ผ่าแผน “อาร์เอส”ยุคใหม่ ฝ่าดิสรัป.!สู่เป้าหมื่นล้าน
อะไรคือ "อาร์เอส" ยุคใหม่ ถอดคำ "เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์" แม่ทัพใหญ่ กับภารกิจทรานส์ฟอร์มองค์กรให้แกร่ง เร่งเสริมกระดูกเหล็กโมเดลธุรกิจ "เอ็นเตอร์เทนเมิร์ซ"ทะยานสู่การเติบโตท่ามกลางกระแสดิสรัปชั่น
นับตั้งแต่เกิดกระแสเทคโนโลยี ดิสรัปชัน หลายธุรกิจปั่นป่วนจนต้อง “ปรับตัว” เพื่อให้อยู่รอด หนึ่งในเซ็กเตอร์ที่เผชิญพายุดิสรัปชันถาโถมคือ “ธุรกิจเพลง” ไม่เพียงมีเทปผีซีดีเถื่อนสะเทือนผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจถูกกฎหมาย เมื่อเข้าสู่ยุคการดาวน์โหลด MP3 กระทั่งฟังเพลงออนไลน์ ทำให้การหารายได้จากปั้นศิลปิน แต่งเพลง ทำเพลงออกมา ไม่เพียงพอต่อการอยู่รอด
องค์กรจึงต้องพลิกสูตรรบใหม่ หนึ่งในค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย ต้องมีชื่อ “อาร์เอส” ซึ่งวันนี้ย่างเข้าสู่วัย 40 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาว ล้มลุกคลุกคลาน เติบโต ปัจจุบันยังคง “ไม่หยุดนิ่ง” ปรับกระบวนท่าทางธุรกิจเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ!
ย้อนไป 39 ปีก่อน ค่ายเพลงเล็ก “โรสซาวด์ มิวสิค”(Rose Sound) ก่อตั้งขึ้นจากพี่น้องตระกูล “เชษฐโชติศักดิ์” ที่ควักเงิน 50,000 บาท ปลุกปั้นธุรกิจเพลง ก่อนที่ชื่อดังกล่าวจะถูกเปลี่ยน(Rebranding) เป็น “อาร์เอส โปรโมชั่น” ตลอดเส้นทางบริษัทรีแบรนด์รวม 9 ครั้ง ขณะที่ล่าสุดเป็นครั้งที่ 10 ดึงดีไซนเนอร์ระดับโลกมารีแบรนด์ใหม่ เพื่อรองรับก้าวสำคัญของ “อาร์เอสกรุ๊ปยุคใหม่” ที่มีธุรกิจหลากหลาย!
สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์
“ผมก่อตั้งอาร์เอสตั้งแต่อายุ 19 กับพี่ชายด้วยเงิน 50,000 บาท จนวันนี้สร้างรายได้หลายพันล้าน มูลค่าบริษัทนับหมื่นล้าน แต่เราไม่เคยหยุดนิ่งที่จะเรียนรู้ พัฒนา ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เราเปลี่ยนแปลงก่อนที่ดิสรัปชันจะเป็นคำฮิต” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด(มหาชน) หรืออาร์เอสกรุ๊ป ฉายภาพการขยับตัวขององค์กรที่เกิดขึ้นตลอดเวลา
หากแบ่งอาร์เอสเป็น 3 ยุค ยุคแรกเผชิญสถานการณ์ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ซึ่งอาร์เอสเปรียบเป็น “ปลาเล็ก” ที่ทำทุกวิถีทางเพื่ออยู่รอด กำหนดกลยุทธ์ไม่ให้ถูกกินก่อนจะโต
ยุคที่สอง ปี 2535 บริษัทเริ่มใหญ่ การแข่งขันปลาเร็วกินปลาช้า อาร์เอสที่ใหญ่วันนั้นต้องขยับตัวเร็วด้วย และยุคที่สาม เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาและมองการณ์ไกล“อนาคต” เป็นยุค “ปลาฉลาดกินทุกปลา”
