PIMO ลุยผลิตภัณฑ์ใหม่ กำไรสูง 'พลิกฐานะ' !
ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ในกลุ่ม 'Pool & Spa Pump' กำไรสูงขึ้นแท่น 'พระเอก' ของ 'ไพโอเนียร์ มอเตอร์' ด้าน 'วสันต์ อิทธิโรจนกุล' นายใหญ่ แย้มปีนี้มีโอกาสสร้างเซอร์ไพรส์ผลประกอบการทุบสถิติทำ 'จุดสูงสุด' นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท !
เมื่อธุรกิจเดิมที่คลุกคลี่มาตลอดเกือบ 20 ปี ของ บมจ. ไพโอเนียร์ มอเตอร์ หรือ PIMO ไม่สามารถผลักดันฐานะการเงินให้ขยายตัวสม่ำเสมอ ! เนื่องจาก 'มาร์จิน' ของสินค้า 'ลดลง' ต่อเนื่องทุกๆ ปี หลังกลยุทธ์ทางธุรกิจต้องพึ่งพิงยอดขาย (วอลุ่ม) เพิ่มขึ้น แต่การมีวอลุ่มที่มากขึ้นต้องแลกมาด้วยการลดราคาขาย 'วอลุ่มเพิ่มแต่ลดราคา !' ในอุตสาหกรรมมอเตอร์เครื่องปรับอากาศ (มอเตอร์แอร์) คิดเป็นสัดส่วนรายได้หลักของบริษัท 80-85%
ฉะนั้น วันหนึ่งธุรกิจจะเหลืออะไร ? เมื่อทุกวันจะได้ยินคำพูดที่ว่า ต้องเพิ่มวอลุ่ม แต่ลดราคา ภาพที่ตามมาธุรกิจของ PIMO ก็จะมีมาร์จินที่บางลงเรื่อยๆ หากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป 'กำไรสุทธิ' ของบริษัทจะเหลือแค่ 'หลักล้าน' หรือ 'หลักแสน' เท่านั้น และจะไม่มีโอกาสเห็นกำไรสุทธิหลักสิบล้านบาท หรือ ร้อยล้านบาทอย่างแน่นอน !
สะท้อนผ่านผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2560-2562) ที่มีกำไรสุทธิ 'ผันผวน' อยู่ที่ 23.47 ล้านบาท 16.50 ล้านบาท และ 28.48 ล้านบาท ขณะที่รายได้ 587.28 ล้านบาท 569.27 ล้านบาท และ 663.78 ล้านบาท ตามลำดับ
จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ในช่วง 3 ปีก่อน 'ตระกูลอิทธิโรจนกุล' ผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ. ไพโอเนียร์ มอเตอร์ หรือ PIMO ตัดสินปรับโมเดลธุรกิจครั้งใหม่ ด้วยการมุ่งหน้าสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่ม 'Pool & Spa Pump' ที่เป็นมอเตอร์ประเภท BLDC Pool motor !
'วสันต์ อิทธิโรจนกุล' กรรมการผู้จัดการ บมจ. ไพโอเนียร์ มอเตอร์ หรือ PIMO เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า ภาพรวมกำไรสุทธิปี 2563 มีโอกาสทุบสถิติ 'ทำจุดสูงสุด' (New High) ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท เนื่องจากบริษัทมียอดขายจากมอเตอร์สระน้ำ (มอเตอร์ความเร็วปรับได้แบบพิเศษ หรือ BLDC) จากประเทศสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น โดยครึ่งแรกปีนี้มีกำไรสุทธิแล้ว 30.51 ล้านบาท มากกว่าทั้งปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิ 28.48 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิสูงสุดที่เคยทำได้อยู่ที่ 40.36 ล้านบาท ในปี 2559
'สำหรับสินค้ามอเตอร์สระน้ำ BLDC เป็นสินค้าที่มีมาร์จินสูงกว่าสินค้าเดิมของบริษัท ทำให้ทั้งปีนี้ คาดอัตรากำไรสุทธิแตะตัวเลขสองหลัก จากครึ่งปีแรกอยู่ที่ 8.77%'
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทได้พัฒนามอเตอร์สำหรับสระว่ายน้ำจากมอเตอร์ AC เป็นมอเตอร์ DC ที่สามารถปรับใช้งานกับสระว่ายน้ำขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตและความต้องการของลูกค้าที่เน้นการใช้งานแบบประหยัดพลังงาน มอเตอร์ DC จึงเป็นมอเตอร์ที่ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ 20-40%
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ 'ปรับลดเป้ารายได้' ปีนี้จากเติบโต 20% แตะ 800 ล้านบาท เหลือเติบโต 5-10% จากรับผลกระทบการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ทำให้ลูกค้าเก่าชะลอ 'คำสั่งซื้อสินค้า' (ออร์เดอร์) แต่ปี 2564 คาดรายได้เติบโต 20% จากมียอดขายจากมอเตอร์สระน้ำ BLDC จากสหรัฐฯ ช่วยหนุน
