วมกันที่คุ้นเคยโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญๆ แต่พอธุรกิจเติบโตขึ้นจำเป็นต้องมีผู้บริหารระดับสูงที่เป็นคนรุ่นใหม่ข้ามาอยู่ในทีมบอร์ดบริหาร เพื่อนำเอาประสบการณ์และความเชี่ยวชาญใหม่ๆ เข้ามาในองค์กร
ความไม่ลงรอยของแนวทางการทำงานกับผู้บริหารรุ่นเก่า ทำให้ CEO ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งและลดแรงกดดันของการเมืองภายในองค์กร มากกว่าที่จะมีเวลาไปขับเคลื่อนโมเดลธุรกิจใหม่ สร้าง Business Transformation ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม
ปัญหาวัฒนธรรมองค์กรหลายครั้งทำในเกิด Deadlock ทั้งในเรื่องของการตัดสินใจและการลงมือทำ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นระเบิดเวลาที่ทำให้ CEO ไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองและสร้างผลงานให้ได้อย่างที่ผู้ถือหุ้นคาดหวัง บางครั้งแรงกดดันอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้ CEO สูญเสียจุดยืนทำให้ตัดสินใจผิดพลาดหรือล้ำเส้นสิ่งที่เป็นเรื่องของจริยธรรมในการทำธุรกิจ
กับดักข้อสองที่มักจะเป็นประเด็นที่พบบ่อยที่สุดนั่นก็คือ CEO’s Skills set ที่ปรับไม่ทันในวันที่ธุรกิจเดินมาถึงจุดเปลี่ยน ในบางช่วงเวลาธุรกิจอาจต้องการ CEO ที่มีความเฉียบคมเรื่องของการขยายตลาด มีทักษะในการบริหารจัดการคนและทรัพยากร สามารถใช้กลยุทธ์ได้อย่างลงตัวเพื่อทำให้ผลประกอบการเติบโต แต่ในบางช่วงเวลาธุรกิจอาจจะต้องการ CEO ที่เป็น Change Driver กล้าที่จะพลิกโฉมปรับโครงสร้างองค์กรหรือกระทั่งทีมผู้บริหารโดยไม่ยึดติดกับสิ่งเดิม ๆ เลย
ล่าสุดองค์กรที่เป็นยักษ์ใหญ่ในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีรายหนึ่งตัดสินใจปรับเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงโดยเอา CEO ของบริษัทขนาดเล็กกว่าที่ซื้อกิจการเข้ามาขึ้นมาเป็น President ของบริษัทแม่ด้วยเป้าหมายที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์แบบ Disruptive
กับดักข้อที่ 3 ที่ดูเหมือนจะเป็นตัวเร่งที่ทำให้ CEO ต้องถูกเปลี่ยนตัวกลางคันก็คือเรื่องของ Commitment ต่อผู้ถือหุ้น พนักงาน และลูกค้า ในอดีต CEO หลายคนที่เก่งในการฉายภาพวิสัยทัศน์และมี Charisma ของความเป็นผู้นำ มักจะประสบความสำเร็จในการชักจูงคนและสร้างแนวร่วมแต่ยุคปัจจุบันที่ “Speed” และ “Execution” คือหัวใจของความอยู่รอดขององค์กร ความคาดหวังในผลลัพธ์และการเปลี่ยนแปลงที่ต้องทำให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เป็นตัวชี้วัดที่ทำให้ CEO มีเวลาไม่มากที่จะพิสูจน์ตัวเอง จากการสำรวจล่าสุดกับกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ S&P 500 พบว่าระยะเวลาเฉลี่ยการอยู่ในตำแหน่งของ CEO ลดลงถึงกว่า 20%
ถึงแม้วิกฤติเศรษฐกิจและแรงกดดันภายนอกจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผู้นำองค์กร แต่สัจธรรมข้อหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่มักจะเป็นจริงเสมอก็คือ องค์กรที่กำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนผ่านล้วนต้องการผู้นำที่จะสามารถนำพาองค์กรไปสู่ปลายทางใหม่ คุณสมบัติและความสามารถของ CEO ที่ตอบโจทย์ธุรกิจในวันนี้อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้องค์กรยืนหยัดอยู่ได้ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของวันพรุ่งนี้