ซามูไรพับดาบ มังกรผงาด พอร์ตอสังหาฯไทยสะเทือน

ซามูไรพับดาบ มังกรผงาด พอร์ตอสังหาฯไทยสะเทือน

ผ่านพ้นช่วงฮันนีมูนหวานชื่น คู่ธุรกิจอสังหาไทย-ญี่ปุ่นรุกตลาดอสังหาฯ 4 แสนล้าน เข้าสู่มรสุมโควิดฉุดทุนญี่ปุ่นแตะเบรกลดลงทุนกว่า 3 หมื่นล้าน สวนทางมังกรจีนสปีดลงทุนอสังหาฯในไทยกว่า 5 หมื่นล้าน บทพิสูจน์โมเดลธุรกิจรอดไวรัสร้าย

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจนักลงทุนไทยและญี่ปุ่นผูกพันกันมายาวนานเกินกว่า 4 ทศวรรษ เริ่มตั้งแต่ ยุคพัฒนาอุตสาหกรรม มีการเข้ามาลงทุนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ โรงงานผลิตจึงเต็มไปด้วยนักลงทุนญี่ปุ่น ขึ้นชั้นเบอร์1 นักลงทุนต่างชาติในไทย จนในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาเข้าสู่ยุคทองธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไทย สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลญี่ปุ่นมุ่งส่งเสริมให้นักธุรกิจญี่ปุ่น“ยกทัพ”ออกไปลงทุนหาผลตอบแทนนอกประเทศ ทำให้ธุรกิจในญี่ปุ่นต่างขนเงินออกมาลงทุนนอกประเทศเพื่อสร้างผลตอบแทนกลับไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้เติบโต โดยภูมิศาสตร์ไทย "ศูนย์กลาง" ภูมิภาคอาเซียนเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางแรกดึงดูดทุนญี่ปุ่นมาปักธง

สุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด มองการยกทัพนักลงทุนยักษ์จากญี่ปุ่นเข้ามารุกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยการหาผู้ร่วมทุนไทยมายาวนานกว่า 8 ปี หรือ ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งเป็นช่วงที่การพัฒนาอสังหาฯ ของไทยกำลังเติบโตมีโครงการพัฒนาขึ้นจำนวนมาก จนปัจจุบันมีทุนญี่ปุ่นเข้ามาทั้งแบบโครงการร่วมทุนจัดตั้งบริษัทเพื่อพัฒนา และร่วมพัฒนาจำนวนหลายโครงการ

159810408830

*สุรเชษฐ กองชีพ

ประกอบกับเป็นช่วงที่ไทยกำลังมีแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ากว่า 10 สาย เป็นตัวเร่งให้เกิดโครงการที่พักอาศัยตามแนวรถไฟฟ้า ทั้งหมดคือ “แม่เหล็ก” ดึงดูดทุนจากแดนปลาดิบ ยกทัพ”ธุรกิจอสังหาฯ ทั้งคลัสเตอร์ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น เทคโนโลยี วิศวกรรม ออกแบบอาคาร การพัฒนาเมือง เข้ามาในไทย

ส่วนผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาฯไทยก็พร้อม "อ้าแขน" ต้อนรับซามูไร เพราะ เงินทุน” จากญี่ปุ่นเป็น จิ๊กซอว์” เพิ่มพลังทำให้นักอสังหาฯไทย กล้ารุกขยายสเกลพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ทั้งรายใหญ่และรายเล็กมีโอกาสเติบโตมากกว่าและความเสี่ยงน้อยกว่า เดินคนเดียว”  

“ทุนญี่ปุ่นมีฐานะการเงินที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง เข้ามาช่วยลงทุน เงื่อนไขแบ่งปันผลตอบแทนจากกำไรตามสัดส่วนการลงทุน เป็นการช่วยลดต้นทุนพัฒนาโครงการ โดยไม่ต้องขอสินเชื่อจากธนาคาร จึงช่วยลดต้นทุนการเงิน ไม่มีอัตราดอกเบี้ย จึงทำให้อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลง”

