‘100 CEO' จี้ ครม.ใหม่สกัดเศรษฐกิจทรุด หวั่นโควิดระลอก 2 ฉุดประเทศ

‘100 CEO' จี้ ครม.ใหม่สกัดเศรษฐกิจทรุด หวั่นโควิดระลอก 2 ฉุดประเทศ

“100 ซีอีโอ” ผวาเศรษฐกิจโลก-โควิดระลอก 2 ฉุดเศรษฐกิจ 5 เดือนสุดท้าย 71% อยากให้ ครม.ชุดใหม่มีมาตรการระยะสั้น-ยาว ส่วนเกือบครึ่งเชื่อมั่นทีมเศรษฐกิจใหม่ต้องเริ่มงานได้ทันที เร่งดันสภาพคล่อง กำลังซื้อ ฟื้นท่องเที่ยว ประเทศแนะอุ้มตกงานช่วยผู้ประกอบการ

“กรุงเทพธุรกิจ” สำรวจความคิดเห็น 100 ซีอีโอองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หลากหลายกลุ่ม เช่น ภาคการผลิต เกษตร พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ส่งออก การเงิน ค้าปลีกและไอที ดิจิทัล ในหัวข้อ “ความคาดหวังของซีอีโอต่อการปรับคณะรัฐมนตรี” โดยเฉพาะในกระทรวงเศรษฐกิจที่มีความสำคัญขับเคลื่อนประเทศ ภารกิจเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข ขับเคลื่อนประเทศท่ามกลาง มรสุมเศรษฐกิจ และความกังวลต่อการระบาดรอบสองของโควิด-19 

จากผลสำรวจ พบว่า 100 ซีอีโอ เกือบ 80% คาดหวังว่า ครม.เศรษฐกิจชุดใหม่ ต้องเริ่มงานได้ทันที เข้าใจโครงสร้างระบบเศรษฐกิจไทย และต่างประเทศอย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้ ต้องเข้าใจการลงทุนของภาคเอกชน สามารถทำงานร่วมกับภาคเอกชนได้ ต้องมีประสบการณ์ ได้การยอมรับจากในทุกภาคส่วน

  • 45.5% เชื่อมั่นทีมเศรษฐกิจ

เมื่อถามว่า หากให้นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคุมทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ ซีอีโอส่วนใหญ่เห็นว่า อาจไม่เหมาะสม โดยเสนอว่าควรหาทีมที่แข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจ เป็นมืออาชีพมาช่วยคิด และทำงานอย่างสอดประสาน จะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม ซีอีโอ สัดส่วน 45.5% คาดหวังว่าการปรับ ครม. โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจ จะช่วยให้ภาพรวมการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดีขึ้น ขณะที่ 38.4% มองว่า เหมือนเดิม

  • เร่งอัดมาตรการพยุงสถานการณ์

ขณะที่ภารกิจเร่งด่วนที่ ครม.ชุดใหม่ต้องรีบดำเนินการทันที พบว่าซีอีโอมากกว่า 71% อยากให้ ครม.ชุดใหม่มีมาตรการระยะสั้น ระยะยาว ขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจหยุดชะงักกลางทางหากเกิดตัวแปรที่ไม่สามารถควบคุมได้ 

พร้อมทั้งต้องอัดฉีดสภาพคล่อง เร่งกระตุ้นการบริโภค กำลังซื้อภายในประเทศ ฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของไทย สร้างความเชื่อมั่นในประเทศ และต่างประเทศให้สูงขึ้น ที่สำคัญ ซีอีโอยังมองว่า การเร่งรัดการใช้งบประมาณแต่ละกระทรวงยังจำเป็น ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

นอกจากนี้ยังมีความเห็นอื่นๆ อาทิ ต้องการให้ ครม.ชุดใหม่ มีความชัดเจนในโครงการสำคัญของประเทศ เพื่อให้นักลงทุนมั่นใจถึงความต่อเนื่องในระบบเศรษฐกิจ เช่น โครงการอีอีซี  การแสดงจุดยืนในความเป็นอิสระจากการเมือง การสร้างระบบ cross KPI ระหว่างกระทรวงสำคัญ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม เป็นต้น 

  • หวั่นเศรษฐกิจโลกทรุด-โควิดระลอก 2

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า ตัวแปรที่ “สำคัญที่สุด” ในการผลักดันเศรษฐกิจไทย และอาจจะกระทบต่อธุรกิจในช่วง 5 เดือนสุดท้ายของปีนี้ (ส.ค.-ธ.ค.2563) พบว่า ซีอีโอกว่า 57.6% มองตัวแปรในเรื่องของการฟื้นตัว หรือทรุดตัวของเศรษฐกิจโลก เป็นอันดับแรก

ขณะที่ 56.6% กังวลเรื่องการระบาดต่อเนื่อง หรือคลี่คลายของโควิดในต่างประเทศ และกว่า 50% ระบุว่าตัวแปรสำคัญ คือ การระบาดระลอกสองของโควิดในไทย ด้านโฉมหน้า ครม.ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซีอีโอกว่า 33.3% ยังมองว่าเป็นตัวแปรสำคัญเช่นกัน เช่นเดียวกับความวุ่นวายในการปรับ ครม.

