เปิด"โมเดลบิ๊กธุรกิจ"สู่ยั่งยืน แรงงาน-สิ่งแวดล้อม-ต้านทุจริต

เปิด"โมเดลบิ๊กธุรกิจ"สู่ยั่งยืน แรงงาน-สิ่งแวดล้อม-ต้านทุจริต

ในงาน“GCNT FORUM 2020: Thailand Business Leadership for SDGs” จัดโดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานผู้แทนสหประชาชาติประจำประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ และผู้สนับสนุนของสมาคมฯ

นอกจากจะมีการประกาศเจตนารมณ์ขององค์กรสมาชิกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ให้คำมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และจะลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนรวม 998 โครงการ มูลค่ารวมอย่างน้อย 1.2 ล้านล้านบาทแล้ว ภายในงานที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ยังมีการเสวนาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงาน,ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านการส่งเสริมบรรษัทภิบาลและการต่อต้านการทุจริต โดยมีเหล่านักธุรกิจจากองค์กรขนาดใหญ่ มาร่วมเปิดโมเดลด้านความยั่งยืน ดังกล่าว

159902391986

*ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ

 

  • ยึดภารกิจ เลี่ยงเลิกจ้าง

โดยเวทีเสวนาด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงาน ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวตอนหนึ่งถึงบทบาทธุรกิจต่อการช่วยเหลือแรงงานในช่วงโควิด-19 ว่า ซีพีเอฟเป็นผู้ดำเนินธุรกิจผลิตอาหาร มีโรงงานใน 17 ประเทศ และส่งออกอาหารไปสู่ประเทศที่ไม่มีการตั้งโรงงานอีก 30 ประเทศ ซึ่งทุกวงจรการผลิตได้เกิดการจ้างงานร่วม 1 แสนรายทั่วโลก ซึ่งในช่วงโควิด-19 เครือซีพีได้ประกาศนโยบายชัดเจนคือไม่มีการปลดคนออก เนื่องจากมองว่าเครือซีพีเป็นส่วนหนึ่งของสังคม จึงพยายามอย่างเต็มที่ที่ไม่สร้างผลกระทบกับวงจรชีวิตของแรงงานซ้ำเติมใครอีก ทั้งยังยืนยันถึงแนวทางเดิมในการดูแลพนักงาน เช่น การมีนโยบายให้สวัสดิการแหล่งเงินทุนพิเศษให้กับพนักงานที่มีปัญหาทางการเงิน หรือมีสมาชิกคนใดในครอบครัวต้องหยุดงาน ออกจากงานการซื้อประกันภัยโควิด-19 ให้พนักงานซึ่งหน้าที่ที่ต้องติดต่อกับบุคลภายนอก เพิ่มเติมจากสวัสดิการที่มีอยู่แล้ว

เขากล่าวว่า เมื่อช่วยเหลือพนักงานในขั้นแรกแล้ว องค์กรได้กลับมาทบทวนว่าภารกิจหน้าที่หลักขององค์กรคืออะไร ซึ่งหน้าที่หลักคือการผลิตอาหารให้เพียงพอให้ได้ ส่งเสริมให้ประเทศเป็นครัวโลก ดังนั้นต่อให้เกิดสถานการณ์โรคระบาดเช่น โควิด-19 ก็ต้องยึดมั่นที่จะทำภารกิจนี้ต่อไป

