'การบินไทย' จ่อยุบ 'ไทยสมายล์' 7 ปีขาดทุนสะสมหมื่นล้าน

'การบินไทย' จ่อยุบ 'ไทยสมายล์' 7 ปีขาดทุนสะสมหมื่นล้าน

“พีระพันธุ์” เผยฝ่ายการเงินของการบินไทยพร้อมแจงศาลล้มละลายนัด 2 เร่งทำแผนฟื้นฟูทันทีหลังศาลอนุมัติ เตรียมยุบรวมไทยสมายล์หลังขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 56 ขาดทุนสะสม 1 หมื่นล้าน ยืนยันแบกต่อไม่ไหว

ศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 2 ในวันที่ 20 ส.ค.2563 โดยการบินไทยเสนอไต่สวนพยานฝ่ายลูกหนี้อีก 2 ปาก คือ นายนายชาย เอี่ยมศิริ รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน และการบัญชี และบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด ในฐานะผู้ตรวจสอบบัญชีของการบินไทย รวมทั้งจะมีการสืบพยานเจ้าหนี้ผู้คัดค้านที่ 1-10 จำนวน 1 ปาก

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กรรมการการบินไทย เปิดเผย "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า การไต่สวนพยานในวันที่ 20 ส.ค.นี้ จะเน้นการชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเงินและความจำเป็นทางการเงินในการยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งฝ่ายการเงินของการบินไทยได้เตรียมข้อมูลพร้อมที่จะชี้แจงข้อมูลต่อศาล ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในการชี้แจงเพราะส่วนใหญ่เป็นการคัดค้านในประเด็นการเสนอรายชื่อผู้ทำแผนมากกว่า และหลังจากนั้นจะมีการไต่สวนอีก 1 ครั้ง ในวันที่ 25 ส.ค.นี้ เป็นการสืบพยานของผู้คัดค้าน

ทั้งนี้ หากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ทำแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยคาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการ 3 เดือน ซึ่งการฟื้นฟูกิจการการบินไทยจะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงในการบริการงาน โดยจะมีการปรับโครงสร้างบริษัท เพราะการบริหารงานที่ผ่านมาเกิดข้อผิดพลาดในหลายประเด็นและเกิดช่องโหว่ในการบริหาร คือ 

1.การไม่มีเจ้าของบริษัทที่แท้จริงและผู้บริหารในอดีตเข้ามาทำงานที่รับเงินเดือนอัตราสูง

2.การบริหารงานมีปัญหาจากประสิทธิภาพของผู้บริหารในอดีต รวมทั้งผู้ที่เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทยไม่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจการบิน

นอกจากนี้ การฟื้นฟูกิจการการบินไทยจะพิจารณาแก้ปัญหาและอุปสรรคของการบินไทยที่สำคัญ คือ

1.การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินอย่างรุนแรงทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการบินไทยกำหนดทำการบินระหว่างประเทศเป็นหลัก และเมื่อไม่สามารถทำการบินระหว่างประเทศได้จึงกระทบกับผลดำเนินงานมาก ดังนั้น ต่อไปการบินไทยจำเป็นจะต้องพิจารณาทำการบินในประเทศมากขึ้นเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งในขั้นตอนการทำแผนฟื้นฟูกิจการจะมีการพิจารณาประเด็นนี้ เช่น การควบรวมกับสายการบินไทยสมายล์

“ผมเห็นด้วยกับการควบรวม เพราะการบินไทยถือหุ้นในไทยสมายล์ 100% แต่ที่ผ่านมามีการแยกบริหารและแยกคณะกรรมการบริษัท ทำให้การบินไทยเข้าไปควบคุมการบินไทยไม่ได้ รวมทั้งมีการนำผลขาดทุนของไทยสมายล์มาให้กับการบินไทย ดังนั้นเมื่อการบินไทยต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการจึงไม่สามารถแบกรับภาระของผู้อื่นได้” นายพีระพันธุ์ กล่าว

รายงานข่าวจากการบินไทยระบุว่า การบินไทยได้ประเมินผลประกอบการไทยสมายล์แอร์เวย์งวด 6 เดือน สิ้นสุด มิ.ย.2563 ขาดทุนสะสม 10,305 ล้านบาท โดยประเมินว่าโควิดทำให้มีข้อบ่งชี้ที่อาจเกิดการด้อยค่าของเงินลงทุนในไทยสมายล์แอร์เวย์ รวมทั้งคาดว่าจะได้รับคืนของเงินลงทุนต่ำกว่ามูลค่าบัญชี และได้พิจารณาตั้งค่าเผื่อด้อยค่าของเงินลงทุนทั้งจำนวน

ทั้งนี้ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ตั้งเมื่อ 17 ต.ค.2556 ทุนจดทะเบียน 1,800 ล้านบาท การบินไทยถือหุ้น 100% โดยเริ่มทำการบินวันที่ 10 เม.ย.2557 ใช้รหัสสายการบิน WE เริ่มขาดทุนมาตลอดในช่วง7 ปี

