เปิดตู้ ‘ทองคำ’ สำรวจภาระที่ 'ร้านทอง' ต้องแบกรับ
มองมุมกลับ รับ "ราคาทอง" ผันผวนหนัก ทราบหรือไม่ว่า ธุรกิจเงินสะพัดดูอู้ฟู่อย่าง "ร้านทอง" ต้องแบกรับภาระอะไรบ้าง? พร้อมเปิดรายได้ 3 ร้านทองยักษ์ใหญ่ในเมืองไทย
เมื่อ “ราคาทองคำ” พุ่งสูงจนสร้างปรากฏการณ์ ทะลุบาทละ 30,000 ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก่อนจะต่อด้วยภาวะผันผวนหนัก ร่วงรูด 1,400 บาท เมื่อเปิดตลาดในวันที่ 12 ส.ค.2563 และต่อด้วยการปรับราคามากถึง 42 ครั้ง ซึ่งถือเป็นการปรับราคาระหว่างวันมากสุดในประวัติการณ์ ก่อนจะปิดวันที่ราคาลดลงจากวันก่อนหน้า 850 บาทต่อบาททองคำ
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือ เมื่อราคาทองคำสูงขึ้น หลายคนที่ครอบครองทองคำไว้ ก็เริ่มมือสั่น ใจสั่น ตบเท้าถือทองคำ ทั้งทองแท่ง และ ทองรูปพรรณ แห่กันเดินเข้าร้านทองเพื่อนำไปขายหวังทำกำไร และในทางกลับกัน เมื่อถึงวันที่ราคาทองรูดลง เราก็จะเห็นคนเข้าไปซื้อเพื่อหวังเก็งกำไรจากการคาดการณ์ว่าราคาทองจะพุ่งขึ้นไปอีก
แน่นอนว่า ภาพในหัวของใครหลายๆ คนเมื่อนึกถึงร้านทอง ก็จะต้องเป็นภาพเม็ดเงินหมุนเวียนเข้า-ออกมหาศาลในแต่ละวัน และน่าจะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ทำกำไรงาม สร้างความมั่งคั่ง แต่ทราบหรือไม่ว่า อีกมุมของ ร้านค้าปลีกทองคำ ภายใต้ตู้ทองที่สปอตไลต์เหลืองอร่ามส่องไปไม่ถึง รวมถึงหลายๆ คนก็ไม่ได้สังเกตมากนัก นั่นก็คือ รายจ่ายของร้านค้าปลีกทองคำต่างๆ ที่ต้องแบกรับกันหลังโก่ง และหากสายป่านไม่ยาว คงต้องโบกมือลาปิดกิจการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- 'ทองปลอม' VS 'ทองแท้' ดูยังไง ไม่ให้โดนหลอก
- อยากทำกำไรจาก 'ราคาทอง' ต้องรู้อะไรบ้าง
- อยากลงทุน “ทอง” เลือกแบบไหนทำกำไรได้มากกว่า
- ส่อง 4 ปัจจัยที่ทำให้ 'ราคาทอง' ถูกหรือแพง
- "ร้านทอง" มีรายได้มาจากไหน?
หากถามว่า รายได้จากร้านทองมาจากไหน?
