ส่องก้าวใหม่ของ 'CPALL' เจาะเทรนด์ธุรกิจ ด้วยปัญญาประดิษฐ์ ร้านกาแฟ และขายตรง
ส่องอาณาจักร "CPALL" ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ บนเส้นทางเทรนด์ธุรกิจอนาคต ดันปัญญาประดิษฐ์ ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงขายตรงเสริมแกร่งกิจการ ที่อาจเปลี่ยนเกมการแข่งขันเปลี่ยนไปจากเดิม
เมื่อยักษ์ขยับ แผ่นดินย่อมสะเทือน! จึงน่าสนใจอย่างมาก เมื่อยักษ์ใหญ่อย่าง "CPALL" บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) แจ้ง มติที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2563 เมื่อวันที่กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ต่อกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยหนึ่งในรายละเอียดของการประชุมผู้ถือหุ้น CPALL ขอแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัท (เอกสารแสดงวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งบริษัท-กรุงเทพธุรกิจ) ที่เพิ่ม 3 วัตถุประสงค์ของการทำธุรกิจใหม่ ได้แก่
บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2531 ภายใต้เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ประกอบธุรกิจหลัก ในการบริหารร้านสะดวกซื้อที่มีเครือข่ายกระจายครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัด ภายใต้แบรนด์ ‘เซเว่น อีเลฟเว่น’ มากว่า 32 ปี โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 บริษัทฯ มีสาขา "เซเว่น อีเลฟเว่น" เปิดให้บริการ 12,089 สาขาทั่วประเทศ
นอกจากนี้ยังประกอบธุรกิจต่างๆ ที่เป็นการสนับสนุนธุรกิจหลัก เช่น ธุรกิจให้บริการเป็นตัวแทนรับชำระค่าสินค้าและบริการ (บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด) ธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสำเร็จรูปและเบเกอรี่ (บริษัท ซีพีแรม จำกัด) ธุรกิจจำหน่ายและซ่อมแซมอุปกรณ์ค้าปลีก (บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด) หรือแม้แต่บริษัท สยามแม็คโคร จำากัด (มหาชน) ซึ่งเป็นธุรกิจศูนย์จำหน่าย สินค้าแบบชำระเงินสดและบริการตนเอง (Cash and Carry) ฯลฯ
แม้ปัจจุบันเครือ CPALL จะสามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้แทบทุกธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ แต่การศึกษาและพัฒนาธุรกิจให้สอดคล้องกับกระแสความต้องการของผู้บริโภค และการบริหารธุรกิจในมิติต่างๆ ที่ทำให้ธุรกิจพัฒนาคู่ขนานไปกับเทรนด์ธุรกิจโลก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เช่นเดียวกับการขยับตัวในครั้งนี้ ความน่าสนใจของการแก้ไขข้อมูลวัตถุประสงค์ใน "การประกอบกิจการ" ต่างๆ ที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจเดิม ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์การทำธุรกิจของโลก 3 ข้อ ซึ่งสะท้อนว่า "CPALL" มองไกลไปมากกกว่าการเป็นแค่การแบ่งส่วนแบ่งตลาด หรือการแข่งขันในประเทศ
- ธุรกิจที่มีหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) สนับสนุน