  

  • จี้หาทางรับมือโควิดระลอก 2 

ขณะที่ความกังวลการระบาดรอบสองของโรคโควิด-19 ซีอีโอมากกว่า 77.8% มองว่า รัฐบาลควรมีแผนรับมือการระบาดระลอก 2 ด้วยการสร้างความร่วมมือภาคเอกชน หนุนมาตรการป้องกันตามแหล่งท่องเที่ยว ที่สาธารณะ ห้างสรรพสินค้า และร้านอาหาร  พร้อมเร่งวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด เป็นต้น

  • ประเมินจีดีพีทั้งปีติดลบ 10%

ทั้งนี้ซีอีโอส่วนใหญ่เกือบ 50% ประเมินด้วยว่า ธุรกิจไทยในช่วง 5 เดือนสุดท้ายของปีนี้ (ส.ค.-ธ.ค.2563) น่าจะ "แย่ลง" หากโควิด-19 ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ขณะที่ซีอีโอมากกว่าครึ่ง เชื่อว่าปีนี้ทั้งปีจีดีพีไทยมีโอกาสติดลบ 10% 

อย่างไรก็ตาม มีความเห็นที่หลากหลายของของซีอีโอที่มองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจช่วง 5 เดือนสุดท้าย “แย่ลง” เช่น โควิด-19 ยังอยู่ ขณะที่การแข่งขันทางการค้าสูงขึ้น ไทยไม่มี Story ใหม่ๆ ในการพัฒนาประเทศ ความลังเลในการลงทุน หรือใช้จ่ายเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาประชาชนมีความชะงักงันการจับจ่ายใช้สอย

นอกจากนี้ ไทยยังต้องพึ่งพาการท่องเที่ยว และสภาพเศรษฐกิจโลก ซึ่งการค้าระหว่างประเทศชะลอลงมากกว่าที่คาดการณ์ คนส่วนใหญ่ระวังการบริโภค หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น กระทบต่อกำลังซื้อและความเชื่อมั่น ส่งผลต่อภาคท่องเที่ยวและบริการซึ่งมีส่วนต่อจีดีพีค่อนข้างสูง ภาคธุรกิจปิดตัวลงมากขึ้น คนว่างานมากขึ้น

ขณะที่สภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมอาจส่งผลให้เกิด domino effect ต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งไม่มีตัวชี้วัดว่าจะมีอะไรมากระตุ้นเศรษฐกิจ ยกเว้นมีทีมและนโยบายเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพจริงๆ ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้มองว่า การคลายล็อกดาวน์ช่วยเศรษฐกิจในประเทศได้จำกัด ความเสี่ยงของประเทศคู่ค้าที่ยังมีภาวะระบาดหรือควบคุมได้ จะเป็นความเสี่ยงถึงความสำเร็จมากน้อยของการทำเรื่องเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว และที่สำคัญ ไทยยังมีความเปราะบางทางการเมืองเข้ามาเป็นปัจจัยกระตุ้นในทางลบ

  • ครึ่งๆ “หนุน-ค้าน” คง พรก.ฉุกเฉิน

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึง พรก.ฉุกเฉิน ว่ายังจำเป็นหรือไม่จำเป็น พบว่ามีสัดส่วนเท่ากันคือ 49% ระบุว่า ยังจำเป็น ขณะอีก 49% ระบุว่าไม่จำเป็น โดยมีความเห็นอื่นๆ ที่บอกว่า พรก.ฉุกเฉิน สามารถยกเลิกได้ แต่การ์ดต้องอย่าตก และคงมาตรการทางสาธารณสุขที่เข้มข้นต่อไป

ทั้งนี้ ซีอีโอ กว่า 50% ระบุ พรก.ฉุกเฉินส่งผลกระทบต่อธุรกิจน้อย มีเพียงแค่ 14% เท่านั้นที่บอกว่า กระทบมาก 

การสำรวจครั้งนี้ มีซีอีโอในภาคธุรกิจต่างๆ ทั้งหมด 100 คน ร่วมตอบแบบสอบถามดังกล่าว ประกอบด้วย กลุ่มการเงิน 21.4% กลุ่มพลังงาน 17.3% การผลิต 16.3% กลุ่มไอที โทรคม ดิจิทัล 16.3%  ท่องเที่ยว 15.3% รองลงมาอยู่ในกลุ่ม ส่งออก อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ อุปโภคบริโภค ค้าปลีก การเกษตร มีเดีย ฯลฯ

  • “หอฯต่างชาติ” เชื่อมั่นทีม ศก.ใหม่

นายสแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) กล่าวว่า นักธุรกิจต่างชาติในไทยกำลังรอดูรายชื่อรัฐมนตรีใหม่ และแนวทางการทำงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งรายชื่อที่ปรากฏในขณะนี้ถือว่าดีเป็นที่ยอมรับ เช่น นายปรีดี ดาวฉาย อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย ซึ่งคลุกคลีงานด้านการเงินและการธนาคารมามาก