ทั้งนี้จากวันที่เริ่มปักหมุดหมายเข้ามาจับคู่พัฒนาอสังหาฯ ไทยตั้งแต่ปี 2556 จนถึง ปัจจุบันมีการพัฒนาโครงการร่วมทุนระหว่างไทย-ญี่ปุ่นมูลค่ารวมประมาณ 400,000 ล้านบาท นักพัฒนาอสังหาฯไทยที่ติดอันดับร่วมทุนมากที่สุด 4 อันดับแรก ประกอบด้วย

1. บมจ. อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ร่วมทุนกับ มิตซุย ฟูโดซัง พัฒนาโครงการมูลค่ารวม 142,400 ล้านบาท จำนวน 34 โครงการ ,2.บมจ. เอพี (ไทยแลนด์) ร่วมทุนกับมิตซูบิชิ เอสเตท เรสซิเดนซ์ พัฒนาโครงการมูลค่ารวม 89,430 ล้านบาท จำนวน 18 โครงการ ,3.บมจ. ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ร่วมทุนกับ โนมูระ เรียลเอสเตท ดีเวลล็อปเมนท์ มูลค่าโครงการรวม 38,550 ล้านบาท และ4. บมจ.เสนา ดีเวลล็อปเม้นท์ ร่วมทุนกับฮันคิว ฮันชิน พร๊อพเพอร์ตี้ คอร์ปเปอเรชั่น มูลค่าโครงการรวม 27,570 ล้านบาท

159810411166

นอกจากนี้ ยังมีการร่วมทุนเป็นรายโครงการ อาทิ พร็อพเพอร์ตี้เพอร์เฟค จับมือกับเซกิซุยและซูมิโตโม, แสนสิริ จับมือกับ โตคิว คอร์ปอเรชั่น ส่วนรายกลางและรายเล็ก ก็เข้ามาจับคู่กับไซส์กลางในไทย เช่น ฮาบิแทท จับมือกับ ลิสต์ กรุ๊ป (List Group)

อย่างก็ตาม หลังจากประเทศญี่ปุ่นยังเผชิญกับมรสุมวิกฤติเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) เช่นเดียวกับในไทย ซึ่งแม้สถานการณ์โควิดในไทยจะคลี่คลาย ทว่าไทยยังไม่เปิดน่านฟ้าการบินระหว่างประเทศ จากอุปสรรคในการเดินทาง บวกสถานการณ์โควิด ทำให้ทุนญี่ปุ่นบางราย จำเป็นต้องแตะเบรกแผนเปิดตัวโครงการใหม่ ในปี 2563 เน้นบริการยอดขายที่รอรับรู้รายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์ (แบ็คล็อก) เป็นต้น

**มังกรจีนพ่นไฟ ผุดบิ๊กโปรเจคท้าโควิด

ทว่าในระหว่างที่พิษโควิดเล่นงานเศรษฐกิจแดน ซามูไร” แต่ฟาก นักลงทุนจากแดนมังกร” กลับเร่งฝีเท้าสปีด เปิดโครงการขนาดใหญ่ในไทย มูลค่าลงทุนรวมกว่า 50,000 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท ริสแลนด์(ประเทศไทย)จำกัด ธุรกิจสัญชาติฮ่องกง ในเครือบริษัทแม่คือ คันทรี่ การ์เดนท์ พร็อพเพอร์ตี้ ทุนอสังหาฯจีนแผ่นดินใหญ่ 

ริสแลนด์ได้เดินหน้าประกาศลุยเปิดตัวโครงการขนาดใหญ่ในปีนี้(2563) 4 โครงการ มูลค่ากว่า 30,400 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.คลาวด์ เรสซิเดนซ์ สุขุมวิท 23 คอนโดมิเนียม มูลค่า 3,600 ล้านบาท 2.สกายไรซ์ อเวนิว สุขุมวิท 64 เฟสแรก คอนโดมิเนียม 4 อาคาร มูลค่า16,000 ล้านบาท 3.เดอะ ลิฟวิ่น รามคำแหง คอนโดมิเนียม 1,938 ยูนิต มูลค่า 5,000 ล้านบาท และ 4 วิลล่า ลักชัวรี่ โฮเทล รีสอร์ท จ. ภูเก็ต โครงการมิกซ์ยูส โรงแรม วิลล่า และ คอนโดมิเนียม เฟสแรก มูลค่า 5,800 ล้านบาท