159776641053

2.การเพิ่มรายได้ของหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ของแต่ละหน่วยธุรกิจให้เพิ่มมากขึ้น โดยให้แต่ละหน่วยธุรกิจมีอิสระในการสร้างรายได้ ซึ่งเดิมแต่ละหน่วยธุรกิจจะเน้นการทำงานเพื่อรองรับการทำงานของการบินไทยเป็นหลัก แต่ในระยะแรกยังไม่มีการแยกหน่วยธุรกิจออกเป็นบริษัท

สำหรับหน่วยธุรกิจครัวการบินจะต้องเพิ่มการสร้างรายได้จากการสายการบินอื่นมากขึ้น ในขณะที่หน่วยธุรกิจการซ่อมบำรุงอากาศยานจะต้องสร้างรายได้จากการให้บริการสายการบินอื่นเพิ่มขึ้น รวมทั้งจะต้องเพิ่มการจำหน่ายตั๋วโดยสารผ่านระบบออนไลน์ โดยจะยกเลิกการจำหน่ายตั๋วผ่านระบบเอเยนต์แน่นอน เพราะที่ผ่านมาระบบเอเยนต์ทำให้การบินไทยได้ประโยชน์จากการจำหน่ายตั๋วลดลง และการบินไทยต้องให้สิทธิประโยชน์กับเอเย่นต์มาก

นอกจากนี้ การปรับโครงสร้างบริษัทจะอยู่ในแผนฟื้นฟูด้วย ซึ่งจะมีการปรับจำนวนตำแหน่งระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เพราะบางส่วนไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารรวมทั้งมีการกำหนดค่าตอบแทนตำแหน่งในอัตราที่สูง

โดยจะปรับตำแหน่งที่มีลักษณะงานซ้ำซ้อน เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกันเป็นตำแหน่งเดียวกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารและลดค่าใช้จ่ายด้านผลตอบแทนของบริษัท ซึ่งเจอปัญหากลุ่มงานลักษณะเดียวกันแต่มีตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ดูแลถึง 3 คน

“การฟื้นฟูกิจการการบินไทยไม่ยาก เพราะปัญหาอยู่ที่จะทำหนือไม่ทำ ที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้ทำจึงมีปัญหาต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เหมือนปัญหาของสายการบินไทยสมายล์ที่ขาดทุนต่อเนื่องมาตลอดแต่ไม่มีการแก้ปัญหา” นายพีรพันธุ์ กล่าว

นายพีระพันธ์ุ กล่าวว่า หากศาลล้มละลายกลางสั่งให้ทำแผนฟื้นฟูกิจการก็จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ในการจัดทำแผน และกฎหมายกำหนดให้การบริหารแผนฟื้นฟูกิจการมีเวลา 5 ปี แต่ไม่ได้หมายความว่าการเมื่อครบ 5 ปี จะจ่ายหนี้คืนเจ้าหนี้ได้ทั้งหมด

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการบินไทยได้เจรจากับเจ้าหนี้เกี่ยวกับการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยเจ้าหนี้ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับกระบวนการนี้และมีเจ้าหนี้เพียง 1-2% ที่คัดค้านการฟื้นฟูกิจการ

เจ้าหนี้เครื่องบินจะเป็นหน้าที่การเจรจาของบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษากฎหมายของการบินไทย

ส่วนการเจรจากัเจ้าหนี้สถาบันการเงินเป็นหน้าที่ของนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย ซึ่งหนี้สินส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงินในประเทศ

รายงานข่าวจากการบินไทย ระบุว่า เจ้าหนี้เครื่องบินมีทั้ง 43 ราย ดำเนินการจรจาครบทุกรายแล้ว ส่วนเจ้าหนี้สถาบันการเงินในประเทศมี 18 ราย รวมกระทรวงการคลังด้วย ซึ่งเจ้าหนี้ส่วนนี้การบินไทยเจรจาครบแล้วทุกราย และมีการเจรจากับซีอีโอของสถาบันการเงินบางแห่งอีกรอบด้วย

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า การไต่สวนนัดของศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหนี้ตั้งคำถามเกี่ยวกับบริษัทอีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดทุนจดทะเบียนของบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ทำแผนและบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ

“บริษัทอีวายฯ ได้รับการว่าจ้างเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการตั้งแต่ผมยังไม่เข้ามาเป็นกรรมการการบินไทย ซึ่งการคัดเลือกในขณะนั้นคณะผู้คัดเลือกมั่นใจว่าบริษัทอีวายฯ สามารถทำแผนฟื้นฟูกิจการได้”นายพีระพันธุ์ กล่าว

รายงานข่าวระบุว่า การไต่สวนครั้งแรกมีเจ้าหนี้ 16 ราย ที่ยื่นคัดค้านได้ส่งตัวแทนซักถามพยานฝ่ายลูกหนี้ โดยประเด็นที่ถูกสอบถามมาก คือ การตั้งบริษัทอีวายฯ เป็นคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการเพราะไม่มีประสบการณ์การทำแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทและต้องมาทำแผนฟื้นฟูกิจการธุรกิจระดับแสนล้านบาท รวมทั้งเป็นคนละบริษัทกับบริษัทอีวาย ผู้ตรวจสอบบัญชีระดับโลก