“องค์กรเป็นปลาเล็กหรือใหญ่ไม่สำคัญ เพราะเรากำลังอยู่ในยุคปลาฉลาด ที่ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ หากโง่ ล้วนถูกกินได้” เราไม่ต้องการถูกกลืนกินจากโลกธุรกิจการค้า จึงเห็นบริษัทปรับเปลี่ยน และไม่ใช่แค่โลโก้ แต่รวมถึงยกเครื่ององค์กรใหม่หมด สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ จัดโครงสร้างผู้บริหารใหม่ให้เคลื่อนตัวเร็ว (Agile) มากขึ้น กำหนดวัฒนธรรมองค์กรใหม่ คัดสรรทีมงานที่มีวิธิคิดใหม่ (Mindset) รวมถึงที่ทำงานใหม่บนเนื้อที่ 16 ไร่ บนถนนประเสริฐมนูกิจ ทั้งหมดรับพันธกิจปี 2563 ที่สำคัญมากต่อการขับเคลื่อนอาร์เอสสู่ยุคใหม่
ชาคริต พิชญางกูร - ปริญญ์ หมื่นสุกแสง - นงลักษณ์ งามโรจน์ - สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ -พรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล - สุกฤช สุขสกุลวัฒน์
การพลิกภาพใหญ่หรือทรานส์ฟอร์มองค์กรของอาร์เอส ได้สลัดองค์กรที่หารายได้จากธุรกิจเพลงในอดีต ทำเงิน 95% ไปสู่การค้าปลีกสินค้าและบริการทุกประเภทที่ตอบโจทย์แรงบันดาลใจ เติมเต็มความสะดวกสบายของไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค
ทว่า ธุรกิจบันเทิงเป็นธุรกิจหลัก บริษัทมีจุดแข็งด้าน “สินทรัพย์” จากศิลปิน เพลง คอนเทนท์ งานสร้างสรรค์(Creative) การตลาด สื่อทีวี วิทยุ ฯ จึงต่อยอดสู่ “เอ็นเตอร์เทนเมิร์ซ”(Entertainmerce) ทุกอย่างแปลงเป็น “สินค้า” เพื่อขายให้กับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายผ่านโทรทัศน์ช่อง 8 และพันธมิตรช่องอื่นๆรวม “ฐานลูกค้า” (Active users) 1.4 ล้านคน และขยายสร้างฐานผ่านวิทยุ ออนไลน์ ต่อเนื่อง
5 ปีของการทรานส์ฟอร์มธุรกิจเพลง สื่อ สู่ค้าปลีก “สุรชัย” ยังเชื่อว่า “โอกาส” ยังมีอีกมากให้ไขว่คว้า หากแต่จะรุกตลาดไหนต้องดูจังหวะที่ใช่! แผนธุรกิจเดิมจะเห็นการบุกตลาดยาสีฟันเซ็กเมนต์พรีเมียม จัดคอนเสิร์ต อีเวนท์ มุ่งทำรายได้รวมแตะ 5,000 ล้านบาท แต่เหตุการณ์ช็อกโลก! จากโควิด-19 ส่งผลให้ต้องแก้เกมใหม่ และปรับเป้ารายได้อยู่ที่ 4,200-4,300 ล้านบาท
กลยุทธ์ที่จะสร้างปรากฎการณ์ให้ “อาร์เอส” ปีนี้มีไฮไลท์ ได้แก่ อาร์เอสมอลล์ ที่สร้างความแข็งแกร่งให้อีโคซิสเทม มีสินค้าใหม่จาก “ไลฟ์สตาร์” ซึ่งทำรายได้ราว 60% ของพอร์ตโฟลิโอ ผนึกทีวีช่องต่างๆขายสินค้า บริการรับออเดอร์ แพ็ค จัด ส่ง และมีขุมทรัพย์ข้อมูลและเสียง เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค
“ศิลปิน” สินทรัพย์ทรงพลัง และเป็นแพลตฟอร์มที่มีชีวิต “สุรชัย” ประกาศผนึกกำลังปั้นแบรนด์สินค้าบุกตลาดเป็น “สตาร์คอมเมิร์ซ” ประเดิม ใบเตย อาร์สยาม รุกตลาดเครื่องสำอางแบรนด์ BT Cosmetics ทั้งนี้ ศิลปินที่จะผันตัวเป็นเจ้าของสินค้า ไม่ใช่แค่มีความสามารถร้อง เต้น เล่นละคร แต่ต้องมี “ฐานแฟนคลับ” และคาแรคเตอร์ที่ชัดเจน เพื่อต่อยอดการทำตลาดได้
การรุกตลาดอาหารสุนัขและแมว ซึ่งเกิดจาก Insight ของ “สุรชัย” ที่เลี้ยงสุนัขได้ 5 ปี และพบว่าผู้บริโภคใช้อารมณ์ในการตัดสินใจซื้อสูง ยิ่งกว่านั้นตลาดดังกล่าวมีมูลค่า 20,000-30,000 ล้านบาท เติบโต 10% ตลอด 10 ปี
“คนป่วยรอได้ แต่สุนัขป่วยรอไม่ได้ หาหมอแต่ละครั้งใช้เงินหลักหมื่น หรือการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดราคา 700-800 บาท ส่วนคนใช้แชมพูราคา 200 บาท” เขาเทียบขุมทรัพย์การตลาด
นอกจากนี้ กระโดดชิงส่วนแบ่งตลาดผลิตภัณฑ์ “รังนก” หมื่นล้านบาท ซึ่งผู้บริโภคมีความต้องการสูงมาก สวนทาง “ซัพพลาย”ไม่พอ
ทว่า โปรเจคใหญ่คือการ “คืนชีพ” ธุรกิจเพลงให้ผงาดอีกครั้งจาก 3 ค่ายเพลง “อาร์สยาม” จะยกระดับเพลงลูกทุ่ง “กามิกาเซ่” จะทวงบัลลังก์ค่ายเพลงวัยรุ่นในมิติใหม่ และการกลับมาของ “โรสซาวด์”ปลุกศิลปินไอคอนดังในอดีตให้โลดเล่นอีกครั้ง
“คนพูดถึงกันมากว่าอาร์เอสจะเลิกทำเพลง แต่วันนี้เชื่อว่าด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ และการกลับมาค่ายเพลงจะทำให้ธุรกิจกลับมาโตอีกครั้งในปีหน้า” โดย “สุรชัย” คาดหวังเห็นเส้นการเติบโตใหม่(S-curve) เหมือนกับธุรกิจวิทยุ “คูลลิซึ่ม” ด้วย ซึ่งมีแม่น้ำ 3 สาย หวังโต “เท่าตัว” จากต่อยอดฐานคนฟังวิทยุหลัก “ล้านราย” ชู “คูลไลฟ์” บุกอีเวนท์ จัดคอนเสิร์ตปีหน้า 10 งาน และดึงคอนเสิร์จต่างประเทศมาจัด และลุยชอปปิงออนไลน์
ขณะที่ธุรกิจทีวีดิจิทัล ช่อง 8 พยายามรักษา “เรทติ้ง” เกาะกลุ่มผู้นำ ดึงรายได้โฆษณา หรือสปอนเซอร์ 40% การจัดอีเวนท์ 10% การขายลิขสิทธิ์ 15% และเอ็นเตอร์เทนเมิร์ซ 35%
แผนดังกล่าว “สุรชัย” ต้องการผลักดัน“อาร์เอส กรุ๊ป” ยุคใหม่ ให้มีรายได้แตะ “หมื่นล้านบาท” ซึ่งตั้งเป้าไว้หลายปีแล้ว
“เฮียไม่กลัวการดิสรัปเลย เพราะจริงๆ เราไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อย่างโควิด-19 เป็นดิสรัปชันหนึ่ง วิธีการเฮียคือเตรียมองค์กรให้พร้อม ทำสิ่งที่เรารู้ดีกว่านั่งคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น”