โดยเห็นว่า ทีมเศรษฐกิจต้องมีนโยบายฟื้นเศรษฐกิจในประเทศ เพราะไทยพึ่งการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จึงเป็นโจทย์ของทีมเศรษฐกิจใหม่ที่จะมีมาตรการอะไรออกมาฟื้นฟูและกระตุ้นภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวให้กลับมา

  • เร่งการสร้างงาน “พยุงตกงาน”

“เศรษฐกิจจากนี้ไปคงไม่เป็นปกติเหมือนปี 2562 ซึ่งทีมเศรษฐกิจควรมีนโยบายใหม่มากระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ เช่น ต้องให้เกิดการสร้างงานเพราะจากนี้ไปคนจะตกงานเพิ่มขึ้น คนเรียนจบใหม่ไม่มีงานทำ มาตรการช่วยเหลือบริษัทไม่ไห้ต้องปิดกิจการลง”

ทั้งนี้ หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทยได้สำรวจนักธุรกิจเห็นตรงกันว่าไทยน่าลงทุนแต่ต้องแก้ปัจจัยที่เป็นอุปสรรค เช่น ค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าประเทศเพื่อนบ้านที่กระทบการส่งออก ซึ่งขณะนี้มีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่แล้ว และนักธุรกิจต่างประเทศในไทยจะติดตามนโยบายนี้

   

ส่วนนโยบายระยะยาวรัฐบาลควรพิจารณาทำข้อตกลงการค้าเสรีในกรอบใหม่ เพื่อให้ไทยเปิดตลาดสินค้าและการลงทุนมากขึ้นโดยภาครัฐไม่ควรมองเฉพาะการรักษาตลาดเก่า แต่ต้องมองหาตลาดใหม่ทั่วโลกรวมทั้งรัฐบาลควรผ่อนปรนเงื่อนที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในไทยหรือกฎหมายที่ล้าสมัย รวมถึงควรพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะเพิ่มขึ้น

  • เจโทรแนะเร่งดันเมกะโปรเจค

นายอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ กล่าวว่า ไม่ว่าบุคคลใดจะเข้าร่วมทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย อยากให้ยังคงรับฟังความเห็นจากบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจในไทยต่อไป

โดยรายงานที่หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ได้สำรวจแนวโน้มเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในไทยล่าสุดเมื่อเดือน มิ.ย.พบว่า ค่าดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกของปี 2563 ต่ำสุดในรอบ 35 ปี

สิ่งที่บริษัทญี่ปุ่นในไทยให้ความสนใจและต้องการให้รัฐบาลไทยดำเนินงานมากที่สุด ประกอบด้วยการส่งเสริมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสาธารณูปโภค สัดส่วน 57% ตามด้วยการดำเนินการตามมาตรการรองรับผลกระทบจากโควิด-19 สัดส่วน 42%

ขณะเดียวกัน บริษัทญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยแม้ว่าจะเผชิญกับโควิด-19 โดย บริษัทญี่ปุ่น 60% ที่ตอบแบบสอบถามเห็นว่าจะ “ประกอบกิจการต่อไป หรือขยายขนาดกิจการ” ส่วนหัวข้อการลงทุนในสินค้าทุนในอนาคต บริษัทญี่ปุ่นที่ตอบแบบสอบถาม 57% เห็นว่า “จะคงสภาวะปัจจุบัน” และอีก 14% ตอบว่า “จะขยายการลงทุน”

  • ระบุต้อง “แก้ปัญหาปากท้อง”

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากมองภาพรวมทีมเศรษฐกิจ ที่ปรากฏชื่อในขณะนี้ถือว่าดี โดยเชื่อว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจและนักลงทุน เพราะทำงานอยู่ในแวดวงเดียวกันมีผลงานเป็นที่น่าเชื่อถือ เพราะเป็นทั้งนักปฏิบัติและนักวิชาการ

โดยตำแหน่งสำคัญทางเศรษกิจ 2 ตำแหน่ง คือนายปรีดี ดาวฉาย มีชื่อเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเคยเป็นประธานสมาคมธนาคารไทยมาก่อน จึงได้ทำงานคุ้นเคยกันในคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)

“นายปรีดีมีทั้งบู๊และบุ๋น มีความรู้ความสามารถในด้านการเงินเพราะเป็นนายแบงก์มาก่อน น่าจะทำงานร่วมกันได้ดีกับผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ ซึ่งเป็นทิศทางที่ดีเกี่ยวกับนโยบายด้านการเงินและการคลัง”

ส่วน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ที่มีชื่อเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นบุคคลที่คลุกคลีวงการพลังงานอยู่แล้วน่าจะทำงานในตำแหน่งนี้ได้จึงไม่น่าจะมีปัญหา

ในขณะที่นโยบายเร่งด่วนที่ต้องเร่งคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะเห็นแล้วว่าเศรษฐกิจถูกกระทบไปทั่วโลกโดยนโยบายที่ต้องทำ อันดับแรกคือการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เน้นแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชนเพราะมีแนวโน้มการตกงานเพิ่มขึ้น รวมถึงการช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยเฉพาะเงินกู้ซอฟต์โลน