นักลงทุนจีนอีกรายที่สปีดลงทุนหนักในไทย คือ ไฮไชน์ ดีเวลลอปเม้นท์ กรุ๊ป จำกัด เข้ามากว้านซื้อตุนที่ดินสะสมไว้ประมาณ 126 ไร่ รองรับการพัฒนา 5 โครงการในเวลา 2 ปี (2562-2563) เปิดตัวไปแล้ว 4 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 22,500 ล้านบาท ได้แก่ รีเกิล สาทร-นราธิวาส มูลค่า 1,500 ล้านบาท ,รีเกิล บางนา มูลค่า 1,300 ล้านบาท,รีเกิล สุขุมวิท 76 มูลค่า 16,000 ล้านบาท และรีเกิล ศรีนครินทร์ 40 มูลค่า 1,200 ล้านบาท และที่ดินที่มีอีก 100 ไร่ ตั้งอยู่ย่านสุวรรณภูมิมีแผนจะเข้าไปพัฒนาโครงการมิกซ์ยูส

นอกจากนี้ ยังมีโครงการร่วมทุนที่เข้าไปจับมือกับผู้ประกอบการอสังหาฯไทยรายเล็กๆ อาทิ บมจ. ณุศาศิริ จำกัด ร่วมทุนกับ ริสแลนด์ และ บมจ. ชาญอิสสระ ดีเวลลอปเม้นท์ ร่วมมือกับกลุ่มจุนฟา

ท่ามกลางเศรษฐกิจฟุบ ริสแลนด์” มองต่างสวนกระแสตลาดเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของกำลังซื้อจากนักลงทุนจากต่างประเทศที่วิ่งนำหน้าคนอื่นเสมอ โดยเฉพาะชาวจีนกระเป๋าหนักในจีน ฮ่องกง และไต้หวัน ที่มีเงินเย็น จีงเป็นเวลา ”ชอปปิง” สินค้าราคาถูก  โดยใช้เมืองไทยเป็นหลุมหลบภัย”นำเงินมาพัก (Safe Haven) โดยเฉพาะชาวฮ่องกงบางราย ที่ต้องการกระจายความเสี่ยงเมื่อฮ่องกงต้องกลับมาอยู่ภายใต้จีนแผ่นดินใหญ่

อย่างไรก็ตาม สุรเชษฐ ก็ยังมองว่าแม้ทุนจีนจะรุกหนักแต่ มีวิถีการพัฒนาของดีเวลลอปเปอร์ร์ชาวจีนนั้นแตกต่างจากญี่ปุ่น ภาพลักษณ์ญี่ปุ่นมีคุณภาพกว่า และมีการเข้ามาจับมือร่วมทุนแบบเพื่อนพันธมิตรทำ JV (Joice Venture) ทำธุรกิจร่วมกันระยะยาวมุ่งเน้นการหาพันธมิตรและถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนา จากบริษัทที่มีอายุยาวนานกว่า 100 ปี แต่ไม่ได้ช่วยทำตลาด ขณะที่จีนมีทุนหนาสามารถเข้ามาเดี่ยว หรือสามารถร่วมทุนกับบริษัทอสังหาฯขนาดเล็ก และส่วนใหญ่จะพัฒนาเองตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่ก่อสร้าง ทำตลาดจนถึงหาลูกค้า

