แกรมมี่ ปั้นแบรนด์สินค้าศิลปิน ก้าวข้ามวิกฤติโควิด
เมื่ออดีตคนโฆษณา “ภาวิต จิตรกร” ผันตัวมาขับเคลื่อนธุรกิจเพลง นั่งเก้าอี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บมจ. จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งมีภารกิจมากมายต้องทำ โดยเฉพาะ “บันได 3 ขั้น” เพื่อนำธุรกิจเพลงแกรมมี่เติบโตระยะยาว
บันไดขั้นแรก ภาวิต ผ่าตัดและเปลี่ยนผ่านองค์กรฝ่าสึนามึดิจิทัลดิสรัปชั่น บันไดขั้นสองวาง 7 ยุทธศาสตร์ สร้างการเติบโตยั่งยืน และบันไดขั้นสาม วางโครงสร้างพื้นฐานให้ธุรกิจเพลงมีรายได้ประจำ(Recurring income) ทั้งหมดเป็นแผนระยะยาว
เปิดปี 2563 ภาวิต สร้างผลงานให้องค์กร โดยจีเอ็มเอ็ม มิวสิคฯ ทุบสถิติรายได้และ “กำไร” สูงเป็นประวัติการณ์ ทว่า ปลายไตรมาส 1 ประเทศไทยต้องเผชิญมฤตยู “โควิด-19” ช็อก !! ธุรกิจทุกเซ็กเตอร์ ผลกระทบตามมามากมายโดยเฉพาะการล็อกดาวน์ “ชัตดาวน์รายได้” ผู้ประกอบการ ไม่เว้นจีเอ็มเอ็ม มิวสิค
การตั้งสติ!เป็นสิ่งแรกที่ ภาวิต จัดการ และไม่ทิ้งลายครีเอทีฟคนโฆษณา “โฟกัส” สิ่งที่ต้องทำ หนึ่งในนั้นคือการเดินตามบันได 3 ขั้นที่วางไว้ เลือกลุยบันไดขั้นที่ 2 อย่างเข้มข้น ซึ่งได้วาง 7 ยุทธศาสตร์เคลื่อนธุรกิจ หนึ่งในนั้นคือ “สร้างสินค้าจากศิลปิน” ก่อนหน้านั้นมีโครงการนำร่องผลิต “น้ำหอม” ของ “เป๊ก ผลิตโชค”
ทว่า โมเดลล่าสุด ได้ตั้งบริษัท จีเอ็มเอ็ม กู๊ดส์ จำกัด(GMM GOODS) ทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจขายตรงชั้นเดียว ดึง “ต่าย อรทัย ดาบคำ” นักร้องลูกทุ่งมาปั้นแบรนด์ “ออร่า-ทัย”(AURA-THAI) ส่งสินค้า 3 รายการ (SKU) ได้แก่ เซรั่ม, ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและปกป้องผิวจากแสงแดด และแผ่นมาส์กหน้าบำรุงผิว บุกตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ (สกินแคร์) เต็มสูบ
“การรุกธุรกิจขายตรง เพราะมองว่าการมาของโรคโควิดจะเกิดโอกาสให้ประชาชนอยากมีรายได้เสริม”
ภาวิต จิตกร - ต่าย อรทัย ดาบคำ
แต้มต่อการรุกธุรกิจขายตรงของจีเอ็มเอ็ม กู๊ดส์ มีมากมาย ซึ่งเชื่อว่าจะปูทางไปสู่ความสำเร็จทั้งด้านนักธุรกิจที่จะเข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่าย และลูกค้าได้ ส่วนจุดแข็งอะไรที่บริษัทมี ภาวิต เจาะ 8 จุดแข็ง จีเอ็มเอ็ม กู๊ดส์ มาฉายภาพดังนี้ 1. จีเอ็มเอ็ม กู๊ดส์ เป็นบริษัทขายตรงในเครือ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านคอนเทนต์ และ Media Marketing Solution แบบครบวงจรทั้งทีวี วิทยุ ออนไลน์ ฯ
2.มีแผนธุรกิจทั้งระยะสั้น และ ระยะยาวในการส่งเสริมการสร้างสินค้าให้กับศิลปินเป็นจำนวนมาก และ หลากหลาย โดยทุกศิลปินจะเป็น “เจ้าของแบรนด์สินค้า” ทำการดำเนินธุรกิจ วางแผนยุทธศาสตร์ และ ควบคุมคุณภาพในทุกขั้นตอน 3. มีขุมทรัพย์ข้อมูลหรือ Big Data ของฐานแฟนคลับจำนวนมหาศาล ที่ได้ทำการวิเคราะห์ถึงโอกาสในความสำเร็จอย่างต่อเนื่องมาตลอด 3 ปีเต็ม จึงมั่นใจได้ในความพร้อมของกำลังซื้อที่รองรับที่มีอยู่มาก
