วุ่นไม่เลิก! ถก 'เรียงช่อง' ไร้ข้อยุติ
วุ่นไม่เลิก! ถก “เรียงช่อง” ทีวีดิจิทัล ดาวเทียม เคเบิล ต่างอ้างความเสียหาย ยังไร้ข้อยุติ ผู้ประกอบการย้ำต้องเลขช่องเดิม
กลายเป็นประเด็นร้อนที่ส่อเค้าสร้างความปั่นป่วนให้ผู้ชมทีวีและอุตสาหกรรม สืบเนื่องจากกรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาประกาศ “เรียงช่อง” ปี 2558 ของ กสทช. ในโครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี เป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฏหมาย ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ชั้นอุทธรณ์ ซึ่งจะนัดไต่สวนในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ หากคำพิพากษาศาลปกครองกลางสูงสุดยืนตามศาลชั้นต้น จะส่งผลให้ลำดับช่องของดิจิตอลทีวีในโครงข่ายทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวีเกิดความอลหม่านอีกครั้งทันที
แม้คู่คดีฟ้องร้องศาลปกครอง คือ กสทช. กับโครงข่ายทีวีดาวเทียม,เคเบิลทีวี แต่ฝ่ายที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ คือช่องทีวีดิจิทัล หมายเลขช่องที่ประมูลมาไร้ความหมาย ส่งผลกระทบสร้างความสับสนต่อผู้ชมจนหาช่องไม่เจอ และอาจมีการฟ้องร้องกันไปมาไม่จบเป็นมหากาพย์
เมื่อบ่ายวานนี้ 4 สิงหาคม ในประชุมกลุ่มย่อย (focus group) การกำหนดหมวดหมู่และจัดลำดับบริการโทรทัศน์ ครั้งที่ 2 ที่หอประชุม กสทช. จึงเกิดปรากฏการณ์แม่ทัพผู้บริหารช่องทีวีดิจิตอลทุกช่องรวมตัวแสดงพลังสนับสนุนแนวทางประกาศเรียงช่องฉบับใหม่ของ กสทช. นำทัพโดยสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมดิจิทัลทีวี, ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม GMM 25, ถกลเกียรติ วีรวรรณ One 31, สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ช่อง33, วัชร วัชรพล ไทยรัฐทีวี32, นวมินทร์ ประสพเนตร โมโน 29 เพื่อแก้ปัญหา “เดดล็อค” โดย ยึดประโยชน์ของสาธารณะมากกว่าการแสวงหาประโยชน์ของเอกชน โดยกสทช.เสนอออกประกาศเรียงช่องฉบับใหม่ ให้ทีวีดาวเทียม, เคเบิ้ลทีวี เรียงช่องแบบบอกรับสมาชิกในหมายเลข 1-10 ได้เอง แต่ห้ามเอาช่องทีวีดิจิทัลไปออกซ้ำ และต้องคงหมายเลขช่องทีวีดิจิตอล 11-36 ไว้ดังเดิมในทุกโครงข่าย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันที่ทีวีดิจิทัลต้องจ่ายค่าประมูลในมูลค่าสูงลิบ
ช่องทีวีให้ความเห็นที่ประชุมในทิศทางเดียวกันว่า ทีวีดิจิทัลเป็นสื่อหลักของชาติ มีความสำคัญต่อสังคมและความมั่นคงของชาติ ที่ต้องทำให้ผู้ชมเข้าถึงง่ายที่สุด หมายเลขช่องที่ได้มาก็เกิดจากเงื่อนไขการประมูล การมีประกาศ “เรียงช่อง” ก็เพื่อมาช่วยแก้ปัญหาคนดูหาช่องไม่เจอ เพราะเลขช่อง ในโครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีไม่ตรงกับเลขที่ประมูลได้ ซึ่งเคยเกิดขึ้นเมื่อ 5 ปี ที่แล้ว กว่าจะสร้างการจดจำหมายเลขช่องให้ผู้ชมได้ต้องใช้เวลาและเงินทุนมหาศาล หากเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกย่อมผลกระทบต่อผู้ชมและความเสียหายต่อผู้ประกอบการแน่นอน
แนวคิดและข้อเสนอของ กสทช. ในการยกหมายเลข 1-10 ให้โครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีเพื่อยุติปัญหานี้ ดูเหมือนจะเป็นทางออกที่ประนีประนอม แต่ในที่ประชุมก็ยังมีการถกเถียงแสดงความเห็นอ้างสิทธิ์และความเสียหายของผลประโยชน์แต่ละฝ่าย โดยเฉพาะประเด็นการห้ามประเภทรายการคู่แข่งของช่องทีวีดิจิทัลออกอากาศในหมายเลขดังกล่าว เพราะถือเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมกับช่องทีวีดิจิทัลที่จ่ายเม็ดเงินในการประมูลมา ในขณะที่โครงข่ายต้องการจัดเรียงโดยอิสระ
