อ่านเกมธุรกิจประคองตัว เมื่ออำนาจซื้อ “มังกร” วูบ!
“โควิด-19”เด็ดปีก พญามังกรไม่ให้ผงาด..!!
เมื่ออำนาจซื้อที่ทุกประเทศ รวมถึงไทย จ้องตาเป็นมัน ต้องหดหาย
การยืนระยะของผู้ประกอบการ เพื่อรอวัน “ผู้บริโภคจีน”
ช้อป ชิม ชิล ทั่วโลกอีกครั้ง ต้องทำอย่างไร
ฟังกูรูให้ทรรศนะ
หากจะกล่าวถึง “ผู้บริโภค” ที่ “เนื้อหอม” สุดในโลก นาทีนี้ คงหนีไม่พ้น “ประชากรจีน” เพราะแต่ละปีมี “เศรษฐีใหม่” เพิ่มขึ้นมหาศาล ชนชั้นกลางขยายตัวมากขึ้น
นั้นหมายถึง “อำนาจซื้อ” ที่อยู่ในระดับสูงตามไปด้วย !
อย่างไรก็ตาม หลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะถดถอย การฟื้นตัวยังเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่หนึ่งใน “โอกาส” ที่หลายประเทศมองเห็นคือการผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพี จำเป็นต้องกระตุ้นผ่าน “ภาคท่องเที่ยว” ครั้นจะงัดมาตรการจูงใจให้คนในชาติเที่ยวในประเทศตนเอง ฟันเฟืองดังกล่าวคงไม่เพียงพอในการขับเคลื่อนจีดีพี
ทำให้ “จีน” กลายเป็นตลาดที่ทุกชาติหมายปอง เพราะนอกจากประชากรจีนจะเดินทางทั่วโลกปีละหลัก “ร้อยล้านคน” แล้ว ทุกจุดหมายปลายทาง (Destination) ที่ไปเยือน จะ ชิม ช้อป ชิล ด้วยเม็ดเงินมหาศาล
หลายอย่างเหมือนจะเป็นไปในทิศทางบวก ทว่า ปีค.ศ. 2020 หรือ พ.ศ. 2563 กลับไม่ใช่ปีที่ราบรื่นหรือโรยด้วยกลีบกุหลาบ กลับกันช่างเป็นปีที่หนักหนาสาหัสสำหรับผู้คนทั้งโลก เพราะตั้งแต่ต้นปีจวบจนเดือนส.ค. “ข่าวร้าย” มีมากมายจนกลบ “ข่าวดี” ให้จมหายไป ยิ่งกว่านั้น ข่าวร้ายที่เกิดขึ้น ยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และบริบทโลกด้วย
หากมองมิติที่กระเทือนเศรษฐกิจ หรือที่เกี่ยวข้องกับ “ปากท้อง” ของผู้คน เหตุการณ์ใหญ่ๆ หนีไม่พ้น “สงครามการค้า” ระหว่าง “พญาอินทรี” หรือ สหรัฐ ฟาดฟันกับ “พญามังกร” หรือประเทศจีน
แน่นอนว่าศึกช้างสารชนกันหญ้าแพรกย่อมแหลกลาญ เพราะไม่ว่ามาตรการกีดกันทางการค้า มาตรการภาษีที่สหรัฐและจีนนำมาใช้ ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก การค้าขายของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความขัดแย้งของ 2 ขั้วมหาอำนาจยังไม่ทันจางหาย โลกต้องเผชิญกับ “มฤตยู” ที่มองไม่เห็น เพราะต้องรับมือกับ “โรคโควิด-19” ที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิต สุขภาพของประชาชน ส่วนเศรษฐกิจ ธุรกิจถูก “แช่แข็ง” จากการที่หลายประเทศงัดมาตรการ “ล็อกดาวน์” สกัดการแพร่ระบาดของโรค
พิษสงโควิด-19 ยังกวาดต้อนนักท่องเที่ยว ผู้คลั่งไคล้การเดินทางให้ “หยุดนิ่ง” ที่สุดแล้ว ทุบ!! อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และธุรกิจเกี่ยวเนื่องในห่วงโซ่ (Supply chain) ต้องล้มทั้งกระดาน ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท สายการบิน ไกด์นำเที่ยว ร้านอาหาร โชว์ต่างๆ ที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยว เจ๊ง!! ระเนระนาด ยิ่งผู้ประกอบการสินค้าและบริการใดที่ผูกปิ่นโตตลาด “จีน” บาดเจ็บสาหัส