หากมองฐานแฟนคลับของแกรมมี่ เรียกว่ามีมหาศาลมาก และในการทำวิจัย หรือสำรวจพฤติกรรม ความเห็นของผู้บริโภคผ่านออนไลน์ จึงมีผู้ให้ความร่วมมือตอบแบบสอบถามมากถึง 1.5 หมื่นรายต่อครั้ง เรียกว่าล้นหลาม เพราะการทำวิจัยตลาดโดยทั่วไป สุ่มกลุ่มตัวอย่างหลักร้อยถึงพันเท่านั้น เพื่อนำไปวิเคราะห์ความต้องการเชิงลึก ความสนใจของผู้บริโภคกลุ่มได้เป้าหมาย เพื่อเสิร์ฟสินค้าให้ตรงใจ
4. มีเงินจูงใจและแผนจ่ายโบนัสที่สูงเป็นรูปธรรม เพื่อตัวแทนขายในการสร้างรายได้จนสามารถยึดเป็นอาชีพเสริม หรืออาชีพหลักในการดำเนินชีวิต 5.ได้ร่วมมือกับโรงงานชั้นนำของประเทศในการผลิตสินค้า และ สินค้าทุกชิ้นได้รับการรับรองจากสถาบันนานาชาติ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพของสินค้าที่ศิลปิน แฟนคลับ กล้าแนะนำ และบอกต่อ 6. มีเงินลงทุนจำนวนมากในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้วยคอนเทนต์ที่แตกต่าง และมีสื่อแบบครบวงจร ทั้งสื่อโทรทัศน์, สื่อวิทยุ, สื่อโซเชียลมีเดีย, สื่อนอกบ้าน และสื่อ ณ จุดขาย(Point of Sale) รวมถึงสื่อของศิลปิน GMM Music ที่จะช่วยกันร่วมโปรโมทธุรกิจ และ สินค้าให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมายทั้งประเทศ
7. มีหลักสูตรการขายสินค้ารองรับ ทั้งคอร์สเรียน On Ground และคอร์สเรียน Online เพื่อให้ตัวแทนขายสามารถขายสินค้าได้อย่างง่ายดายและยั่งยืน และ8. ได้คัดสรรทีมงานที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านที่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น ผู้เชี่ยวชาญด้านขายตรง, ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า(CRM) นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล(Data Scientist) ผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าและการตลาด, ผู้เชี่ยวชาญด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสังคมออนไลน์ และการค้า
อาวุธครบมือ จึงเสริมความแกร่งให้กับแบรนด์ "ออร่า-ทัย" ได้อย่างดี แม้ยุคปัจจุบันศิลปินดังมีแฟนคลับมากหรือน้อยต่างสามารถไปผลิตสินค้าสร้างแบรนด์ได้เอง แต่การมี "บิ๊กคอร์ป" ทุนหนา กลยุทธ์การทำตลาด ทีมงานครบเครื่อง ช่องทางจำหน่ายมีพร้อม จึงเป็น "กองหนุน" ให้สินค้าศิลปินมีโอกาสเกิดไม่ยาก
ส่วนการเลือก “ต่าย อรทัย” เหตุผลไม่ต้องังขา การอยู่ในวงการมา 20 ปี มีฐานแฟนคลับจำนวนมากชื่นชอบติดตามอย่างยาวนาน ยิ่งบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ "เจาะจง" ได้ใครเป็นใคร ตัวตน สนใจอะไร ช่วยเพิ่มโอกาสทำตลาดเข้าถึงได้มากขึ้น เช่น เฟซบุ๊กกว่า 5.5 ล้านราย อินสตาแกรม 6 แสนราย และยูทูป 7.2 แสนราย ยิ่งวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก(Big Data) พบกลุ่มเป้าหมายชัดเจนเป็นผู้หญิงวงกว้าง(Mass)พร้อมสนับสนุนศิลปิน เฉพาะการซื้อสินค้าจากงานคอนเสิร์ตเฉลี่ยหลัก “ร้อย-พันบาท” ยอดใช้จ่ายสูงสุด 4,000 บาท ส่วนพฤติกรรมการซื้อเซรั่มเฉลี่ย 500-900 บาท ครีมบำรุงผิว 300-480 บาท และมาส์กหน้า 70-100 บาท หากเจาะใจสาวกเพียง 2 หมื่นคนต่อเดือน บริษัทสามารถทำรายได้หลัก “ร้อยล้านบาท” ต่อปี