กลุ่มช่องทีวียังชี้ประเด็นอีกว่า การเข้ามาประมูลช่องดิจิทัลทีวี เพราะประกาศ must carry ที่ กสทช. ให้ความมั่นใจว่าจะให้ทุกโครงข่ายนำช่องทีวีดิจิทัลไปออกอากาศระหว่างการขยายพื้นที่ออกอากาศทีวีภาคพื้นดิน พร้อมออก
ประกาศ “เรียงช่อง” ตามหมายเลขที่ได้จากการประมูล และย้ำว่าทั้งสองประกาศนี้ทั้ง must carry และ เรียงช่อง เป็นเรื่องเดียวกัน มีความหมายสำคัญอย่างยิ่งต่อธุรกิจดิจิทัลทีวีและการเข้าถึงของผู้ชม และเมื่อการเปลี่ยนผ่านการรับชมทีวีภาคพื้นดินของทีวีดิจิทัลไม่เป็นไปตามแผนของ กสทช. ประกาศทั้งสองฉบับนี้ยิ่งต้องคงไว้คู่กันตลอดอายุใบอนุญาต เพราะหากไม่มีประกาศสองฉบับนี้ผู้ประกอบการจะไม่เข้าประมูลช่องดิจิทัลทีวีแน่นอน
ประเด็นที่น่าสนใจจากวงประชุม คือการยิงคำถามว่า โครงข่ายทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวีเกิดความเสียหายอย่างไรจากประกาศเรียงช่อง จึงเป็นเหตุให้เกิดการฟ้องร้องครั้งนี้ ในเมื่อโครงข่ายก็ได้ประโยชน์จากการมีช่องรายการจากทีวีดิจิทัลที่แข่งขันกันด้วยคุณภาพ ช่วยสร้างมูลค่าให้โครงข่ายด้วยซ้ำ และเทคโนโลยีระบบดิจิทัลในปัจจุบันก็ทำให้โครงข่ายทั้งทีวีดาวเทียมและเคเบิลสามารถมีช่องรายการได้อย่างไม่จำกัด หรือแม้แต่การส่งสัญญานดาวเทียมตามกฏ must carry ช่องทีวีดิจิตอลก็เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง โครงข่ายมีวิธีที่สามารถใช้เทคโนโลยีดึงสัญญานมาออกอากาศได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเช่าช่องสัญญานดาวเทียม (transponder) แต่อย่างใด การเรียงช่องตามประกาศฉบับปัจจุบันจึงไม่มีใครเป็นผู้เสียประโยชน์ แต่การยกเลิกประกาศเรียงช่องต่างหากที่จะเปิดให้มีการแสวงหาผลประโยชน์จากความเดือดร้อนของทีวีดิจิทัลและสาธารณะ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การหาทางออกของปัญหานี้ มีแนวโน้มยังไม่จบง่ายๆ เพราะในฝั่งของคู่กรณี ตัวแทนโครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิล แสดงความเห็นยืนกรานเดินหน้าฟ้อง ประกาศเรียงช่อง รวมไปถึง must carry แม้ กสทช. เสนอทางออก ยกช่อง 1-10 ให้สามารถจัดเรียงช่องบอกรับสมาชิกเองแล้วก็ตาม และโครงข่ายยังต้องการเข้าไปจัดเรียงช่องในพื้นที่ประมูลของช่องที่คืนใบอนุญาตที่ว่างลงเพิ่มเติมนอกเหนือจาก 1-10 อีกด้วย และไม่เห็นด้วยที่ กสทช. จะเร่งออกประกาศเรียงช่องฉบับใหม่ ต้องการให้รอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดก่อน
ซึ่งหากสถานการณ์เดินไปถึงจุดนั้น และศาลพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จะเกิดความเสียหายในฝั่งของทีวีดิจิทัลที่กระทบต่ออุตสาหกรรมหากนับไปจนจบอายุใบอนุญาตมูลค่าโฆษณาถึงแสนล้าน แม้ว่าจะมีการหยิบยกประเด็นเรื่องการยกช่อง 1-10 ขึ้นมาเป็นข้อพิจารณา แต่ความเสียหายจากฟากฝั่งทีวีดิจิทัลยังคงมีอยู่ และเป็นความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาในภายหลัง
และเมื่อเกิดความปั่นป่วนผู้ชมไม่สามารถรับชม หรือหาช่องทีวีดิจิทัลไม่เจอ ก็จะเป็นโอกาสของเทคโนโลยีการรับชมใหม่ทางออนไลน์อย่าง OTT ที่เติบโตพร้อมเทคโนโลยี 5 G แบบเบ็ดเสร็จ จะเกิดความเสียหายมหาศาลเกินกว่าจะเยียวยาได้ และอาจถึงจุดล่มสลายของทีวีดิจิทัล สื่อหลักของชาติในที่สุด ทีวีดิจิทัลก็ต้องเดินไปถึงจุดที่ต้องฟ้องร้อง กสทช. ต่อศาลปกครองอีกครั้งไม่จบสิ้นเช่นกัน
การแสดงความเห็นกลุ่มย่อยในครั้งนี้ กสทช. รับข้อเสนอและความเห็นของทุกฝ่าย และจะมีความคืบหน้าผลการพิจารณาเรื่องนี้ภายใน 1 สัปดาห์