20 ปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวเติบโตก้าวกระโดดมาก เดิมผู้คนเดินทาง 630 ล้านคนทั่วโลก แต่ปีก่อนแตะระดับ 1,500 ล้านคนทั่วโลก ส่วนไทยปี 2542 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนราว 8.5 ล้านคน ปีก่อนเกือบแตะ 40 ล้านคน เฉพาะมาเที่ยวมหานครอย่าง “กรุงเทพฯ” มากถึง 23 ล้านคน และ “อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” กลายเป็น “เครื่องยนต์” ขับเคลื่อนจีดีพีสัดส่วนสูงถึง 18% และนักท่องเที่ยวจีนมาไทยร่วม 10 ล้านคน เมื่อโควิดกวาดต้อนทุกคนกลับประเทศ ธุรกิจจะยืนระยะอย่างไรระหว่าง “รอ” พญามังกรกลับมาโบยบินทั่วโลกอีกครั้ง
++รู้จักนักท่องเที่ยวจีน “5 New Normal”
กูรูเศรษฐกิจ การตลาดต่างฟันธงว่า “พฤติกรรมผู้บริโภค” หลังโลกโควิดจะไม่เหมือนเดิม แต่จะเกิดวิถีชีวิตปกติใหม่หรือ New Normal โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพจะมีบทบาทมากขึ้น เช่นกัน “นักท่องเที่ยวจีน” ที่จะเดินทางมาเยือนจุดหมายปลายทางไทยย่อมเปลี่ยนแปลงไป โดย สันติ แสวงเจริญ รองผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ฉายภาพชาวจีนที่เดินทางออกไปท่องเที่ยวทั่วโลกตั้งแต่ปี 2559-2562 เติบโตต่อเนื่อง โดยปี 2559 จำนวน 122 ล้านคน เติบโต 4.3% ปี 2560 จำนวน 130 ล้านคน เติบโต 4.3% ปี 2561 จำนวน 149 ล้านคน เติบโต 14.7% และปี 2562 จำนวน 169 ล้านคน เติบโต 13.4%
อดีตนักท่องเที่ยวจีนมักเดินทางไปเป็นกรุ๊ป ภาพติดตาที่หลายคนจำได้คือไกด์จะถือเสาธงบ้าง เสาตุ๊กตาบ้าง และล้วนเป็นผู้สูงวัย ซื้อทัวร์จากประเทศตนเองในราคาต่ำหรือทัวร์ศูนย์เหรียญ แม้ภาพดังกล่าวจะเลือนรางหายไปมาก นักท่องเที่ยวอิสระ (FIT) นักท่องเที่ยวคุณภาพ เปย์ไม่อั้นมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น แต่โลกโควิด นักท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปอย่างมาก
หากชำแหละนักท่องเที่ยวแดนมังกร 5 New Normal จะเห็นภาพใหม่ ดังนี้ 1.Nothing will be the same จากนี้ไปจะไม่มีอะไรเหมือนเดิม โดยเฉพาะเมื่อเดินทางการตรวจวัดอุณหภูมิ การใส่หน้ากาก การใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ การนั่งรับประทานอาหารในร้านต้องมีการเว้นระยะห่าง เหล่านี้จะต้องให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด
2.Only the strong travel บรรดานักท่องเดินทางท่องเที่ยวจะเป็นกลุ่มคนสุขภาพดี คนหนุ่มสาว วัยทำงานที่สุขภาพแข็งแรงจะมีบทบาทมากขึ้น ขณะที่กลุ่มเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นคนสูงวัย เด็ก อาจพบเห็นน้อยลง เพราะพ่อแม่คงไม่ต้องการพาคนในครอบครัวไปเสี่ยงกับโรค
3.Eeverything under control เป็นคนที่ควบคุมได้ทุกอย่างสำคัญมาก หากคุมไม่ได้ คงไม่สามารถไปไหนได้ 4.Life individual วันนี้นักเดินทางฉายเดี่ยว อิสระ มีมากขึ้น การเที่ยวเป็นกลุ่ม ถือธงเดินตามกันจำนวนมากแบบในอดีตจะลดลง