..คำตอบก็คือ หลักๆ แล้วมาจากการขายทองคำรูปพรรณและทองคำแท่ง ทั้งขายให้ลูกค้าทั่วไปที่มาซื้อทอง และขายทองรูปพรรณเก่าให้ผู้ค้าส่งทองคำหรือผู้ผลิต รวมถึงรายได้จากค่ากำเหน็จ หรือค่าผลิตทองคำรูปพรรณให้เป็นลวดลายต่างๆ ที่บวกค่าการตลาดของผู้ประกอบการร้านทองไปอีกทอดหนึ่ง เพื่อให้คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากค่าสินค้า เช่น ค่าเดินทาง
ดังนั้นราคาขายทองรูปพรรณ หนัก 1 บาท จะเท่ากับราคาขายทองคำแท่ง หนัก 1 บาท + ค่ากำเหน็จ โดยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2559 ราคาค่ากำเหน็จทองรูปพรรณขั้นต่ำ ซึ่งร้านทองคำใช้เป็นราคาอ้างอิง เป็นบาทละ 500 บาท
นอกจากนี้กิจการร้านทองอาจมีการประกอบธุรกิจอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การรับขายฝาก หรือการขายทอง (ให้เข้าใจง่าย คือ คล้ายกับจำนำ) โดยมีข้อตกลงว่า ผู้ขายมีสิทธิไถ่ถอนคืนภายในกำหนดเวลาตามสัญญา โดยจะบวกค่าตอบแทนที่คำนวณตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญานั้นๆ รวมถึงการขายเครื่องประดับ สินค้าที่เกี่ยวข้อง และการให้บริการอื่นๆ อาทิ รับซ่อมทอง การใส่กรอบพระ รับจองวัตถุมงคล ชุบทอง เป็นต้น
อีกทั้งผู้ประกอบการร้านทองที่ประกอบกิจการรับจำนำ โดยได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงจำนำตาม พ.ร.บ.โรงรับจำนำนั้น จะมีรายได้จากดอกเบี้ย ที่มีคนนำทองรูปพรรณมาเป็นประกันเพื่อชำระหนี้ และบางรายอาจมีรายได้จากการให้กู้ยืมเงินและให้เช่าอาคาร
- ภาระที่ต้องแบกรับ ภายใต้ตู้ทอง
ขณะที่ฟากของ รายจ่าย ธุรกิจร้านค้าปลีกทองคำ เกิดขึ้นจากหลายส่วนดังนี้
1. ค่าซื้อสินค้า หลักๆ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ค่าซื้อทองรูปพรรณใหม่ ค่าซื้อทองรูปพรรณเก่า และค่าซื้อทองคำแท่ง
- ค่าซื้อทองรูปพรรณใหม่ ซึ่งผู้ค้าปลีกทองจะต้องซื้อทองรูปพรรณที่ผลิตขึ้นใหม่ โดยกลุ่มผู้ค้าส่งทองหรือร้านค้าปลีกทองขนาดใหญ่ เพื่อนำมาขายต่อ ในส่วนนี้ร้านค้าส่งทองจะมีการบวกค่ากำเหน็จเข้าไปแล้ว ซึ่งเมื่อร้านค้าปลีกนำไปขายต่อก็จะบวกค่ากำเหน็จเพิ่มเติมเข้าไปอีก
- ค่าซื้อทองรูปพรรณเก่า ที่ร้านค้าทองต้องรับซื้อจากผู้ขายที่มาติดต่อที่หน้าร้าน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเมื่อร้านรับซื้อมาแล้ว จะนำทองรูปพรรณเก่าไปขายต่อให้กับร้านค้าส่งทอง เพื่อนำไปหลอมเป็นทองคำแท่งหรือนำไปผลิตเป็นทองรูปพรรณใหม่ต่อไป แน่นอนว่าร้านค้าปลีกทองคำต้องเตรียมเงินทุนเพื่อรับซื้อทองคำคืน โดยเฉพาะช่วงที่ทองคำมีราคาสูง ความต้องการขายก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นด้วย
ขณะเดียวกันในแง่ของราคาที่ร้านค้าส่งจะรับซื้อทองรูปพรรณเก่าคืนนั้น จะเท่ากับราคารับซื้อคืนทองคำแท่งหนัก 1 บาท - 1.8% โดยตัวเลข 1.8% หมายถึงค่าเสียหายจากการหลอมและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ขึ้นไปเกิน 1.8% ของมูลค่าซื้อคืนทองคำแท่งหนัก 1 บาท ณ วันที่ทำการซื้อขายตามราคาที่สมาคมทองคำประกาศ
- ค่าซื้อทองคำแท่ง ซึ่งราคาขายทองคำแท่งต้องพิจารณาตัวแปรหลายส่วน ได้แก่ ราคาทองในตลาดโลก (Gold Spot), ค่าใช้จ่ายในการนำเข้าหรือส่งออกทองคำแท่ง บวกค่าประกันภัย บวกเพิ่มค่าความเสี่ยง (Premium) ซึ่งหากนำเข้าจะมีค่าเป็นบวก และมีค่าเป็นลบเมื่องส่งออก, อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และตัวเลข 0.4729 เป็นค่าเปลี่บนแปลงน้ำหนักทองคำแท่ง