สิ่งที่น่าห่วงคือ เมื่อจีนเปิดโครงการจำนวนมากเพื่อรองรับลูกค้าชาวจีน เป็นหลัก โดยกฎหมายไทยกำหนดให้ต่างชาติเป็นเจ้าของคอนโดมิเนียมได้สัดส่วน 49% หากคอนโดมิเนียมเต็มไปด้วยลูกค้าชาวจีนถือครอง อาจจะทำให้ผู้ซื้อชาติอื่นรวมถึงไทยชะลอการตัดสินใจซื้อเพราะจีนมักจะนำห้องไปปล่อยเช่ารายวัน ดังนั้นยอดขายสัดส่วนที่เหลืออีก 51% อาจปล่อยขายไม่ได้ในที่สุดก็กลายเป็นตึกร้าง

สุรเชษฐ ยังกล่าวต่อว่า นักลงทุนญี่ปุ่นยังถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในธุรกิจอสังหาฯ มีสัดส่วนสูงที่สุดเทียบกับนักลงทุนอสังหาฯต่างชาติรายอื่น โดยญี่ปุ่นมีสัดส่วนประมาณ 73% ของมูลค่าโครงการที่ร่วมทุนกับต่างชาติทั้งหมดประมาณ 570,000 ล้านบาท จึงเป็นจุดที่น่าสังเกตคือการเติบโตการลงทุนของนักลงทุนจีนอย่างรวดเร็วในช่วง 3-4 ปี ในขณะที่โควิดฉุดให้ทุนญี่ปุ่นเริ่มชะลอ แต่พอร์ตใหญ่ยังเป็นญี่ปุ่นพราะเข้ามาปักธงก่อนจีน

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ ยังคงมีบริษัทต่างชาติอีกหลายบริษัทที่เปิดตัวร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทย บริษัทจากญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอันดับหนึ่ง มีทั้งเคยร่วมทุนกับต่างชาติและไม่เคยร่วมทุน อาทิ บริษัท ธนาสิริ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมทุนกับอนาบูกิ โคซัน กรุ๊ป จากญี่ปุ่น ,กลุ่มบริษัทเอ็นริช ร่วมทุนกับบริษัท ไซบุแก๊ส จำกัด จากญี่ปุ่น

**พอร์ตทุนญี่ปุ่นวูบเกือบ3หมื่นล้านบาท

ภัทรชัย ทวีวงศ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยบริษัทคอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงภาพรวมการเข้ามาร่วมทุนของนักลงทุนต่างชาติในปี 2562  พบว่า มีการเข้ามาร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการอสังหาฯไทย มูลค่ารวมกว่า 119,900 ล้านบาท นักลงทุนที่ลงทุนมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น สัดส่วน 68.8% รองลงมาคือ จีน ฮ่องกง และสิงคโปร์

159810408852

*ภัทรชัย ทวีวงศ์

สำหรับในปีนี้ หากไม่มีสถานการณ์โควิดคาดว่านักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนอสังหาฯมูลค่ารวม 120,000 ล้านบาท แบ่งเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่นมูลค่า 60,000 ล้านบาท แต่โควิดทำให้การลงทุนต่างชาติหายไปประมาณ 40% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 24,000 ล้านบาท มีโครงการร่วมทุนกับประเทศญี่ปุ่น เหลือเพียงแค่ประมาณ 36,000 ล้านบาทเท่านั้น

โดยโครงการที่คาดว่าจะเปิดตัว ประกอบด้วย โครงการร่วมทุนระหว่าง บมจ. เอสซี แอสเสท กับ Nishitetsu Group (NNR) พัฒนาโครงการ เดอะ เครสท์ พาร์ค เรสซิเดนซ์ มูลค่า 3,500 ล้านบาท, บมจ. เอพี (ไทยแลนด์) ร่วมทุนกับมิตซูบิชิ เอสเตท เรสซิเดนซ์ (บริษัทในเครือมิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป – MECG) รวมทั้งสิ้น 3 โครงการ มูลค่า 18,300 ล้านบาท ภายใต้แบรนด์ THE ADDRESS, RHYTHM, และ LIFE และ บมจ. เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ร่วมทุนกับกลุ่มบริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป จำนวน 5 โครงการ มูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท เป็นต้น