“แนวโน้มของโลกล้วนเป็นนักเดินทาง FIT เพราะมีสัดส่วนมากกว่า 50% แล้ว ขณะที่จีนเป็นตลาดนักท่องเที่ยวใหญ่ 1,400 ล้านคน กลุ่มคนที่มาเที่ยวครั้งแรกมีจำนวนมาก นักท่องเที่ยวอิสระอาจขยับช้ากว่าเทรนด์โลกเล็กน้อย”
พฤติกรรมที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยวอิสระชาวจีน ไม่ว่าจะไปเยือนประเทศใด นอกจากชิมแล้ว “ชอปปิง” เก่งไม่ต่างจากคนไทย และถือเป็นกิจกรรมหลัก (Priority) 1 ใน 3 สิ่งที่ขาดไม่ได้ด้วย
New Normal สุดท้าย 5.Digital future is now ดิจิทัลสำหรับชาวจีนไม่ใช่เรื่องที่ต้องรอเห็นภาพในอนาคตอีกต่อไป เพราะปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูล จองตั๋วเครื่องบิน ชอปปิง ใช้จ่ายเงินล้วนผ่าน “ดิจิทัล” ทั้งสิ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่จะจับกลุ่มเป้าหมายจีน จึงต้องโฟกัสแพลตฟอร์มดิจิทัลรองรับลูกค้า
“วันนี้ไม่มีดิจิทัลไปไหนไม่ได้แล้ว”
นอกจากนี้ พฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปหลังโควิด เที่ยวคนเดียวมาก เน้นเส้นทางบินระยะสั้น (Short-hual travel) ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น เจาะลึกท่องเที่ยวในที่ๆ อยากไปตามพื้นถิ่น และเที่ยวตามงบประมาณ
ส่วนแผนรักษานักท่องเที่ยวจีนให้ยังมองไทยเป็นจุดหมายปลายทางต้องมาเยือน ททท.มุ่งปรับภาพลักษณ์ใหม่ (Rebranding) สร้างความมั่นใจเมื่อเดินทางมาเที่ยวไทยแล้วปลอดภัย ด้านสาธารณสุขของไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก มุ่งสร้างการเป็นประเทศในใจ (Top of mind) ของนักเดินทาง เพราะเวลานี้ “คู่แข่ง” ที่ท้าชิงไทยมีมาก ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ที่โดดลงสนามการท่องเที่ยวเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เวียดนาม มาเลเซีย เป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging market) ที่มีบทบาทมากขึ้น โดยการทำตลาดจะใช้ผู้นำทางความคิด (KOL) บล็อกเกอร์ สื่อสารการตลาดผ่านสื่อออนไลน์ของจีนเพื่อไม่ให้กระแสประเทศไทยจางหาย
นอกจากนี้ ต้องฟื้นตลาด (Rebound) ด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อเจาะนักท่องเที่ยวจีนเซ็กเมนต์ใหญ่อย่างประชากร “มิลเลนเนียล” อายุ 24-39 ปี ทั้งผู้หญิง คนรุ่นใหม่ ครอบครัวรุ่นใหม่ ราว 390 ล้านคน ให้มาเยือนเมืองไทย
ด้านความต้องการท่องเที่ยวมีทั้งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งโตสอดคล้องเทรนด์โลก กีฬา เช่น ตีกอล์ฟ ไทยมีสนามกอล์ฟมากกว่า 300 แห่ง ทั้งที่ประชากรกว่า 60 ล้านคน ขณะที่จีน 1,400 ล้านคน มีสนามกอล์ฟกว่า 500 แห่งเท่านั้น เที่ยวหรูอยู่สบาย (Luxury) รองรับเศรษฐีใหม่จีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนผู้ประกอบการต้องเตรียมพร้อมรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนคือแอพพลิเคชั่นรองรับการทำธุรกรรมช้อป ชิม ชิล ทำตลาดผ่านโซเชียลมีเดียจีน ใช้พลังผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดเจาะกลุ่มเป้าหมาย และทุกอย่าง “ต้องทำตลาดตอนนี้”
++ แอร์เอเชีย ชี้ Now Normal แท็กทีมรอด!