ดังนั้น "ราคาขาย" ทองคำแท่งหนัก 1 บาท เท่ากับ (Gold Spot +/- Premium) x อัตราแลกเปลี่ยน x 0.4729
ส่วนสูตร "ราคารับซื้อคืน" ทองคำแท่งของร้านค้าส่งทองนั้น จะได้เท่ากับราคาขายทองคำแท่ง หนัก 1 บาท - 100 บาท
2. ค่าจ้างช่างทำทอง ซึ่งรายจ่ายในส่วนนี้ขึ้นอยู่กับความยากง่ายในการทำ ลวดลายทอง และความต้องการซื้อ ณ เวลานั้นๆ โดยเป็นการคิดราคาต่อชิ้น แบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ ค่ากำเหน็จทองรูปพรรณ และค่ากำเหน็จทองคำแท่ง
- ค่ากำเหน็จทองรูปพรรณ เป็นค่าแรงในการนำทองแท่งมาเแปรรูปทำเป็นเครื่องประดับ เช่น แหวน สร้อยคอ สร้อยข้อมือ กำไล จี้ ต่างหู ฯลฯ จะมค่าแรงหลายระดับขึ้นอยู่กับลวดลาย โดยมาตรฐานค่าแรงทองรูปพรรณ 1 บาท อยู่ที่ประมาณ 500-800 บาท หากเป็นรายละเอียดที่ซับซ้อน ค่าแรงอาจอยู่ที่ 1,000-3,000 บาท
- ค่ากำเหน็จทองคำแท่ง ทองคำประเภทนี้จะผลิตเป็นแท่งบล็อกสี่เหลี่ยม ซึ่งค่าแรงเรียกว่า "ค่าบล็อก" หรือ "ค่าพรีเมี่ยม" โดยส่วนใหญ่จะมีราคาถูกกว่าในส่วนของทองรูปพรรณ เนื่องจากผลิตง่าย ไม่ซับซ้อน
ทั้งนี้มาตรฐานค่าแรงทองแท่ง 1 บาท อยู่ที่ 100-400 บาท แต่หากมีลวดลายมากขึ้น ค่าแรงก็จะเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันนั้นในบางที่หากมีการซื้อทองแท่งขนาด 5 บาทขึ้นไป อาจไม่ต้องจ่ายค่าบล็อก
3. ประกันภัยร้านทอง นับเป็นหลักประกันของความปลอดภัยของร้านทอง ซึ่งสมาคมประกันวินาศภัยไทยอธิบายไว้ว่า ประกันภัยร้านทอง หมายถึง การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองความเสียหายให้กับเจ้าของร้านทองในกรณีที่ร้านทองถูกชิงทรัพย์หรือถูกปล้น รวมถึงคุ้มครองทองคำ ตัวอาคารและอุปกรณ์ภายในร้าน คุ้มครองความเสียหายให้กับเจ้าของร้าน
โดยอัตราเบี้ยประกันภัยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักๆ ได้แก่ ภัยที่ได้รับความคุ้มครอง สถานที่ทำประกันภัยหรือทำเลที่ตั้ง และระบบรักษาความปลอดภัยต่างๆ เช่น กำหนดให้มีตำรวจหรือ รปภ.รักษาการณ์ในเวลาทำการไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง มีระบบแจ้งเหตุไปยังสถานีตำรวจ มีการรักษาความปลอดภัยด้วยกระจกนิรภัยหรือลูกกรงเหล็ก เป็นต้น ซึ่งมูลค่าการชดใช้ เท่ากับน้ำหนักของทองคำที่ถูกชิงทรัพย์หรือปล้นทรัพย์ x ราคารับซื้อทองคำแท่งหรือทองคำรูปพรรณ
4.ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าเช่าสถานที่ ค่าขนส่ง ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าพาหนะ ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปา เป็นต้น
5. ดอกเบี้ยจ่าย ที่เกิดจากการที่กิจการร้านทองกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินต่างๆ มาเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ ซึ่งส่วนใหญ่สินเชื่อธุรกิจประเภทนี้มักจะกำหนดคุณสมบัติ อย่างเช่น ประสบการณ์ในการทำธุรกิจหรือก่อตั้งกิจการมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปีขึ้นไป ซึ่งอัตราค่าธรรมเนียมบางแห่งคิดตามอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ (MLR) ตามประกาศของแต่ละธนาคาร
