แรงงานดิจิทัล-โลจิสติกส์รุ่ง 'EEC' ต้องการด่วน
การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและการตัดสินใจลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แต่การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายได้ขับเคลื่อนต่อเนื่อง เพื่อให้รองรับความต้องการในอนาคตเมื่อการลงทุนฟื้นตัว
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวในการสัมมนา “ขับเคลื่อนอาชีวศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก อีอีซี” ว่า วิกฤติการระบาดโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อประมาณความต้องการบุคลากรในอีอีซี 5 ปี (2562-2566) แต่ทั้งนี้จำนวนความต้องการยังคงประเมิน 4.75 แสนคน เท่าเดิม แต่จะเลื่อนออกไปจากแผนเดิม 6 เดือน และจะปรับเปลี่ยนความต้องการบุคลากรในแต่ละสาขาในบางด้าน เช่น ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี 5จี
ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มดิจิทัล และโลจิสติกส์ กลุ่มการแพทย์ เพื่อต่อยอดจุดเด่นความสามารถของไทยในการรับมือกับโควิด-19 กลุ่มโลจิสติกส์ ที่จะเพิ่มขึ้นมากจากการค้าอีคอมเมิร์ชที่ขยายตัวรวดเร็ว รวมถึงอุตสาหกรรมอาหารทางการแพทย์ เป็นต้น ส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ ก็ยังคงมีความต้องการตามแผนที่วางไว้ ยกเว้นในกลุ่มอากาศยานที่มีความต้องการบุคลากรจะชะลอลงไปจนถึงสิ้นปีหน้า
ทั้งนี้ สกพอ.และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ร่วมพัฒนาบุคลาการระดับอาชีวศึกษาเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะบุคลากรแบบตรงตามความต้องการ Demand driven (EEC Model) ศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษาในอีอีซี (Excellence Center)
การพัฒนาบุคลาการแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1.Type A การผลิตบุคลากรร่วมกับภาคเอกชน ตั้งแต่การสร้างหลักสูตรร่วมกันเพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ และจะเน้นในเรื่องการฝึกทำงานจริงภายในโรงงาน โดยนักศึกษาที่เข้าโครงการจะต้องมีผลการเรียนตามเกณฑ์ที่กำหนด และผ่านการสัมภาษณ์จากผู้ประกอบการ
นักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับทุนการศึกษาทั้งหมด ในช่วงฝึกงานก็จะได้รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่าวันละ 300 บาท และเมื่อจบการศึกษาสถานประกอบการที่ให้ทุนก็จะรับเข้าทำงานทันที มีอัตราเงินเดือนเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท
2.Type B การฝึกอบรมระยะสั้นเพื่อผลิตกำลังคนปรับทักษะ (Re Skill) เพิ่มทักษะ (Up Skill) ระยะเร่งด่วนรัฐจะสนับสนุนงบไม่เกิน 50% ที่เหลือเอกชนจ่ายเพื่อให้ตรงกับคามต้องการของแต่ละอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งมีแผนที่จะขยายผลไปยังนักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นปี 3 และปี 4 เพื่อให้มีทักษะในการทำงานเพิ่มขึ้น
ในขณะที่การพัฒนาบุคลากรตามแผนการดำเนินการ EEC Model ปี 2563 มีเป้าหมายพัฒนาทักษะบุคลากรประมาณ 8,500 คน แบ่งเป็นType Aอุดมศึกษา 1,731 คนอาชีวศึกษา 785 คน รวม 2,516 คน
Type B รวม 82 หลักสูตร ผลิตบุคลากร 6,064 คน ครอบคลุมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ยานยนต์แห่งอนาคตอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะการบินและโลจิสติกส์
นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะตั้งศูนย์ความเป็นเลิศการอาชีวศึกษาในอีอีซี (Excellent Center) เพื่อพัฒนาทักษะเฉพาะด้านให้กับนักเรียนได้อย่างตรงจุด และทำงานได้ทันทีหลังเรียนจบการศึกษา พร้อมสร้างเครือช่ายกับภาคเอกชนที่มีศักยภาพ ตลอดจนเน้นการแนะแนวการศึกษาต่อตามศักยภาพของผู้เรียน ซึ่งจะช่วยยกระดับการอาชีวศึกษาครั้งใหญ่ในอีอีซี
ทั้งนี้ ใน 2563 ภาครัฐได้จัดงบประมาณสำหรับศูนย์ความเป็นเลิศ 4แห่ง และในปีถัดไปจะทยอยให้ครบทั้ง 6 ศูนย์ ซึ่งประกอบด้วย 1.วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา เป็นศูนย์ความเป็นเลิศยานยนต์สมัยใหม่
2.วิทยาลัยเทคนิคพนมสารคาม เป็นศูนย์ความเป็นเลิศอุตสาหกรรมดิจิทัลและหุ่นยนต์ 3.วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี เป็นศูนย์ความเป็นเลิศระบบรางและโลจิสติกส์ 4.วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ เป็นศูนย์ความเป็นเลิศอุตสาหกรรมอากาศยานและการท่องเที่ยว
5.วิทยาลัยเทคนิคระยอง เป็นศูนย์ความเป็นเลิศระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ 6.วิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี เป็นศูนย์ความเป็นเลิศโลจิสติกส์
“เอกชนที่เข้าร่วมโครงการ อีอีซี โมเดล จะนำค่าใช้จ่ายที่ใช้ในโครงการมาหักภาษีได้ 2.5 เท่า และจะได้แรงงานที่ตรงตามความต้องการ ขณะนี้มีเอกชนเข้าร่วมแล้วประมาณ 150 ราย และจะมีเข้ามาเพิ่มเรื่อยๆ”
ส่วนปี 2564 ได้งบจากรัฐบาล 120 ล้านบาท มีเป้าหมายที่จะผลิตบุคลากรอีอีซีโมเดล Type A ให้ได้ 3,500 คน และ Type B ประมาณ 30,000 คน
นอกจากนี้ ภาครัฐได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาทักษะบุคลากรในอีอีซี 2564-2568 แบ่งเป็น 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1.การพัฒนาบุคลากรให้ตรงความต้องการ (Demand Driven) ของอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 อุตสาหกรรมตามรูปแบบ EEC Model
2.การพัฒนาสิ่งแวดล้อมการศึกษา (Education ecology) ให้เท่าทันการปรับตัวในศตวรรษที่ 21 ทุกระดับ 3.การสร้างองค์กรความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและสถานประกอบการให้ผลิตบุคลากรตอบโจทย์ความต้องการ 4.การผลักดันความร่วมมือด้านข้อมูลสารสนเทศทางการศึกษา และการพัฒนาบุคลากรในอีอีซีร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
การพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อรองรับ EEC Model ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 โดยเน้นการพัฒนาด้านภาษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเริ่มจากโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะด้าน coding สู่สังคมดิจิทัล ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รวมถึงการอบรม Mindset workshop for leaders เพื่ออบรมผู้บริหารขององค์กรธุรกิจ
รวมทั้งโครงการบูรณาการจัดการเรียนรู้ และการแข่งขันเขียนโปรแกรมทางปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยบูรพา และการพัฒนากรอบความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ เพื่อวัดความสามารถแรงงานในอีอีซี เป็นความร่วมมือกับสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยบูรพา และการปรับสภาพแวดล้อมทางภาษาอังกฤษร่วมกับวิทยาลัย 4 แห่ง