ในรายงานวิสัยทัศน์อุตสาหกรรมทั่วโลก (GIV) ปี 2025 พบว่า "หุ่นยนต์" คือ 2 ใน 10 เทรนด์ จะเข้ามามีบทบาทกับธุรกิจและชีวิตประจำวันของมนุษย์อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการ "ใช้ชีวิตกับหุ่นยนต์ (Living with Bots)" ที่หมายถึง การเรียนรู้ของ AI และเทคโนโลยีเครือข่ายต่างๆ ส่งเสริมให้มีการใช้งานหุ่นยนต์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งการเป็นผู้ช่วยในบ้านและผู้ช่วยส่วนตัว ที่มีการคาดการณ์ว่าทั่วโลกจะมีอัตราการใช้หุ่นยนต์ตามบ้าน 14% ในปี 2025
รวมไปถึงการ "ทำงานกับหุ่นยนต์ (Working with Bots)" ซึ่งระบบอัตโนมัติจะเข้ามาช่วยงานที่ต้องอาศัยความแม่นยำสูง การทำงานซ้ำๆ และอันตรายมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งคาดการณ์ว่าในอุตสาหกรรมจะมีหุ่นยนต์ 103 ตัวต่อพนักงานทุกๆ 10,000 คน ในปี 2025 เช่นเดียวกัน
แนวโน้มการใช้ AI และหุ่นยนต์ที่จะถูกหยิบมาใช้กับธุรกิจทั่วทุกมุมโลกเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ ทำให้องค์กรต่างๆ ต้องหันมาพัฒนา เทคโนโลยีเหล่านี้ ที่เปรียบเสมือนเชื้อเพลิงที่ผลักดันให้ธุรกิจเดินหน้าไปตามเป้าหมาย ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ระบุว่าในปี 2560 บริษัท ซีพี ออลล์ หรือ CPALL เป็นหนึ่งในบริษัทที่ลงทุนระบบหุ่นยนต์เข้ามาใช้แทนระบบเครื่องจักรเดิมเพื่อปรับปรุงระบบการผลิตภายในโรงงานทั้งหมด โดยซีพีทำโครงการนำร่องระบบการจัดเก็บสินค้าและเรียกคืนสินค้าอัตโนมัติ (AS/RS) 15,000 แห่ง เพื่อใช้แรงงานน้อยลง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีความถูกต้อง สามารถควบคุมสินค้าคงคลังได้แบบเรียลไทม์ ใช้เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท
แสดงให้เห็นเมื่อ 3 ปีก่อนที่ CPALL จะตัดสินใจ ดำเนินธุรกิจภายใต้การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ การใช้หุ่นยนต์อย่างเป็นทางการในปี 2563 มีการเตรียมความพร้อม และพัฒนาเทคโนโลยีภายในองค์กรมาก่อนแล้ว แม้จะต้องทุ่มเงินลงทุนจำนวนไม่น้อย แต่นี่คือโอกาสการพัฒนาธุรกิจในระยะยาว
CPALL นำ AI และหุ่นยนต์มาใช้เพื่อขับเคลื่อน และบริหารจัดการธุรกิจในมิติต่างๆ เช่น CPF (บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด) ที่ถือหุ้นใหญ่ใน CPALL ได้ทดลองใช้ "หุ่นยนต์เจียวไข่" บริการลูกค้า ที่สามารถทำได้ตั้งแต่การตอกไข่ เหยาะซอส ใส่เครื่องปรุง หยอดน้ำมัน และลงทอด พร้อมโยนไข่และจัดไข่เจียวใส่จานได้อย่างแม่นยำ โดยใช้เวลาทอดประมาณ 5 นาที
ถึงแม้ว่าโมเดลนี้จะยังไม่ถูกนำมาใช้จริง แต่ทดลองทำจริง นำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนา ซึ่งทำให้ในอนาคตหุ่นยนต์สามารถให้บริการเจียวไข่ให้กับลูกค้าได้โดยตรง โดยอาศัยมนุษย์ให้น้อยที่สุด หรือไม่ใช้เลยก็เป็นได้
นอกจากการนำไปใช้แล้ว CPALL ยังใช้กลยุทธ์ในการบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ คล้ายๆ กับโมเดลสร้างบุคลากรที่ต้องการผ่านสถาบันปัญญาภิวัฒน์ และหลักสูตรต่างๆ ที่สร้างบุคลากรที่ต้องการได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น โครงการ "Creative AI Club" หวังการพัฒนา AI จากคนรุ่นใหม่ให้กลายเป็นบุคลากรผู้พัฒนาเทคโนโลยีตามที่อยากให้เป็น ซึ่งจะเป็นรากฐานของการพัฒนาระบบธุรกิจด้วยเทคโนโลยี ที่ทำก้าวต่อไป CPALL บนเส้นทางธุรกิจ ในอนาคตอันใกล้ จึงไม่ใช่การแข่งขันแบบเดิมๆ อีกต่อไป