6. ภาษีอากรของธุรกิจร้านทอง มีทั้งภาษีเงินได้ ซึ่งแยกเป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเงินที่ได้จากการขายทองคำเป็นเงินพึงได้ประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลกฎหมายรัษฎากร หรือเงินพึงได้ตลอดตลอดปีภาษี ซึ่งจะมีวิธีการหักค่าใช้จ่าย 2 วิธี คือ การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาร้อยละ 60% หรือหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร ขณะที่ด้านนิติบุคคลจะคำนวณจากฐานกำไรสุทธิ ซึ่งหากมีผลขาดทุนสุทธิทางภาษี ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
ซึ่งอัตราภาษีเป็นขั้นบันได ดังนี้
นอกจากนี้ยังมีภาษีมูลค่าเพิ่ม จากการที่ร้านทองที่มีเงินได้จากการขายสินค้า หรือให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีเงินได้เกิน 1.8 ล้านบาท ซึ่งการนับมูลค่าฐานภาษีจากการขายทองเพื่อจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องนับเงินได้ทั้งจำนวนที่ได้รับ ไม่ใช่นับจากผลต่างหรือค่ากำเหน็จ เนื่องจากผลต่างหรือค่ากำเหน็จเป็นฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเท่านั้น
7. การทำบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่าย ซึ่งกิจการร้านทองบุคคลธรรมดาต้องจัดทำบัญชี แบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่
1) กรณีผู้ประกอบการกิจการที่เป็นบุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล และไม่ไช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องจัดทำบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่ายเป็นประจำวัน โดยต้องลงรายการในบัญชีรายได้และรายจ่ายภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่มีรายได้หรือรายจ่าย
2) กรณีผู้ประกอบกิจการที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล นอกจากต้องจัดทำรายงานเงินสดรับ-จ่ายแล้ว ยังต้องทำบัญชีรายรับ-จ่ายของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคลเพื่อแสดงยอดเงินคงเหลือยกมา โดยจำนวนเงินของยอดรายได้และรายจ่ายที่ได้มีการรับมาและจ่ายไปในระหว่างปีภาษีและยอดเงินคงเหลือยกไป เพื่อยื่นพร้อมกับการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ของทุกปีภาษี
- เปิดรายได้ธุรกิจร้านทองยักษ์ใหญ่
หลังจากรู้ที่มาทั้งรายรับและรายจ่ายของธุรกิจร้านค้าปลีกทองคำแล้ว “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ชวนเปิดกระเป๋าธุรกิจร้านทองชื่อดังว่าแต่ละรายเป็นอย่างไรบ้าง?
ร้านทองเจ้าดังย่านเยาวราช “ตั้งโต๊ะกัง” ร้านทองที่เก่าแก่ที่สุดในย่านนี้ ดำเนินการภายใต้ห้างหุ้นส่วนจำกัด จดทะเบียนเมื่อปี 2483 ด้วยทุนจดทะเบียนราว 65 ล้านบาท โดยมีหุ้นส่วน 2 ราย ในสัดส่วนเงินทุนที่เท่ากัน คือ นายไชยกิจ ตันติกาญจน์ และนางวัลวลี ตันติกาญจน์ โดยพบว่ารายได้รวมปีล่าสุดอยู่ที่ 205.51 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าราว 4.54% ขณะที่รายจ่ายรวมอยู่ที่ 203.17 ล้านบาท ทำให้มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1.68 ล้านบาท ส่วนสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 147.40 ล้านบาท