"ในช่วงวิกฤติกระบวนการภายในต้องปรับปรุงเยอะและยืดหยุ่น ใช้กระบวนการดูแลความสะอาด ความปลอดภัยอาหารให้มาตรฐานดีมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เริ่มตั้งแต่การนำรถรับ-ส่งพนักงานเข้าโรงงาน ตรวจวัดไข้ ดูแลความสะอาดก่อนขึ้นรถ ซึ่งเพิ่มเติมมากไปกว่ากระบวนการด้านความสะอาดแบบปกติ พยายามใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่สร้างความปลอดภัยให้กับสังคมมากที่สุด เช่น การทำแอพพลิเคชั่นเพื่อสื่อสารกับกลุ่มคนที่กักตัว ให้มีอาหารบริโภคได้เพียงพอโดยไม่จำเป็นต้องออกจากบ้าน ผ่านบริการเดลิเวอรี่ ซึ่งทั้งอาหารสด อาหารแห้ง อาหารพร้อมรับประทาน การร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอสนับสนุนอาหารให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ในจำนวน 200 จุดที่มีการรักษาผู้ป่วยและกักตัวจากโรค การลดราคาอาหารจำนวน 4 ล้านชิ้น ออกโปรโมชั่นไข่ไก่ราคาพิเศษจำกัดจำนวนการซื้อเพื่อช่วยเหลือประชาชน"

159902403390

*แดน ปฐมวาณิชย์

  • หนุนระบบผลิตอาหารไร้มลพิษ

ขณะเสวนาด้านสิ่งแวดล้อม แดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิศทางการบริโภคอาหารแห่งอนาคตถือเป็นเมกะเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก โดยอาหารแห่งอนาคตจะใช้กระบวนการผลิตจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญต่ออาหารสุขภาพ รวมทั้งยังคำนึงถึงแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์อาหารสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนใดๆในกระบวนการผลิต

เขากล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงระบบอาหารเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้โลกยั่งยืนมากขึ้น โดยกลยุทธ์หลักองค์กรจะมุ่งเน้นกระบวนการผลิตเพื่อสร้างความยั่งยืนและให้ความสำคัญกับการจัดการห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Sustainable Supply Chain) ตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อ การผลิต จัดเก็บ ขนส่งและจัดจำหน่าย ซึ่งต้องไม่ปล่อยสารพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ถือเป็นปัจจัยเชิงบวกให้กับบริษัท เนื่องด้วยโควิด-19 ที่เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค โดยผู้บริโภคต้องการอาหารที่เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายในรูปแบบต่างๆ ทั้งโปรตีนจากพืช อาหารสุขภาพที่ทำที่บ้านได้ ซึ่งมีสารอาหารครบ ร่างกายสามารถดูดซึมได้เร็ว ช่วยให้สุขภาพดีเพื่อต้านทานโรค ซึ่งทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่บริษัทคิดค้นขึ้นมาก่อนแล้วเพราะมองถึงอนาคตและคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า

159902412612

*นาถฤดี โฆสิตาภัย

  • ใช้ระบบปิดเพิ่มความโปร่งใส

สำหรับเวทีเสวนาสุดท้ายซึ่งเป็นหัวข้อด้านการส่งเสริมบรรษัทภิบาลและการต่อต้านทุจริต นาถฤดี โฆสิตาภัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.สผ.มีภารกิจในการเข้าไปสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ ดังนั้นจึงต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียให้ได้รับสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันภายใต้การดูแลกำกับกิจการที่ดี

บริษัทมีเป้าหมายชัดเจนคือการเป็น Zero Non-Compliance เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในการจัดการ โดยใช้ระบบปิดทั้งหมดในการจัดซื้อจัดจ้าง ระบบวิเคราะห์การลงทุน ระบบวิเคราะห์ความเสี่ยง การมี Zero Corruption เพื่อไม่ให้มีช่องทางการทุจริตใดๆ ซึ่งทั้งหมดต้องมีการวางกลยุทธ์ที่เรียกว่า GRC in Common Sense ซึ่งเน้นกระบวนการกำกับดูแล ซึ่งเมื่อกระบวนการดีแล้ว ผู้ที่เข้าไปมีส่วนร่วมก็ต้องเข้าใจถูกต้องด้วย