ล่าสุด ‘ซีพีออลล์’จ่อเสนอขายหุ้นกู้ 4 รุ่น ชูดอกเบี้ย 3-3.4% ต่อปี ซึ่งคาดว่าจะเสนอขายระหว่างวันที่ 21-22, 24-25 และ 28 กันยายนนี้ โดยระบุว่า การออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ เป็นโอกาสของผู้ลงทุนที่แสวงหาการลงทุนในตราสารที่ให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ เนื่องจากเป็นกิจการที่มีความมั่นคงภายใต้อุตสาหกรรมค้าปลีกที่ยังมีศักยภาพในการเติบโตสูง
ซึ่งการจัดอันดับของทริสเรทติ้งที่ระดับ AA- นั้นได้สะท้อนถึงการเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกในไทย และซีพีออลล์ยังตั้งเป้าจะมุ่งสู่การให้บริการผ่านออนไลน์แบบ O2O (Online to Online) ทั้งการให้บริการผ่านออลล์ ออนไลน์ รวมถึงบริการเดลิเวอรี่ของ "เซเว่น อีเลฟเว่น" เพื่อตอบรับกับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคอีกด้วย
- ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านจำหน่ายเครื่องดื่ม มีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว
ในยุคที่ร้านกาแฟ ร้านเครื่องดื่ม ผุดขึ้นหลากหลายแบรนด์พร้อมๆ กันเพื่อสอดรับดีมานด์การดื่มเครื่องดื่มระหว่างวันของคนไทยที่กลายเป็นไลฟ์สไตล์ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
แน่นอนว่า "CPALL" ก็เป็นหนึ่งในผู้เล่นในตลาดนี้เช่นเดียวกัน ทว่า กลยุทธ์การเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายไม่ได้มี "ร้านกาแฟ" แค่ร้านเดียว แต่พยายามกระจายแบรนด์เพื่อเจาะและล้อมตลาดผู้บริโภคหลายกลุ่ม เช่น "ALL Cafe" บริการเครื่องดื่มในร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น กาแฟสดที่ตั้งฐานราคาไม่สูง เข้าถึงง่าย ซื้อได้ 24 ชั่วโมง
"มวลชน" ร้านกาแฟที่กำหนดโพสิชั่นเป็นร้านค้าสร้างอาชีพ เพื่อสังคมและชุมชน ที่จำหน่ายกาแฟสด เครื่องดื่ม อาหารจากผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่รายย่อย "Belinee′s Bake & Brew" (เบลลินี เบค แอนด์ บรู บาย ซีพีออลล์) ร้านเบเกอรี่และเครื่องดื่มเจาะกลุ่มเป้าหมายระดับกลาง เน้นบรรยากาศคาเฟ่ ที่มีทั้งเบเกอรี่ เครื่องดื่ม และอาหารจานเดียว นอกจากนี้ยังพัฒนาแบรนด์ใหม่ๆ ที่มีความพรีเมี่ยมมากขึ้นจับกลุ่มลูกค้าบีบวก ชื่อ "จังเกิ้ล คาเฟ่" (Jungle cafe) และ "อาราบิเทีย คาเฟ่" (Arabitia cafe) ฯลฯ
เมื่อมองย้อนไปถึงเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 2020 "Seven Miles" ได้ใช้งานวิจัยของบริษัทเอง ทำขึ้นจากวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของอุตสาหกรรมกาแฟทั่วโลก วาดภาพเป็นแนวโน้ม หรือทิศทางที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามร้านกาแฟ หรือเอสเพรสโซ บาร์ ของออสเตรเลีย ในปี 2020
ในบทความชิ้นนี้ ระบุว่ามุ่งเน้นไปที่แนวโน้มอันเชื่อว่าจะเป็นพื้นฐานต่อไปในระยะยาว โดยจากการวิจัยล่าสุดของ Allegra World Coffee Portal USA พบว่า กาแฟเย็น รวมไปถึงกาแฟสกัดเย็น (Cold Brew Coffee) มีอัตราการเติบโตที่ระดับ 7.3% ต่อปี เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าของอัตราการเติบโตของกาแฟร้อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 4.6% ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจาก Square Australian Coffee Report ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการขยายตัวในระดับสูงของตลาดกาแฟเย็น