อีกหนึ่งร้านทองที่เปิดดำเนินการมาอย่างยาวนาน "ทองใบเยาวราช" ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดำเนินธุรกิจของเจเนอเรชั่นรุ่นที่ 2 ตระกูลสินธพเรืองชัย มีทั้งหมด 5 สาขา ทั้งค้าส่งและค้าปลีก โดยมีการจดทะเบียนภายใต้ห้างทองทองใบเยาวราช (1988) จำกัด จดทะเบียนเมื่อปี 2531 ด้วยทุนจดทะเบียน 160 ล้านบาท โดยข้อมูลงบการเงินปี 2561 รายได้รวม 755.89 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 8.12% ด้านรายจ่ายรวมอยู่ที่ 748.61 ล้านบาท ส่งผลให้มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 5.42 ล้านบาท ส่วนสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 237.47 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีการจดทะเบียนห้างขายทองทองใบเยาวราช (สี่แยกวัดตึก) จำกัด ที่จดทะเบียนเมื่อปี 2537 ทุนจดทะเบียน 160 ล้านบาท ซึ่งข้อมูลงบการเงินระบุว่าปี 2561 มีรายได้รวมอยู่ที่ 2,792.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 19.92% ขณะที่รายจ่ายรวมอยู่ที่ 2,783.91 ล้านบาท ทำให้มีรายได้สุทธิอยู่ที่ 6.34 ล้านบาท
รวมถึงร้านทองชื่อดัง “ฮั่วเซ่งเฮง” ที่เริ่มธุรกิจขายทองคำตั้งแต่ปี 2494 จนกระทั่งปัจจุบันถูกส่งต่อสู่เจเนอเรชั่นที่ 3 ของตระกูลพสวงศ์ ที่เข้ามาดำเนินการ จากการขายทองรูปพรรณเป็นธุรกิจหลัก เริ่มมีการขายทองคำแท่งเพื่อการลงทุน จนกระทั่งปัจจุบันฮั่วเซ่งเฮงมีการดำเนินการถึง 4 ส่วนหลัก ได้แก่
1) ร้านขายทองฮั่วเซ่งเฮงทั้งหมด 6 สาขา 2) บริษัท ฮั่วเซ่งเฮง คอมโมดทันช จำกัด ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุนทองคำแท่งทั้ง 96.5% และ 99.99% รวมถึงโครงการออมทองคำ อีกทั้งยังเป็นบริษัทผู้นำเข้า ส่งออกทองคำแท่ง รับซื้อเศษทองในการหลอม
3) บริษัท ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด ดำเนินธุรกิจนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินค้าประเภทโลหะมีค่าในตลาด TFEX แห่งประเทศไทย รวมถึงเป็นซับโบรกเกอร์ซื้อขายกองทุนรวมอีทีเอฟทองคำในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตัวแทนขายกองทุนรวมต่างๆ ของ บลจ.ชั้นนำ และ 4) บริษัท ฮั่วเซ่งเฮง สิงคโปร์ จำกัด ดำเนินการเป็นศูนย์กลางการค้าขายกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียและโลก
โดยงบการเงินในปี 2561 พบมีรายได้จากร้านขายทองดังนี้
- บริษัท ห้างขายทองฮั่วเซ่งเฮง (กรุงเทพมหานคร) จำกัด รายได้รวมปี 2561 อยู่ที่ 1,581.65 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 1,572.74 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 3.68 ล้านบาท
- บริษัท ห้างขายทองฮั่วเซ่งเฮง (2000) จำกัด ปี 2561 มีรายได้รวม 1,735.54 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 1,707.15 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิ 21.34 ล้านบาท
- บริษัท ห้างขายทองฮั่วเซ่งเฮง จำกัด ปี 2561 มีรายได้รวม 1,379.38 ล้านบาท รายจ่ายรวม 1,373.13 ล้านบาท ทำให้มีกำไรสุทธิ 4.83 ล้านบาท
- บริษัท ห้างขายทองฮั่วเซ่งเฮง (เยาวราช) จำกัด รายได้รวม 9.61 ล้านบาท รายจ่ายรวม 6.53 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2.46 ล้านบาท
- บริษัท ห้างขายทองฮั่วเซ่งเฮง (ประเทศไทย) จำกัด รายได้รวม 1,623.01 ล้านบาท รายจ่ายรวม 1,619.88 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 243,911 บาท
- บริษัท ห้างขายทองฮั่วเซ่งเฮง (ซีคอนสแควร์) จำกัด รายได้รวม 1,290.91 ล้านบาท รายจ่ายรวม 1,250.07 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 31.36 ล้านบาท
ที่มา : nationtv, goldtraders, rd, blog.ausiris, tgia, datawarehouse.dbd,