หนึ่งในธุรกิจที่ “อ่วม” เอาการจากพิษโควิด ยกให้ “สายการบิน” เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ “ต้นทุนสูงลิ่ว” ครั้นหลายประเทศล็อกดาวน์ น่านฟ้าปิด!! เครื่องบินต้องจอดนิ่งสนิท!! ทำให้ 7 สายการบินโลกล้มละลาย เช่น สายการบิน Virgin Australia Ariline การบินไทย (THAI Airways) สายการบินละตินอเมริกา Latam Airlines เป็นต้น
นอกจากการบินไทยเผชิญวิบากกรรมหนัก อีกสายการบินอย่าง “แอร์เอเชีย” ก็ลำบากไม่แพ้กัน ถึงขนาดแม่ทัพอย่าง ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ถึงขั้นเอ่ยปากว่า “เกิดอีก 10 ชาติ ก็ไม่ทำแล้ว ธุรกิจสายการบิน” เหตุผลเพราะธุรกิจสายการบินใช้เงินลงทุนสูงมาก เครื่องบิน 1 ลำ มูลค่าหลักพันจนถึงหมื่นล้านบาท!! เทียบเท่าสร้างอาคารขนาดใหญ่
ยิ่งชำแหละโครงสร้างต้นทุน ราคาน้ำมันและค่าใช้จ่ายต่าง (โสหุ้ย) มีสัดส่วนถึง 30% ค่าบำรุงรักษา 15% ค่าจ้างบุคลากร 10% ซึ่งนักบิน วิศวกร หรือช่างซ่อมบำรุงอากาศยานค่าตัวสูงมากติดอันดับต้นๆ ของอาชีพที่ “ค่าจ้างแพง” รวมถึงค่าใช้จ่ายทั่วไป 10% ฯ หักลบแล้วอาจเหลือ “กำไร” อย่างเก่ง 5-8%
เมื่อสายการบินถูกแช่แข็ง ทำให้บริษัทต้อง “รัดเข็มขัด” ลดเงินเดือนผู้บริหาร พนักงาน (เว้นเงินเดือนต่ำกว่า 20,000 บาทไม่แตะ) และยังงัดโปรโมชั่นเพื่อ “ตุนเงินสด” ประคองธุรกิจให้ยืนระยะได้นานสุด
แม้ไทยแอร์เอเชียจะมีเส้นทางบินหลากหลาย แต่ “จีน” เป็นตลาดสำคัญที่ทำรายได้ราว 30% (เคยทำรายได้สูงถึง 35%) หรือ 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด มีเส้นทางบิน 50 เที่ยวบินต่อวัน พลันที่โควิดกระทบ และประเมินระยะแรกว่าวิกฤตินี้อ่านกระทบธุรกิจ 2-3 เดือน เหมือนที่ผ่านมา แต่ผิดคาด!! เพราะไวรัสร้ายเล่นงานลากยาว
หากโควิดคลี่คลาย ธรรศพลฐ์ มองภาพนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเยือนไทยแน่นอน เพราะหากพิจารณาจุดหมายปลายทางยอดนิยม ญี่ปุ่นอันดับ 1 เพราะมีดิสนีย์แลนด์ ยูนิเวอร์แซล ดึงดูด ฝรั่งเศส แหล่งชอปปิงแบรนด์เนมระดับโลก ไทยรั้งที่ 3 ต้องมาเที่ยว เพราะบินระยะสั้น เที่ยวคุ้มค่า ประทับตราหนังสือเดินทาง(พาสปอร์ต)ง่ายดาย ล้วนเป็นแต้มต่อ
แม้คนจีนจะมาเที่ยวไทยมาก หากเทียบประชากรทั้งประเทศ อาศัยเมืองหลักเมืองรอง เช่น กวางโจว คุนหมิง ฯ ยังมีอีกมหาศาลที่ไม่เคยประทับตราประจำประเทศไทยลงบนพาสปอร์ตจีน
