สายการบินยัง ‘โคม่า’ ยื้อเวลาจากวิกฤติท่องเที่ยว
ความยากลำบากการดำเนินธุรกิจของสายการบินค่อนข้างชัดเจนว่าอาจจะต้องประคองธุรกิจ (ด้วยตัวเอง) อย่างต่ำไม่น้อยกว่า 1 ปี สถานการณ์นักลงท่องเที่ยวต่างชาติจะเริ่มดีขึ้น และจะกลับมาอยู่ในภาวะปกติคือในปี 2565
จากรายงานว่าเศรษฐกิจไทยเดือนมิ.ย. 2563 ของธนาคารแห่งประเทศไทย ยังตอกย้ำถึงภาพรวมอุตสาหกรรมที่ยังทรงกับทรุด จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 100 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาติดต่อกันนานสามเดือน
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นศูนย์ยังมีแนวโน้มาดว่าจะลดลง 100% ได้อีกในไตรมาส 3 ปี 2563 และมีแนวโน้มจะลดลง 100% ต่อไปจนถึงสิ้นปีเนื่องจากมีการระบาดรอบสองของ โควิด -19 ในหลายประเทศ
ดังนั้นหากสายการบินไหนประเมินสภาพคล่องของตัวเองไม่ไหวหรือมีแนวโน้มรายได้ลดลงต่อเนื่องกว่าที่คาดการณ์ไว้ อาจจะหาทางออกด้วยการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อตัดปัญหาหนี้สินที่รุมเร้าอย่างหนัก
การดำเนินเข้าสู่แผนล้มละลายในธุรกิจสายการบินของไทยนั้น มีทั้งจำยอมเข้าสู่แผนด้วยภาวะบีบคั้นอย่างหนัก อย่างกรณีของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ ภาครัฐ เคาะแผนฟื้นฟูด้วยลูดค้าหนี้ที่มีสูงถึง 2.4 แสนล้านบาทเมื่อ วันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา
กระบวนการมีการประชุมขอมติผู้ถือหุ้นเพื่อเข้าสู่การยื่นแผนต่อศาลให้พิจาณาในวันที่ 17 ส.ค. นี้ และตามขั้นตอนน่าจะจัดการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูฯได้ในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. 2564
จากนั้นก็คาดว่าปลายเดือน เม.ย. -ต้นเดือน พ.ค.64 ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการพร้อมแต่งตั้งผู้บริหารแผน และในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูให้แล้วเสร็จใน 5 ปีและต่ออายุได้ครั้งละ 1 ปี 2 ครั้งรวมแล้วไม่เกิน 7 ปี
ขณะที่บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เป็นรายล่าสุดที่เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ แบบรวดเร็วทันใจนักลงทุนจากสัญญาณธุรกิจที่ไม่ดีก่อนหน้าโควิด-19 ทำให้มติของคณะกรรมการเห็นชอบพร้อมยื่นต่อศาลทันทีในวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งศาลจะกำหนดนัดไต่สวนคำร้องฟื้นฟูกิจการ 27 ต.ค. นี้
ทั้งสองบริษัทเผชิญฐานะการเงินที่มีสินทรัพย์น้อยกว่าหนี้สินตั้งแต่งบสิ้นปี 2562 โดยการบินไทยมีสินทรัพย์ 256,665 ล้านบาท มีหนี้สิ้น 244,899 ล้านบาท ส่วนนกแอร์ มีสินทรัพย์ 15,170 ล้านบาท และหนี้สิน 18,639 ล้านบาท
หลังจากทั้งสองบริษัทตัดสินใจเข้าสู่บวนการฟื้นฟูกิจการไปแล้ว ทำให้มีการจับตามองว่าอีก 2 บริษัทจะเดินรอยตามด้วยหรือไหม ทั้ง บริษัท ไทยแอร์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ AAV และ บริษัท บางกอกแอร์เวย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BA
หากประเมินจากฐานะการเงินของทั้ง 2 บริษัทดังกล่าวยังถือว่าสามารถประคองตัวเองฝ่าวิกฤติในช่วงนี้ไปได้ แต่จะนานแค่ไหนต้องขึ้นกับมาตรการของภาครัฐหากมีการระบาดของไวรัสโควิด -19 รอบ 2 หลังจากในต่างประเทศในประเทศในอาเซียนด้วยกันมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่กลับมาพุ่งสูงขึ้น
ประเด็นดังกล่าวทำให้มีการพูดถึงเม็ดเงินชอฟโลน ที่ 8 สายการบิน ได้ยื่นขอกับภาครัฐเพื่อใช้ในการพยุงธุรกิจตั้งแต่เดือนมี.ค. ที่ผ่านมา แต่ยังไร้สัญญาณตอบรักจากภาครัฐ บรรดาผู้ประกอบการที่เหลือจำเป็นต้องเอาตัวให้รอดในสถานการณ์ที่รู้อยู่แล้วต้องขาดทุนตลอดทั้งปี 2563
แม้ว่าจะพยายามลดต้นทุนไม่ว่าจะเป็นการปรับลดเงินเดือนผู้บริหาร ลดพนักงานในส่วนที่ไม่จำเป็น โครงการเกษียณก่อนอายุงาน ลดต้นทุน ตัดงบลงทุนลง พยายามหารายได้ช่องทางใหม่ ๆ ยังไม่เพียงพอ
ด้วยปัจจุบันจำเป็นต้องจำกัดเที่ยวบินและไม่สามารถบินได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มีการจอดเครื่องบินทิ้งไม่สามารถหารายได้ ทำให้ต้นทุนสูงกว่าค่าใช้จ่าย กลายเป็นเปิดทำการบินแต่ไม่คุ้มกับต้นทุน ซึ่งทำให้ภาพของหุ้นในกลุ่มนี้จึงถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่กระทบหนักและน่าจะฟื้นได้เป็นกลุ่มสุดท้ายในภาคท่องเที่ยวเลยทีเดียว