เมนูกาแฟเย็นที่มาแรงแซงทางโค้งนำโด่ง ก็คือ "Cold brew" หรือกาแฟสกัดเย็น วิธีชงกาแฟที่เรียบง่ายแต่ไม่ธรรมดานี้ กลายเป็นที่ชื่นชอบอย่างมากของคอกาแฟในแทบทุกมุมโลก ด้วยกรรมวิธีที่ไม่ซับซ้อน และได้ประโยชน์จากตัวกาแฟมากกว่ากาแฟที่เติมนมและน้ำตาล จึงทำให้ร้านกาแฟหลายร้านหันมาเริ่มต้นทำตลาดกับกาแฟสกัดเย็น และเจาะตลาดผู้บริโภคกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง
เทรนด์เครื่องดื่ม และร้านอาหารที่มีแนวโน้มเติบโตไปได้ในระยะยาว และมีกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ให้บริการค้าปลีกและอาหารรายใหญ่รุกตลาดนี้มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา
น่าจับตาว่า หลังจากที่ CPALL วางวัตถุประสงค์หลักในกลุ่มธุรกิจ ร้านอาหาร และร้านกาแฟ อย่างจริงจังแล้ว จะใช้กลยุทธ์ใดเพื่อรักษาลูกค้าและแบ่งเค้กตลาดเครื่องดื่มเหล่านี้ต่อไปบ้าง
- ธุรกิจขายตรง และตลาดแบบตรง
ธุรกิจขายตรง (Direct Sales) คือ ธุรกิจที่มีระบบการกระจายสินค้าจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค มี 2 รูปแบบ ประกอบด้วย "ธุรกิจขายตรงแบบชั้นเดียว" คือ กระจายสินค้าจากตัวแทนบริษัทไปยังผู้บริโภคโดยตรง ส่วน "ธุรกิจขายตรงแบบหลายชั้น" หรือ ธุรกิจเครือข่าย คือตัวแทนขายจะชักชวนผู้บริโภคให้มาเป็นผู้ขายด้วย ซึ่งการตลาดประเภทนี้ ทุกคนสามารถมาเข้าร่วมทำธุรกิจได้ โดยผู้มีส่วนร่วมในธุรกิจจะได้ผลตอบแทนทั้งจากการขาย และการหาตัวแทนจำหน่ายเพิ่ม
ที่ผ่านมาแม้ CPALL จะไม่ได้เจาะธุรกิจขายตรงอย่างจริงจังนัก แต่ด้วยสภาพแวดล้อมทางการแข่งขันที่รุนแรง นําไปสู่การพัฒนาสินค้าและบริการ รวมไปถึงช่องทางใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินค้าและบริการของบริษัท ผ่านธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่ โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ขยายการลงทุนไปในธุรกิจต่างๆ ที่มีความเชื่อมโยง กับธุรกิจร้านสะดวกซื้อ เพื่อสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ เช่น การรับสั่งสินค้าตามแคตตาล็อก (7-Catalog) การรับชําระ ค่าบริการต่างๆ (Counter Service) และการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าภายในร้าน 7-Eleven ภายใต้เครื่องหมาย การค้าต่างๆ อาทิ Book Smile (หนังสือและสิ่งพิมพ์) Kudsan (เบเกอรี่อบสดและกาแฟสดที่คัดสรรพิเศษ) eXta (ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม) เป็นต้น
หลังจากที่ CPALL แจ้งเพิ่ม "ธุรกิจขายตรง" เป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของการทำธุรกิจ จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า ในอนาคต CPALL จะใช้กลยุทธ์ใดอีกบ้างที่จะช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจไปถึงเป้าหมาย สมบทผู้นำธุรกิจขายตรงอย่างที่พยายามทำในกลุ่มธุรกิจอื่นๆ หรือไม่
การไม่หยุดนิ่งของผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ คืออีกภาพที่สะท้อนว่า "การเปลี่ยนแปลง" และ "การปรับตัว" เป็นทั้งทางรอด และทางรุ่งของธุรกิจยุคใหม่ ไม่มีโมเดลธุรกิจใดที่ถูกล็อกความสำเร็จไว้ได้เมื่อเวลาผ่านไป!