ทั้งนี้ การเจาะนักท่องเที่ยวจีนของแอร์เอเชีย ยังคงผนึกพันธมิตรท้องถิ่นใน 4 สำนักงานเพื่อทำตลาดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์จีน โปรโมทให้เดินทางมาไทย เชิญ KOL มาซื้อตั๋ว ลองนั่งเครื่องบิน ตลอดจนเที่ยว ชิม ชิล สถานที่ท่องเที่ยวในไทยฯ
วันนี้น่านฟ้าประเทศต่างๆ ยังไม่เปิด ในประเทศเริ่มคลายล็อกดาวน์ให้สายการบินบินได้ แต่ผู้โดยสารยังจำกัด 80-90 คนบ้าง “นานๆ จะเห็นผู้โดยสาร 100 ที่นั่ง” นาทีนี้เพื่อยืนระยะให้รอด ผู้ประกอบการจึงเบรก! การห้ำหั่นสงครามราคาเหมือนที่ผ่านมา ภาพแข่งขันดังกล่าวยังสะท้อน Now Normal ของการรวมพลังทีมผู้ประกอบการสายการบินด้วย
“มีการหารือกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นธุรกิจ เมื่อทุกคนมีต้นทุน เป็นหนี้หรือไม่เป็นหนี้ตอนนี้ก็เงินหมด ดังนั้นอย่ามาลดราคาแข่งกัน หากวิกฤติคราวนี้ผ่านไปได้ วิกฤติรอบหน้าเราจะได้ไม่บาดเจ็บแบบนี้”
++ทำตลาดตลอด
ก่อนถูกกลืนหาย
ไปทำตลาดจีนได้ไม่นานสำหรับเครื่องสำอางแบรนด์สัญชาติไทยอย่าง “มิสทิน” แต่ธุรกิจเติบโตอย่างสวยงาม ทำรายได้หลายพันล้านบาท แต่เมื่อโลกเจอผลกระทบโควิด-19 บริษัทยากจะพ้นหางเลขแห่งวิกฤติ เพราะแม้ยอดขายจะเติบโต 5% แต่ “กำไร” หดตัวลง 3% นั่นเพราะมิสทิน กระหน่ำโปรโมชั่นมากเกินไป ดนัย ดีโรจนวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ฉายภาพ
เขาบอกด้วยว่า ช่วงเวลาที่ธุรกิจถูกปิดตาย (Dead air)แบรนด์ต้องพลิกหาโอกาสให้เป็น โดยสิ่งที่ “มิสทิน” รักษาฐานทัพตลาดในประเทศจีนคือโฟกัส “ออนไลน์” เต็มสูบ ไม่ว่าจะเป็นการค้าขาย รวมถึงทำกิจกรรมการตลาด
แพลตฟอร์มออนไลน์จีนมีมากมาย แบรนด์ต้องกระจายสินค้าให้ครอบคลุมทุกช่องทาง เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย จึงขยายสู่ 28 แพลตฟอร์ม จากเดิมมีเพียง 12 แพลตฟอร์ม ยุคนี้ผู้บริโภค “เชื่อ” ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด จึงใช้ KOL ชื่อดังมาช่วยสร้างแบรนด์ Live ขายสินค้า
