‘บิ๊กบอย’จรยุทธ์เบอร์เกอร์บุกเมือง รุกเดลิเวอรี่หลบวิกฤติโควิด
ตลาด“แฮมเบอร์เกอร์” อาหารที่เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนสังคมชาวอเมริกัน เจ้าตลาดจึงเป็นแบรนด์จากสหรัฐ 2 ราย โดยมีแมคโดนัลด์ (Mcdonald's) และแบรนด์เบอร์เกอร์คิง (Burger King) ค่ายไมเนอร์ ฟู้ด เป็นเจ้าของสิทธิ์ โดยทั้ง 2 แบรนด์ปักธงในไทยยาวนานกว่า20-30ปี
ขณะที่ตลาดขนมปังประกบเนื้อยอดฮิตจากเมืองลุงแซมกลับไม่มีทีท่าถึงจุดอิ่มตัว มูลค่าตลาดรวมแตะ 10,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า10%
ความเย้ายวนของมูลค่าตลาดและการเติบโตสูง บวกกับประชากรคนเมืองเพิ่มสูงขึ้น และอัตราการขยายตัวของชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในไทย(Expatriate)เพิ่มขึ้นทุกปี ผู้บริโภคยุคใหม่จึงเปิดรับวัฒนธรรมการบริโภคจากชาวตะวันตกเพิ่มสูงขึ้น
นี่คือ “ช่องว่างของโอกาสเติบโต” ทำให้นักลงทุนต่างชาติในไทยอย่างแกรี่ เมอร์เรย์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเดซติเนชั่นอีทส์ เจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์(License)ชื่อดังจากสหรัฐ เข้ามาขยายธุรกิจในไทยและภูมิภาคเอเชีย อาทิ Hard Rock Cafe,Hooters, Wow Cow Ice Cream,Boom Boom Burger, Wing-it Chicken Wings ร้าน อาหาร กึ่งไอริชผับ Drunken Leprechaun รวมถึงแบรนด์ล่าสุดน้องใหม่"บิ๊กบอย (Big Boy)" แฮมเบอร์เกอร์ชื่อดัง และเก่าแก่ที่ก่อตั้งอยู่รัฐมิชิแกน มีอายุยาวนานกว่า84ปี (ปี2479)เข้ามา“ท้าชน” ชิงเค้กเจ้าตลาดเบอร์เกอร์จากมะกันที่ปักธงก่อนหน้า
“ตลาดแฮมเบอเกอร์ในเมืองไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีก และผู้เล่นยังมีไม่มากนัก และมั่นใจว่าแบรนด์ระดับตำนานที่มีอายุเก่าแก่กว่า86ปี ที่เริ่มต้นจากธุรกิจครอบครัวทำร้านอาหารในท้องถิ่นเมืองเล็กๆ ในรัฐมิชิแกน ที่มีสูตรเฉพาะ จะเข้ามาเป็นทางเลือกชิงส่วนแบ่งตลาดแฮมเบอร์เกอร์ได้ไม่ยาก เพราะผู้บริโภคคนไทยชอบลองและมองหาอาหารแปลกใหม่ ที่ผสมผสานระหว่างรสชาติอร่อยจากอเมริกัน และนำพัฒนาเมนูใหม่ที่ปรุงสูตรรสชาติความเข้มข้นอย่างไทยจะเป็นทางเลือกที่ทำให้ผู้บริโภคเปิดใจได้ไม่ยาก”
ทั้งนี้ บริษัทบิ๊กบอย แฟรนไชส์ เมเนจเม้นท์ (Big Boy Franchise Management LLC)เจ้าของลิขสิทธิ์และผู้บริหารแฟรนไชส์ ได้รีแบรนด์บิ๊กบอยใหม่ โดยปรับโลโก้ใหม่ พร้อมกันกับวางจุดยืนแบรนด์(Positioning)จากระดับพรีเมี่ยม และราคาสูง มีสาขาน้อย มาสู่แบรนด์สำหรับตลาดแมส ที่คนเข้าถึงง่ายสะดวกและรวดเร็ว ปูทางขยายสาขามาสู่เอเชีย และก้าวสู่การเป็นแบรนด์ระดับโกลบอล แข่งขันกับแฮมเบอร์เกอร์ 2 แบรนด์ยักษ์ในประเทศไทย
แกรี่ ใช้จุดแข็งของบิ๊กบอย สร้างการรับรู้ให้กับคนไทย รู้จักแฮมเบอร์เกอร์ระดับตำนาน มีอายุยาวนานเติบโตจากครอบครัวธุรกิจที่มีประสบการณ์การทำอาหาร และแฮมเบอร์เกอร์ชิ้นใหญ่สองเท่าของชิ้นทั่วไปในตลาด
อย่างไรก็ตาม การเปิดธุรกิจร้านอาหารในช่วงนี้ถือว่า มีความท้าทาย แม้จะคว้า License มาได้ตั้งแต่เดือนพ.ค.2563ซึ่งเป็นช่วงที่การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ็ใหม่ (โควิด-19)ยังไม่คลี่คลาย จนถึงปัจจุบันยังมีความกังวลเกิดการระบาดรอบ2จากที่คาดหวังตลาดนักท่องเที่ยวและคนไทย จึงเหลือเพียงกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคคนไทย และExpatriateการเปิดร้านขนาดใหญ่จึงเป็นความเสี่ยงในการลงทุนในช่วงนี้ เพราะแต่ละสาขาที่ลงทุนต้องใช้เงินมูลค่า1ล้านดอลลาร์ (ราว30ล้านบาท) ซึ่งเป้าหมายการเปิดร้านบิ๊กบอย อย่างเต็มรูปแบบในต้นปี2564เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนและกำลังซื้อภายในประเทศจะกลับมา โดยมีเป้าหมายขยาย 10 สาขาในปีแรกที่เปิดร้าน
“คอนเซ็ปท์และจุดยืนของร้านต้องการให้บิ๊กบอย เป็น‘ศูนย์กลางความสุขเพื่อครอบครัว’ตัวแทนกลุ่มครอบครัว กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มองหาอาหารรสชาติดีมีคุณค่าและราคาเข้าถึงได้จึงตกแต่งร้านด้วยบรรยากาศสนุกสนานและมีความเป็นมิตร ที่จะเปิดตัวในต้นปี2564เมื่อบรรยากาศความเชื่อมั่นและกำลังซื้อเริ่มกลับมาชัดเจน”
ขณะที่การเติบโตของอาหารส่งถึงบ้าน (เดลิเวอรี่) ก็เป็นโอกาสสำคัญที่บิ๊กบอย จะทิ้งไม่ได้ จึงเริ่มเปิดให้บริการเพื่อสร้างการรับรู้ทำให้คนรู้จักแบรนด์เบอร์เกอร์อเมริกัน ผ่านการสั่งอาหารออนไลน์ดิลิเวอรี่ ในช่องทางพันธมิตรเดลิชั้นนำในประเทศไทย ที่ช่วยสร้างรายได้โดยไม่ต้องลงทุนหน้าร้าน แต่สร้างกระแสเงินสด และสร้างการรับรู้แบรนด์ได้ โดยเมนูที่เปิดตัวในช่วงเริ่มต้นเป็นกลุ่มเบอร์เกอร์คลาสสิค ซึ่งเป็นลายเซ็นของร้าน และยังมีไก่ทอดรสชาติไทย รวมถึงมิลค์เชค สไตล์อเมริกัน จากนั้นจึงเริ่มค่อยๆ เปิดตัวซุ้มสะดวกซื้อ (Kiosk)และ รถขายอาหาร (Food Truck)ในช่วงปลายปี2563