“เราเชื่อมั่นใน Fans base marketing เพราะฐานแฟนคลับพร้อมสนับสนุนศิลปินทุกอย่างหรือระดับ Advocacy ซึ่งต่าย อรทัย เป็น 1 ใน 5 ศิลปินแกรมมี่ ที่มี Advocacy สูง”
ศิลปิน Top 5 ของแกรมมี่ที่มี Advocacy สูง ได้แก่ เบิร์ด ธงไชย, ตูน บอดี้สแลม, เป๊ก ผลิตโชค, หนุ่ม กะลา และต่าย อรทัย (ไม่เรียงลำดับ) จากศิลปินทั้งค่ายราว 300 ชีวิต แผนธุรกิจในปีหน้าจะมี 2 ศิลปิน ออกสินค้า 2 แบรนด์ ใน 2 หมวด คือสินค้าอุปโภคบริโภค(FMCG) และสินค้าเพื่อสุขภาพเสริมทัพ ส่วน “ออร่า-ทัย” จะมี 3 สินค้าใหม่เสริมทัพ
ภาวิต เล่าว่า การที่ศิลปินมาปั้นแบรนด์สินค้าจำหน่าย ยังเป็นเทรนด์โลกด้วย เพราะสาวกคือกลุ่มเป้าหมายชั้นดีที่มีความจงรักภักดี (Brand Loyalty) ต่อศิลปินคนโปรด จะเห็นว่าระดับโลก นักร้องดัง “ริฮานน่า” ลุยธุรกิจเครื่องสำอาง ชุดชั้นใน เสื้อผ้า สร้างอาณาจักรหมื่นล้าน หรือแจ๊คสัน หวังแห่ง GOT7 ปั้นเสื้อผ้าแบรนด์ TEAMWANG เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การรุกขายตรงของจีเอ็มเอ็ม มิวสิคฯ ภาวิต ย้ำว่าไม่ได้ “แข่งกับใคร” เพราะเป้าหมายครั้งนี้ชัด “เราตกปลาในบ่อของตัวเอง ไม่ตกในบ่อของคนอื่น และการทำตลาดไม่ต้องการเปิดศึกหลายยุทธจักร เพราะจะห้ำหั่นกันเหนื่อย”
สำหรับการผนึกศิลปินปั้นแบรนด์สินค้าขายตรง 3 ปีแรก ตั้งเป้าหมายยอดขายรวม 500 ล้านบาท เฉพาะ “ออร่า-ทัย” คาดสร้างยอดขายราว 300 ล้านบาท และมีตัวแทนขาย 9,000 คนในปีแรก เพิ่มเป็น 15,000 คนในปีที่ 2 และแตะ 25,000 คนในปีที่ 3 ขณะที่เป้าใหญ่ระยะยาวคือการผลักดันรายได้มีสัดส่วน 10% ของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ฯ ซึ่งที่ผ่านมาโครงสร้างรายได้กว่า 4,000 ล้านบาท มาจากสปอนเซอร์ บริหารศิลปิน 35% ดิจิทัล 28% โชว์บิซ 13% บริหารสื่อ 8% เทรดดิ้ง 7% และอื่น 9%
ปี 2563 จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ได้รับผลกระทบจากโควิด เพราะหลายธุรกิจไม่สามารถขับเคลื่อนได้ โดยเฉพาะ “โชว์บิซ” งานแสดง โชว์ตัวของศิลปินตามผับบาร์ร่วม 7,000 งานต่อปี ต้องเบรก แต่ยังมีกลุ่มที่เติบโตคือ “เพลงดิจิทัล” เพราะไม่ว่าจะเกิดวิกฤติอย่างไรผู้บริโภคยังคงฟังเพลงเพื่อความบันเทิงอยู่เสมอ ดังนั้นจากแผนธุรกิจข้างต้น ภาวิต ต้องการฝ่าวิกฤติไวรัสร้ายให้บริษัท “ไม่ขาดทุน”
“ปีนี้อาจไม่ได้ตั้งเป้าสู่จุดเติบโต แต่บริษัททำทุกวิถีทางที่จะไม่ขาดทุน ซึ่งผมให้ความมั่นใจว่าเราจะไม่อยู่ในภาวะขาดทุน เหมือนที่หลายบริษัทเจอในช่วงโควิด จนต้องล้มหายตายจาก”