อสังหาฯรุกใช้ 'AI' คุมต้นทุน ลดราคาบ้านชิงยอดขาย
ปรากฏการณ์ Disrupted Technology ทำให้เกิดการพลิกกลยุทธ์ขนานใหญ่ โดยในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ เริ่มเข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางอย่างครบวงจร เพื่อช่วยลดความเสี่ยง
อุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้เกิดการทรานส์ฟอร์มองค์กรของ “แสนสิริ” ในรูปแบบของดิจิทัลทรานฟอร์มในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาโดยเริ่มมีการนำเทคโนโลยี แอพพลิเคชั่นต่างๆเข้ามาใช้ในทุกๆกระบวนการทำงาน โดยการเชื่อมต่อทุกมิติของการพัฒนาโครงการ เพื่อการจัดการที่มีประสิทธิภาพบนแพลตฟอร์มเดียว
ตั้งแต่การทำสัญญาจ้าง-สัญญาก่อสร้าง, การประมาณการต้นทุน, การจัดการผลิตของโรงงนผลิตแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป (PCF), การจัดซื้อวัสดุก่อสร้าง, การรายงานความคืบหน้าของการพัฒนาโครงการตามรายการ เมื่อพร้อมเข้าตรวจเพื่อควบคุมคุณภาพ (QC) โครงการ ตลอดจนการทำงานร่วมกับ BIM (Building Information Modeling) ในการเชื่อมโยงแบบและระยะเวลาก่อสร้าง เพื่อจำลองภาพงานก่อสร้างโครงการเสมือนจริงอัตโนมัติตามไทไลน์ ซึ่งจะพร้อมใช้งานอย่างเต็มรูปแบบในปี 2564
“การนำเทคโนโลยีมาช่วยในงานก่อสร้าง จะช่วยให้บริษัทสามารถลดต้นทุนการก่อสร้างลงได้ 5% ซึ่งต้นทุนก่อสร้างคิดเป็นต้นทุนของการพัฒนาโครงการประมาณ 50% เมื่อบริษัทสามารถลดต้นทุนการก่อสร้างลงได้ในสัดส่วนดังกล่าว จะช่วยให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น ส่งผลบวกต่อราคาขายโครงการที่บริษัทสามารถปรับลดลงมาได้เช่นกัน”
ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ แสนสิริ ยังให้ทัศนะว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้งานก่อสร้างสำเร็จตามกำหนด บริษัทจึงเดินหน้าพัฒนา “Sansiri Total Project Managementtions” ต่อยอดการใช้งานจาก Primavera เพื่อยกระดับมาตรฐนการควบคุม “Time-Cost-Quality” อย่างเต็มศักยภาพให้โครงการมีคุณภาพและสำเร็จเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งช่วยลดต้นทุนการวางแผนไว้ ยกตัวอย่าง โครงการ โอกะ เฮ้าส์ (OKA HAUS) มูลค่าโครงการ 8,000 ล้านบาท และโครงการเอ็กที เอกมัย (XT Ekkamai) มูลค่าโครงการ 3,600 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน บริษัทยังให้ความสำคัญกับบริการหลังการขาย ผ่าน‘ Salesforce’ แพลตฟอร์มการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) อันดับ 1 ของโลก, LIV-24 บริการดูแลความปลอดภัยอย่างเต็มรูปแบบจากศูนย์ควบคุมแบบเรียลไทม์ 24 ชั่วโมง แห่งแรกของวงการอสังหาริมทรัพย์ และ Sansiri Home Service Application กับ 4 ฟีเจอร์ใหม่ ได้แก่ Community Hub พื้นที่สำหรับการสื่อสารโดยการตั้งกระทู้และแชร์กิจกรรมของลูกบ้าน, Market Place พื้นที่ซื้อ-ขายสินค้าของลูกบ้านและฟังก์ชั่น การจอง-จ่ายสถานี EV Charger ของ CHARGE กว่า 200 จุด รวมทั้งการจองเข้าใช้บริการพื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งได้นำร่องใช้แล้วที่โครงการ เอ็กที เอกมัย
“เทคโนโลยีที่นำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเอไอ บิ๊กดาต้า แอพพลิเคชั่น เหล่านั้นถือเป็นเครื่องมือในการช่วยลดความเสี่ยงในการตัดสินใจลงทุน เช่น การซื้อที่ดิน หากมีข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำจะทำให้เราสามารถซื้อที่ดินในโลเคชั่นที่เป็น บลูโอเชี่ยน ไม่ใช่เรดโอเชี่ยน ทำให้โครงการขายได้ง่ายเพราะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นเรียลดีมานด์ จากเดิมอาจจะตัดใจจากความรู้สึกหรือข้อมูลเดิมที่มีอยู่ซึ่งอาจไม่ทันสถานการณ์”
ปัจจุบันในส่วนของสิริ เวนเจอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทในเครือแสนสิริ ได้ใช้งบลงทุนในสตาร์ทอัพไปแล้ว 50% ของงบลงทุนที่ได้รับการอนุมัติมาเมื่อในปี 2561 ที่มีมูลค่า 1,500 ล้านบาท เพื่อมองหาโอกาสในการลงทุนเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพและช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกบ้านของแสนสิริอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเสริมประสิทธิภาพของ Home Automation ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นในการอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกบ้านของแสนสิริ โดยปัจจุบันมีลูกบ้านของแสนสิริที่ใช้แอพพลิเคชั่นดังกล่าว 50,000 ราย จากจำนวนลูกบ้านทั้งหมด 120,000 ราย
จิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี สิริ เวนเจอร์ส บริษัทในเครือแสนสิริ กล่าวว่า ในปี 2564 บริษัทจะผลักดันเทคโนโลยีที่พัฒนาเองและเทคโนโลยีที่บริษัทได้เข้าไปลงทุน เพื่อสร้างรายได้ให้กับบริษัท จากปัจจุบันที่บริษัทยังคงเน้นไปที่การลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้ภายในบริษัท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานก่อสร้างและงานขาย รวมทั้งการเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ลูกบ้านที่ซื้อโครงการของแสนสิริ เพราะในช่วงแรกระยะแรกตั้งแต่ปี 2561-2563 บริษัทมีความต้องการให้การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ทำให้ลูกบ้านของแสนสิริใช้ชีวิตสะดวกสบาย ก่อนที่จะนำเทคโนโลยีไปนำเสนอแก่ผู้ประกอบการอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้และผลตอบแทนเข้ามาให้กับบริษัทอีกทางหนึ่ง