นอกจากนี้ยังเห็นภาพนักพัฒนาอสังหาฯไทยร่วมทุนกับนักลงทุนญี่ปุ่นเริ่มแบกสต็อกในมือมากขึ้น โดยพบว่า โครงการร่วมทุนก่อสร้างเสร็จและพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ มีจำนวน 29,874 ยูนิต และคาดว่าจะสร้างเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ในปีนี้เพิ่มอีกกว่า 8,000 ยูนิต ซึ่งเป็นผลมาจากการ "จุดพีค"(Peak) การขายคอนโดมิเนียมใน 3 ปีที่ผ่านมาส่งผลทำให้เกิดการร่วมทุนในหลายโครงการ แต่อัตราการดูดซับชะลอตัวจากโควิด  ส่งผลให้เกิดความกดดันและลำบากใจจากนักลงทุนญี่ปุ่น เกิดกระแสข่าวนักลงทุนญี่ปุ่นบางรายต้องการชะลอลงทุนในไทย 

ท่ามกลางกระแสข่าวดังกล่าว ล่าสุด บมจ. อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ออกมาแจงสื่อว่า "มิตซุย ฟูโดซัง" ยังคงเป็นพันธมิตรในการพัฒนาโครงการอสังหาฯกับอนันดา แม้ก่อนหน้านี้ เมื่อจะมีการชะลอการเปิดโครงการร่วมทุน ไอดีโอ พหลฯ-สะพานควาย มูลค่าหลักหมื่นล้านบาท จากสถานการณ์เศรษฐกิจ ฉุดกำลังซื้อ ที่ชะลอตัว ก็ตาม

“ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเกิดโครงการร่วมทุนมากขึ้น จนมีสต็อกในหลายหมื่นยูนิต ขณะที่ผู้ร่วมทุนคนไทยก็มีทั้งโครงการร่วมทุนและโครงการที่พัฒนาเอง ต้องแข่งขันกันทำตลาดภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่กำลังซื้อชะลอตัว ทำให้โครงการร่วมทุนมียอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทำให้ผู้ร่วมทุนบางรายปรับแผนชะลอลงทุน และบางรายเปลี่ยนความสนใจจากการร่วมลงทุนในตลาดคอนโด เป็นอสังหาฯในรูปแบบอื่น เช่น ตลาดแนวราบ เป็นต้น”

 

**พ้นฮันนีมูน สู่วิกฤติโควิด คู่ธุรกิจแดนซามูไรยังอยู่ หรือ เลิกรา

ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับมิตซุย ฟูโดซัง อสังหาฯยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น ที่รู้จักกันมาเกือบ 10 ปี เริ่มจีบทำความรู้จักกันมาตั้งแต่ปี 2555 จนกระทั่งแต่งงาน ลงเรือร่วมปักธงธุรกิจในไทยโครงการแรก ในปี 2556 จนปัจจุบันมีการพัฒนาโครงการร่วมกันทั้งสิ้นกว่า 34 โครงการ มูลค่ารวม 1.4แสนล้านบาท

แบ่งเป็นโครงการรถไฟฟ้า 29 โครงการ จำนวน 23,000 ยูนิต มูลค่า 87,921 ล้านบาท และโครงการเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์อีก 5 โครงการ และยังคงมีแผนพัฒนาโครงการเพื่อรองรับหลังวิกฤติโควิด

159810408731

ชานนท์ เรืองกฤตยา

ในช่วงวิกฤติจึงเป็นช่วงปรับโครงสร้างองค์กรบริหารจัดการภายใน ชะลอโครงการพัฒนาคอนโดมิเนียม เพราะยังห่วงเศรษฐกิจและกำลังซื้อยังไม่ฟื้นเมื่อยังไม่มีการเปิดน่านฟ้าเดินทาง ยังเก็บแลนด์แบงก์ที่ถือในมือมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท ตามแนวรถไฟฟ้าเพื่อรอพัฒนา 9 โครงการ โดยมุ่งเน้นการระบายสต็อกเร่งโอนแบ็คล็อกที่มีในมือให้ได้ตามเป้าหมาย 2หมื่นล้านบาทในไตรมาส 3 ปีนี้