ขณะที่ในปี 2565 คาดว่าจะมีรายได้แตะ 'พันล้านบาท' จากมีแผนขยายกำลังการผลิตมอเตอร์ BLDC เพื่อใช้สำหรับงานสระว่ายน้ำเพิ่มเป็น 400 ตัวต่อวัน จากปัจจุบันผลิตได้ 50-70 ตัวต่อวัน โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 26 ล้านบาทนอกจากนี้ ยังใช้ลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้า โดยเน้นหุ่นยนต์โรบอทหยิบชิ้นงานแผนกฉีดอลูมิเนียม , โรบอทหยิบชิ้นงานแผนกแกน , โรบอทหยิบชิ้นงานแผนกเปลือก , เครื่องจักรสำหรับแผนกฝา และ เครื่องพันลวดอัตโนมัติ
ประกอบกับ ลงทุนในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ERP ทดแทนของเดิม เพื่อรับรองการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงใช้ในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อทำให้แบรนด์ 'PIONEER' เป็นที่รู้จักในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น และ สามารถส่งออกไปประเทศกลุ่ม CLMV อย่าง ลาว กัมพูชา เวียดนาม และ เมียนมา ได้มากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีแผนลงทุนในเครื่องจักรเพื่อผลิตสินค้ารุ่นใหม่ ให้มีสินค้าหลากหลายมากขึ้นทั้งผลิตภัณฑ์เครื่องสูบน้ำหอยโข่ง เพื่อรองรับตลาด AUS , Europe, USA & Canada ที่มีความต้องการมากขึ้น โดยตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 150-200 ลูกต่อวัน จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 60-70 ลูกต่อวัน , มอเตอร์ภาคอุตสาหกรรม และ กลุ่มมอเตอร์สำหรับเครื่องปรับอากาศ และ มอเตอร์ HVAC BLDC MOTOR
ล่าสุดบริษัทได้พัฒนาตู้พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นสินค้าตัวใหม่ของบริษัท และ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งตู้ PIMO SANITISING GATE เป็นตู้พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัสทำความสะอาดหมดจดภายใน 3 วินาที ด้วยระบบการทางานแบบ Fully Automatic ใช้ระบบ Sensor เหมาะกับสถานที่รองรับคนจำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า , โรงพยาบาล , หน่วยงานภาครัฐ และ เอกชน รวมถึงที่สาธารณะต่าง ๆ บริษัทยังเดินหน้าขยายตลาดไปในประเทศยุโรป และ ตะวันออกกลางอย่างต่อเนื่อง
ซึ่ง ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกเพิ่มเป็น 40% จาก ณ สิ้นปีก่อนมีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 20% ปัจจุบันบริษัทมีการส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, กลุ่มประเทศในทวีปยุโรป เช่น เช็ค, เนเธอแลนด์ และตุรกี, กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เช่น ดูไบ, การ์ตา, คูเวต และ อิหร่าน, กลุ่มประเทศในเอเชีย เช่น ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, ศรีลังกา, อียิปต์, สิงคโปร์, บังคลาเทศ และ ฟิลิปปินส์ รวมถึงกลุ่มประเทศใน CLMV ทั้งกัมพูชา, ลาว, เมียนมา และ เวียดนาม
เขา บอกต่อว่า ปี 2564 บริษัทเตรียมเงินลงทุนไว้ 100 ล้านบาท สำหรับขยายกำลังการผลิตทั้งมอเตอร์ BLDC แตะระดับ 240 ตัวต่อวัน และเพิ่มมอเตอร์เพื่องานการเกษตรและอุปกรณ์ใช้ไฟฟ้า (มอเตอร์ความเร็วหนึ่งรอบ AC) จากปัจจุบันผลิตได้ประมาณ 400 ตัวต่อวัน โดยเป็นเงินที่ได้จากการออกวอแรนต์หรือเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ปัจจุบันมีเงินสดประมาณกว่า 100 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการใช้มอเตอร์ BLDC ในสหรัฐฯ เพิ่มอีกด้วย หลังสหรัฐฯ มีกฎหมายบังคับใช้มอเตอร์ประหยัดพลังงาน มีผลบังคับใช้เป็นทางการในวันที่ 18 ก.ค. 2564 ซึ่งในสหรัฐฯ มีสระน้ำในบ้านกว่า 10.4 ล้านสระ และสระน้ำสาธารณะกว่า 3 แสนสระ ที่รอการเปลี่ยนมอเตอร์เป็นรูปแบบประหยัดพลังงาน