 องค์กรจึงต้องสร้างการรับรู้ ตั้งภายในคือพนักงาน คณะกรรมการบริษัท ไปถึงผู้บริหารระดับสูง ขณะที่ภายนอกต้องขยายแนวคิดให้ไปถึงคู่ค้า เช่น มีการจัดทำคู่มือให้กับคู่ค้า ให้ทางคู่ค้าทำ E-Learning เรื่องการต่อต้านคอร์รัชั่น ซึ่งที่ผ่านมา ปตท.สผ มีกระบวนการดูแลอย่างเข้มข้นทั้งภายในและภายนอกต่อเนื่อง และได้รับคัดเลือกติดอันดับดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6

อย่างเข้มข้นทั้งภายในและภายนอกต่อเนื่อง และได้รับคัดเลือกติดอันดับดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6

  • วางงบ 86 ล้านหนุน SDGs

วีระชัย คุณาวิชยานนท์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการด้านเอกชนเห็นความสำคัญของหลักจริยธรรม จรรยาบรรณเพื่อเป็นบรรษัทภิบาล และในช่วงโควิด-19 สภาฯมีคณะกรรมการฟื้นฟูหลังโควิด ซึ่งมีความเห็นร่วมกันว่าประเภทธุรกิจที่จะเป้าหมายหลักจากนี้คือ ธุรกิจในอุตสาหกรรมดิจิตอล อุตสาหกรรมสุขภาพ เครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ โลจิสติกส์ หุ่นยนต์ ไบโออีโคโนมี

ส.อ.ท. วางแนวทางสนับสนุนสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย มุ่งเน้นการจัดซื้อจัดจ้างโดยกรมบัญชีกลาง  เน้นการใช้สินค้าไทยเป็นอันดับแรกก่อน เน้นการพัฒนา Supply Security ลดการพึ่งพิงชิ้นส่วนนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งแม้ระยะแรกต้นทุนในการผลิตอาจสูงเมื่อเทียบกับการนำเข้า แต่จำเป็นต้องหาแนวทางมาส่งเสริมเพื่อเพิ่มกำลังผลิตในประเทศ

เขากล่าวว่า ส.อ.ท.ยังร่วมเป็นคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งได้ส่งเสริมการพัฒนาและดำเนินการร่วมกับภาครัฐในการขับเคลื่อน SDGs 17 เป้าหมาย เน้น 4 เป้าหมายในเวลา 10ปี รวมวงเงินประมาณ 86 ล้านบาท ได้แก่ เป้าหมายที่ 6 การจัดการน้ำและสุขภิบาลจำนวน 2 โครงการ เป็นเงิน 26 ล้านบาท การขับเคลื่อนเป้าหมายที่ 7 ด้านพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ จำนวน 2 โครงการ เป็นเงิน 21.6 ล้านบาท เป้าหมายที่ 13 การรับมือความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำนวน 2 โครงการ เป็นเงิน 7 ล้านบาท  และเป้าหมายที่ 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน จำนวน 9โครงการ เป็นเงิน 31.8 ล้านบาท

นอกจากนี้ส.อ.ท.ยังเป็นหนึ่งในภาคีองค์การต่อต้านคอร์รั่ปชั่นและผลักดันนำข้อตกลงคุณธรรม ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนในการไปมีส่วนร่วมพัฒนาการจัดซื้อจัดจ้างจากภาครัฐด้วย

ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการภารกิจ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์และกรอบงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า ธรรมภิบาลไม่ได้มองแค่คอร์รัปชั่นแต่มองถึงประสิทธิภาพการจัดการงบประมาณของรัฐด้วย ปัจจุบันนี้เราไม่มีระบบที่จะสามารถมองเห็นถึงประสิทธิภาพในการจัดการตรงนี้ ทำให้ไม่มีการตรวจสอบ  อีกประเด็นคือการขาดเจตนารมณ์ร่วม ไม่สามารถสร้างความตระหนักร่วมกันได้ว่า การสร้างความโปร่งใสเป็นกิจการสาธารณะ