'เอ็กโก' ลุ้นเคาะอีไอเอ ลุยแผนพัฒนานิคม 'ระยอง'
การแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ว่าจะส่งผลให้บางอุตสาหกรรมชะลอแผนขยายการลงทุน แต่ก็มีบางอุตสาหกรรมที่ต้องการย้ายฐานการผลิต "เอ็กโก กรุ๊ป" เล็งเห็นช่องทางธุรกิจใหม่ จึงเดินหน้าแผนพัฒนานิคมฯในเขตอีอีซี เสริมรายได้ระยะยาว
การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ของบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2563 อนุมัติการเพิ่มวัตถุประสงค์ของบริษัท เพื่อให้สามารถประกอบกิจการจัดตั้งและดำเนินกิจการนิคมอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม เมืองอุตสาหกรรม เขตส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมอื่นใด
ตลอดจนการให้บริการสาธารณูปโภคในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้เพื่อเป็นโอกาสในการขยายศักยภาพและสร้างการเติบโตในอนาคต รวมทั้งรองรับการผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการ เอ็กโก กรุ๊ป ระบุว่า การแก้ไขวัตถุประสงค์ดังกล่าวของบริษัท เพื่อให้บริษัทสามารถเพิ่มโอกาสในการลงทุนในธุรกิจใหม่ ซึ่งจะสร้างการเติบโตให้แก่บริษัทและผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว
ทั้งนี้ บริษัทมีแผนที่จะใช้พื้นที่ของโรงไฟฟ้าระยอง จ.ระยอง ที่หมดอายุไปตั้งแต่ปี 2557 มาพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มและมีความตั้งใจพัฒนาเป็นสมาร์ทซิตี้ ในเขตอีอีซี ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน และธุรกิจที่ดำเนินการในอีอีซีเป็นธุรกิจใหม่รองรับนวัตกรรมใหม่รองรับธุรกิจพลังงานในอนาคต
โดยวางเป้าที่จะทำระบบไฟฟ้าที่เป็นอิสระ ซึ่งจะเปิดช่องให้บริษัทร่วมพัฒนากับกลุ่มอุตสาหกรรมในบริเวณดังกล่าว หรือร่วมให้คำแนะนำด้านพลังงานหมุนเวียน เช่น ติดตั้งแผงโซลาร์ เพื่อผลิตไฟฟ้าให้ใช้ในโรงงานอุสาหกรรม ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่บริษัทจะดำเนินการ โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทน เป็นต้น เบื้องต้นจะดำเนินการภายใต้ชื่อ “นิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง” บนพื้นที่ 500 ไร่ เพื่อพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมในลักษณะ Smart Industrial Estate รองรับการลงทุนในอีอีซี
ดนุชา สิมะเสถียร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจในประเทศ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า โครงการดังกล่าวกำลังทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งเตรียมชี้แจงข้อมูลรอบที่ 2 ภายในเดือน ก.ค.นี้ และคาดว่าจะได้รับการอนุมัติ EIA จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ตามแผนประมาณเดือน ส.ค.2563
จากนั้นจะยื่นการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อขอจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม และคาดว่าจะใช้เวลาปรับพื้นที่ 2 ปี ก่อนเปิดเชิญชวนมาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ เบื้องต้น โรงไฟฟ้าระยองเก่า มีพื้นที่ทั้งหมด 600 ไร่ แต่จะจัดทำเป็นนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 500 ไร่ ที่เหลือ 100 ไร่ จะยกเว้นส่วนนี้ไว้สำหรับเป็นพื้นที่สีเขียว และในอนาคตหากจะขยายนิคมอุตสาหกรรมเฟส 2 ก็มีโอกาสที่จะดำเนินการได้ ในการจัดซื้อพื้นที่เพิ่มเติม แต่ก็ต้องประเมินสถานการณ์ในระยะต่อไป