โดย ณ ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้มาจากต่างประเทศ 48% ส่วนใหญ่มาจากตลาดสหรัฐ และในประเทศ 53% และตั้งเป้าปี 2564 เพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเป็น 60% และในประเทศ 40% เน้นการเพิ่มรายได้จากตลาดในสหรัฐฯ เพิ่มเป็น 40-45% จากปัจจุบัน 30%นอกจากนี้ บริษัทยังสนใจลงทุนระบบจอดรถอัตโนมัติเนื่องจากมีอัตรากำไรในเกณฑ์ที่ดี อัตราการเติบโตสูง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อร่วมลงทุนกับพันธมิตรในประเทศ 1 ราย คาดจะได้ความชัดเจนช่วงปลายปี 2563 และหากตัดสินใจร่วมลงทุนมีนโยบายเข้าลงทุนสัดส่วน 50%
โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่บริษัทเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่าย สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ประกอบด้วย 1.กลุ่มผลิตภัณฑ์มอเตอร์สำหรับเครื่องปรับอากาศ (Air Conditioner Motors) 2.กลุ่มผลิตภัณฑ์มอเตอร์กำลังสำหรับภาคอุตสาหกรรม (Induction Motors) เป็นมอเตอร์กำลังสำหรับภาคอุตสาหกรรม ลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่จะซื้อไปเพื่อใช้ในงานการเกษตร เนื่องจากเครื่องจักรการเกษตรส่วนใหญ่จะใช้มอเตอร์เหนี่ยวนาเป็นส่วนประกอบในการทำเครื่องจักรการเกษตร อาทิ พัดลมอุตสาหกรรม ปั๊มชัก ถังลม และเครื่องขูดมะพร้าว เป็นต้น
3.กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสูบน้ำ ปั๊มหอยโข่ง และมอเตอร์สำหรับสระและสปา (Submersible Pumps and Pool & Spa Pump Motors) และส่วนประกอบมอเตอร์อื่น ปัจจุบันมีการใช้เครื่องสูบน้ำ ปั๊มน้ำเพื่อทุ่นแรงในการจัดส่งน้ำสำหรับการบริโภค การเกษตร คมนาคม อุตสาหกรรม ตลอดจนการบำบัดน้ำเสียเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในเรื่องของความสะดวกสบายมากขึ้น
และ 4.กลุ่มผลิตภัณฑ์มอเตอร์สำหรับสระว่ายน้ำ (Pool Pump Motors) สระว่ายน้ำและระบบสปา นั้นต้องมีปั๊มน้ำเพื่อหมุนวนน้ำภายใน และกรองน้ำในสระว่ายน้ำ โดยปั๊มน้ำต้องมีความเหมาะสำหรับการใช้งานระบบกรองหมุนเวียนสระว่ายน้ำ
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายโดยหลัก คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสูบน้ำ ปั๊มหอยโข่ง และมอเตอร์สำหรับสระและสปา รองลงมา คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์มอเตอร์สำหรับเครื่องปรับอากาศ และกลุ่มผลิตภัณฑ์มอเตอร์กำลังสำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยในปี 2562 บริษัทผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ตามที่กล่าว คิดเป็นสัดส่วนโดยประมาณ 56.38% 32.29% และ 10.70% ตามลำดับ
ขณะที่ 'กลุ่มลูกค้า' และ 'กลุ่มลูกค้าเป้าหมายสินค้าประเภทมอเตอร์และเครื่องสูบน้ำ' มีหลากหลายประเภท ซึ่งมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ มอเตอร์ ดังนั้นผลิตภัณฑ์มอเตอร์ จึงเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่สำคัญอยู่ในเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ที่มีจำหน่ายกันมาเป็นระยะเวลานาน และมีพัฒนาการเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคทั้งในส่วนของภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรม
ท้ายสุด 'วสันต์' ฝากไว้ว่า ปีหน้ามีโอกาสจะเห็นผลดำเนินงานเติบโตแบบก้าวกระโดด จากผลิตภัณฑ์มอเตอร์สระว่ายจากสหรัฐฯ ฉะนั้น แม้ราคาหุ้นที่ผันผวนจะปรับตัวขึ้นหรือลง อยู่ที่นักลงทุนพิจารณาเราอยากให้มองที่ผลประกอบการเติบโตมากกว่า