“สถานการณ์ของโควิด-19 ส่งผลกระทบไปทั่วโลก แต่บางประเทศเริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ก็ยังคงต้องเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา”

ชนินทร์ วานิชวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮาบิแทท กรุ๊ป จำกัด ร่วมทุนกับ ลิสต์ กรุ๊ป (List Group) ผู้เชี่ยวชาญอสังหาฯจากประเทศญี่ปุ่น พัฒนา 2 โครงการ วาลเด้น ทองหล่อ 8 กับทองหล่อ 13 ถือเป็นโครงการที่วางแผนมาแล้วก่อนหน้านี้จึงยังคงเดินหน้าต่อไป

เขามองว่า ญี่ปุ่นไม่สามารถเดินทางมาได้ และเศรษฐกิจในประเทศยังเผชิญกับมรสุมลูกใหญ่ให้จัดการแก้ไขปัญหาภายใน จึงอาจจะมีการชะลอโครงการใหม่ที่จะเริ่มลงนามทำสัญญาในปีนี้ แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นเพียงระยะสั้นที่ทั่วโลกกำลังไม่ไว้วางใจว่าจะเกิดการระบาดโควิดอีกรอบหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นและไทย ถือเป็นคู่พันธมิตรการลงทุนที่มีความลงตัวมีวัฒนธรรม การให้เกียรติ การมองระยะยาว และทิศทางการลงทุนที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด หลายสิ่งทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการสร้างบ้านได้ถ่ายทอดองค์ความรู้มาให้กับไทย จึงเชื่อว่า ญี่ปุ่นจะยังคงรักษาพอร์ตการลงทุนใหญ่ เพราะเข้ามาลงทุนในไทยมายาวนาน จึงรู้จักคนไทยดีและยังลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง

ด้านวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) มองว่า ญี่ปุ่นเป็นชาติที่กว่าจะตัดสินใจวางแผนการลงทุนต้องใช้เวลานาน และเมื่อตัดสินใจไปแล้วก็ไม่เปลี่ยนใจง่ายๆ เพราะญี่ปุ่นเป็นชาติที่มุ่งเน้นการวางแผนระยะยาว จึงทำให้บริษัทของญี่ปุ่นมีอายุยาวนานกว่า 100 ปีเพราะมีวิสัยทัศน์มองระยะไกล

สำหรับโครงการร่วมทุนในปีนี้ จะมีการพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยว “Lake Forestry” ซึ่งจะเปิดภายใต้แบรนด์ เพอร์เฟค พาร์ค ราชพฤกษ์ตัดใหม่ และเพอร์เฟค เพลส ราชพฤกษ์ ตัดใหม่ รวมมูลค่าโครงการ 3,900 ล้านบาท

ส่วนบมจ. เอพี (ไทยแลนด์) มีโครงการร่วมทุนพัฒนาโครงการในปี 2562 จำนวน 4 โครงการ มูลค่า 23,000 ล้านบาท และในปีนี้ต้องอยู่ระหว่างการมอนิเตอร์ภาพรวมตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากสถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติก็พร้อมจะเปิดตัวโครงการใหม่ทันที โดยปัจจุบันโครงการร่วมลงทุนมีแบ็คล็อกรวม 12 โครงการ มูลค่า33,140 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้รายได้ในปีนี้ 7,018 ล้านบาท และจะทยอยรับรู้รายได้จนถึงปี 2566 สิ่งที่มิตซูบิชิฯ แตกต่างจากมิตซุยฯ ตรงที่ร่วมพัฒนาวางแผนออกแบบพัฒนาโครงการตั้งแต่ต้นทาง ขณะที่รูปแบบการร่วมทุนของอนันดาฯกับมิตซุย จะเป็นรูปแบบเสนอแผนให้มิตซุยอนุมัติ

159810408839