สำหรับเม็ดเงินลงทุนในการปรับพื้นที่นั้น ยังอยู่ระหว่างรอผลการศึกษาที่ชัดเจนอีกครั้ง ว่าจะต้องปรับพื้นที่เพื่อรองรับการจัดตั้งอุตสาหกรรมประเภทใด และต้องวางระบบสาธารณูปโภคอย่างไร แต่เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินไม่มากนัก เนื่องจากเป็นพื้นที่ของบริษัท 100% ซึ่งงานหลักที่ต้องดำเนินการเป็นการปรับพื้นที่ ทำถนน สร้างบ่อน้ำ และมองถึงการจัดสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อป้อนให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งก็มองไปที่การผลิตไฟฟ้านวัตกรรมใหม่ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย และก็ต้องปรับให้เข้ากับแผนงานอีอีซีของภาครัฐ
รวมทั้งขณะนี้กำลังศึกษาแผนการตลาด คาดว่า จะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2563 และจะต้องนำเสนอคณะกรรมการบริษัทฯ พิจารณา โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในรายละเอียดแผนการลงทุนเพิ่มมากขึ้น
ส่วนงบประมาณลงทุนในโครงการนี้คงจะต้องเพิ่มเข้าไปในงบลงทุนของบริษัทในปี 2564 ขณะเดียวกัน เบื้องต้นมีแนวคิดที่จะไม่ปิดกั้นการหาพันธมิตรร่วมลงทุน แต่ก็จะต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ก่อนว่าจะมีการเปิดกว้างอย่างไร
“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศ น่าจะเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนจัดตั้งนิคมฯเอ็กโก เพราะเท่าที่ติดตามข้อมูล พบว่า อุตสาหกรรมบางประเภทที่มีซัพพลายอยู่ในประเทศจีนเป็นหลัก เมื่อเกิดโควิด-19 ก็ทำให้เกิดดิสรัป และจะเห็นว่าบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น มีการให้สิทธิประโยชน์สำหรับย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปยังประเทศในอาเซียน เป็นต้น ซึ่งก็อาจจะเป็นโอกาสสำหรับ เอ็กโก กรุ๊ป ได้ในอนาคตได้”
นิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง จะเป็นพื้นที่ใหม่ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าอุตสาหกรรม เพราะมีจุดเด่นเชิงพื้นที่ ลูกค้าจะได้รับสิทธิประโยชน์การลงทุนในอีอีซี รวมทั้งมีระบบสาธารณูปโภคพร้อมน้ำ อยู่ใกล้กับอีสท์วอเตอร์ มีระบบไฟฟ้า มีระบบร่างของภาครัฐ และใกล้สนามบินอู่ตะเภาที่จะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินในอนาคต ซึ่งมีความเหมาะที่จะเป็นพื้นที่ฐานอุตสาหกรรมระยะยาว และรองรับการลงทุนตามนโยบายของภาครัฐที่ต้องการจะส่งเสริม New S-Curve เช่น อุตสาหกรรมการบิน และหุ่นยนต์
ทั้งนี้ การนำพื้นที่โรงไฟฟ้าเก่า 500 ไร่ ไปพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ในอีอีซี โดยมีผังเมืองเป็นสีม่วง หากนำไปทำเป็นพื้นที่เกษตรกรรมก็จะเสียมูลค่า และในจ.ระยอง ส่วนใหญ่จำกัดเป็นพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรม และง่ายต่อการดูแลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
โครงการนี้จะเป็นอีกส่วนสำคัญที่สร้างรายได้ในอนาคตที่ยั่งยืนให้กับบริษัท ตอบแทนผู้ถือหุ้น รวมถึงการนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ เช่น แบตเตอรี่ ซึ่งหากมีพันธมิตรที่ดีก็อาจเข้าไปร่วมลงทุนได้ด้วย
สำหรับการรื้อถอนโรงไฟฟ้าในพื้นที่ปัจจุบัน ถือเป็นรายละเอียดส่วนหนึ่งในการจัดทำ EIA ดังกล่าว ที่ยังต้องรอการอนุมัติจาก สผ.ก่อน จากนั้นจึงจะเข้าสู่กระบวนการเปิดประมูลหาผู้รับเหมาเพื่อทำการรื้อถอนออกไป ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าเก่าไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้แล้ว