“มิสทิน” ยังฉลองครบ 32 ปีอย่างยิ่งใหญ่ในจีน ด้วยการยึดพื้นที่อาคาร 70 แห่ง ในเมืองหังโจว เพื่อแสดงแสงสีและสร้างปรากฏการณ์ให้แบรนด์อย่างต่อเนื่อง หรือมีกระทั่งป้ายบิลบอร์ดยาว 2 กิโลเมตร (กม.) และโฆษณาที่ไทม์สแควร์ เพื่อประกาศศักดาแบรนด์ไทยให้โลกรู้ ในยามนักท่องเที่ยวมาไทยไม่ได้ แบรนด์สามารถเป็นตัวแทนพากินพาเที่ยวเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคลืมเลือนสินค้าไทย
“จีนมีประชากรมาก เป็นตลาดใหญ่มาก โอกาสมาก แต่การแข่งขันสูงมาก หากหยุดทำตลาดเพียง 1 เดือน แบรนด์จะหายไปทันที ดังนั้นอย่าหยุดทำกิจกรรม และแบรนด์ต้องเข้าไปอยู่ทุกแพลตฟอร์ม”
ปัจจุบันมิสทิน มีออฟฟิศในจีน 3 แห่ง แบ่งหน้าที่ชัดเจน ออฟฟิศเซี่ยงไฮ้ ดูแลการตลาด หางโจวดูแลอีคอมเมิร์ซ เซินเจิ้นดูแลบัญชี ทรัพยากรมนุษย์ ส่วนสินค้าที่ทำตลาดแตกต่างจากไทย ที่สำคัญบริษัทได้โยกการผลิตไปยังจีน 60-70% เพื่อปักหมุดเป็นสินค้า Made in China รับสินค้าจีนกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นที่ชาวจีนนิยมอย่างมากด้วย
++ยกเครื่องรอจีนกลับมา
โรงละคร “ทิฟฟานี่โชว์ พัทยา” ทำธุรกิจมา 46 ปี แต่ไม่เคยหยุดให้บริการ กระทั่งโควิด-19 เล่นงาน เพราะนอกจากมาตรการล็อกดาวน์ แต่การพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนถึง 70% ทำให้ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ
เมื่อต้อง “รอ” วันที่นักท่องเที่ยวจีนจะกลับมา ซึ่งไม่รู้ว่า “เมื่อไหร่” ทำให้ อลิสา พันธุศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทิฟฟานี่โชว์ พัทยา จำกัด ถือโอกาสยกเครื่องธุรกิจ เตรียมตัวเองให้พร้อมในวันที่ตลาดท่องเที่ยวฟื้นตัว โดยจังหวะนี้ได้อัพเกรดธุรกิจสู่ดิจิทัลเต็มสูบ พัฒนาการจอง ซื้อขายตั๋วผ่านออนไลน์ เพราะชาวจีนยุคใหม่ ทำธุรกรรมต่างๆ แบบไร้เงินสด (Cashless) ไร้การสัมผัส (touchless) เช่น การจองตั๋วล่วงหน้าผ่านออนไลน์มีมากถึง 50-70%
แม้ตอนนี้ไม่สามารถแสดงโชว์ใดๆ ได้ แต่การแสดงหรือ Content ของทิฟฟานี่โชว์ฯ ต้องไม่หาย จึงสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อนำเสนอการแสดงสด (Live) ที่แตกต่างจากการแสดงบนเวทีจริง เพื่อสร้างการรับรู้ให้กลุ่มเป้าหมาย หวังเป็น “น้ำจิ้ม” ดึงคนดูในปีนี้
“ต้องสร้างสรรค์คอนเทนท์ใหม่ เพื่อเป็นน้ำจิ้มให้นักท่องเที่ยวดูผ่านออนไลน์ในปีนี้ หากปีหน้ากลับมาเที่ยวไทยจะต้องมาดูโชว์ที่โรงละครของเรา เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ต้องมา”