สุญญากาศการ ‘คลัง’ แรงกระเพื่อมส่งต่อตลาดหุ้น
แรงกระเพื่อมลูกใหญ่ทางเศรษฐกิจจากนี้เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงมากขึ้น เมื่อขุนพลสำคัญอย่างตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ‘ปรีดี ดาวฉาย’ ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งหลังเข้าทำงานอย่างเป็นทางการเพียง 21 วันไม่ถึงครบเดือนดี
การลาออกหรือจะมีบุคคลอื่นเข้ามาทำงานแทน ไม่ได้ทำให้ตลาดทุนหวั่นใจมากเท่า 2 ประเด็นคือ เรื่องแรกการขาดความต่อเนื่องในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ไทยต้องการอย่างมาก เพื่อประคับคองให้ภาคธุรกิจอื่นอยู่รอดไปได้จนสถานการณ์โควิด-19 มีวัคซีนออกมาใช้ได้จริง
เรื่องที่สอง คือ ความเชื่อมั่นของรัฐบาลในช่วงที่อยู่ในภาวะเปราะเบาการจะแต่งตั้งบุคคลเข้ามาเป็นทีมเศรษฐกิจจะสะท้อนความน่าเชื่อถือ วิสัยทัศน์ ของเป็นผู้นำประเทศได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะมีผลต่อน้ำหนักการลงทุนทางตรงในประเทศ และภาคตลาดเงินตลาดทุนไปด้วย
โดยประเด็นแรกก็ถือว่าหนักหนาสาหัสสำหรับประเทศไทยมาก เพราะเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเดียวยังบวก คือการลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐ สวนทางกับภาคเอกชน ภาคบริการ ที่ติดลบอย่างน่าใจหาย
จนเป็นที่มาทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ด้วยการกู้เงินมากสุดเป็นประวัติการณ์เกือบ 2 ล้านล้านบาท
ส่วนรัฐบาลกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ในการดูแลทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม และด้านสาธารณสุขพร้อมเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติดังกล่าว ปัจจุบันเฉพาะเงินกู้ของรัฐบาลดังกล่าวยังไม่มีโครงการหรือมาตรการที่เข้ามารองรับ ยิ่งไร้ ขุนคลัง ยิ่งทำให้การพลักดันมาตรการล่าช้ามากขึ้นไปอีก
มาตรการดังกล่าวล้วนมีผลต่อตลาดหุ้นไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ซึ่งมาตรการต่อตลาดทุนโดยตรง ทั้งการเสนอของสภาธุรกิจตลาดทุนไทยอยากนำตลาดทุนเป็นเครื่องมือในการระดมทุน ทั้งการขยายระยะเวลากองทุน SSFX ให้ประชาชนลงทุน และ ลดการถือครอง 10 ปีเหลือ 7 ปี ลดภาษีเงินปันผลสำหรับผู้ที่ลงทุนเกิน 1 ปี เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนมากขึ้น
ขณะที่มาตรการที่มีผลต่อเรียลเซ็ทเตอร์ในกลุ่มธุรกิจต่างๆ มีไม่น้อย โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวถือว่าเป็นวาระเร่งด่วน มีผลต่อหุ้นสนามบิน หุ้นโรงแรม หุ้นค้าปลีก หลังจากมีการดันการท่องเที่ยวภายในประเทศด้วย ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ซึ่งให้สิทธิที่พัก 3,000 บาท 5 ล้านสิทธิ และตั๋วเครื่องบินเป็น 2,000 บาท จำนวน 2 ล้านสิทธิ กลับไม่ประสบความสำเร็จจากยอดจองไม่ถึงล้าน จนมีการมองว่าน่าจะดึงมาตการ ‘ชิมช้อปใช้’ และ’ ช้อปช่วยชาติ’ กลับมาใช้อีกครั้ง
ต่อด้วยการช่วยเหลือด้านการเงินหรือ ชอฟโลนเม็ดเงิน 24,000 ล้านบาท ให้กับธุรกิจสายการบิน 7 แห่งที่มีการยื่นไปตั้งแต่เดือนมี.ค. จนล่าสุดเข้าพบรมต.คลัง จนได้คำสัญญาจากนายกรัฐมนตรีจะดำเนินการให้ จนสามารถปล่อยกู้ผ่านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ยอมปล่อยแบบมีเงื่อนไขคือไม่เกิน 20 % ของวงเงินสินเชื่อคงค้าง และมีผู้บริหารหรือบริษัทแม่ค้ำประกัน รวมไปถึงการขอขยายเวลาลดค่าธรรมเนียมสนามบิน ถึงมี.ค. 2565 ยังต้องรอพิจารณา
ด้านธุรกิจยายนต์มีมาตรการของกระทรวงอุตสาหกรรมได้หารือกับกระทรวงการคลังนำรถเก่าแลกซื้อรถใหม่ให้สิทธิลดหย่อนภาษี บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ไม่เกิน 1 แสนบาท เพื่อสนับสนุนเพื่อรักษาฐานการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย และรองรับสัญญาณแนวโน้มที่คาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในภาพรวมจะเริ่มฟื้นตัวในปี2564 ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อหุ้นในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ยกกลุ่มทีเดียว
ธุรกิจประกันเตรียมตบเท้าเข้าหารือดันลดหย่อนภาษีประกันสุขภาพ แยกวงเงินออกจากรายการลดหย่อนประกันชีวิต ที่เป็นกระแสความนิยมในช่วงเกิดโรคระบาด เพื่อช่วยจูงใจประชาชนซื้อประกันสุขภาพมากขึ้น ลดพึ่งพิงการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลดีต่อหุ้นในกลุ่มธุรกิจประกันไปด้วย
ด้วยมาตรการดังกล่าวรัฐบาลสามารถดำเนินการได้เลย ทำให้ลดข้อกังวลในประเด็นแรกไปได้ ซึ่งล่าสุดได้มีการออก มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน ส่งเสริมการบริโภค และช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไป รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการจ้างงานเม็ดเงินราว 6.85 หมื่นล้านบาท
ส่วนมาตรการแจกเงิน 3,000 บาทต่อคน จำนวน 15 ล้านสิทธิ เบื้องต้นใช้ในระยะเวลา 3 เดือน แต่กำหนดเงื่อนไขว่าใช้ได้วันละ 100-250 บาท คาดว่าจะเริ่มมาตรการในเดือนต.ค.นี้
อย่างไรก็ตามสำหรับประเด็นที่สอง กลายเป็นจุดที่น่ากังวลใจมากที่สุด ด้วยรายชื่อ ‘ขุนคลัง’ คนใหม่ ที่จะเข้ามารับงานที่ท้าท้ายอยู่แล้วด้วยการฟื้นฟูเศรษฐกิจยังหาได้ยาก จากก่อนหน้านี้มีการทาบทามหลายรายแต่เจอคำปฎิเสธ และถ้ายังไม่มีผู้เหมาะสม มีประสบการณ์เชียวชาญการเงินจริง ไทยอาจจะเจอวิกฤติใหญ่มากกว่าเดิมก็ได้