'กยศ.' ยัน มีเงินพอให้ 'กู้' แน่นอน โค้งสุดท้ายรีบยื่น ก่อนปิดรับ 30 ก.ย.
กยศ.ปรับวงเงินกู้ยืมจากเดิม 34,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 37,000 ล้านบาท พร้อมยืนยันมีเงินจ่ายพอจ่ายแน่นอน เพราะเป็นกองทุนหมุนเวียน ไม่ได้ของบประมาณแผ่นดิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (11 ก.ย.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เปิดเผยถึงการขยายกรอบวงเงินให้กู้ยืมปีการศึกษา 2563 จากเดิม 34,000 ล้านบาท เป็น 37,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มโอกาสแก่นักเรียน นักศึกษาและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ พร้อมยืนยันว่า มีเงินเพียงพอให้ทุกคนได้กู้ยืมอย่างแน่นอน โดยยื่นขอกู้ยืมได้ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2563 นี้
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เปิดเผยว่า คณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาได้มีมติอนุมัติกรอบการให้กู้ยืมปีการศึกษา 2563 จากเดิมที่กองทุนได้กำหนดกรอบการให้กู้ยืม 34,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 37,000 ล้านบาท เพื่อรองรับผู้กู้ยืมจำนวนกว่า 650,000 ราย เนื่องจากขณะนี้มีผู้กู้ยืมรายใหม่ยื่นคำขอกู้ยืมมากกว่ากรอบการให้กู้ยืมที่เคยตั้งไว้เป็นจำนวนมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- 'กยศ.' เปิดบริการกู้ยืมออนไลน์ ผ่านแอพพลิเคชัน 'กยศ. Connect' เช็ควิธีใช้งานที่นี่
- เบี้ยวหนี้ ‘กยศ.’ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?
- 3 วิธี วางแผนจ่ายหนี้ 'กยศ.' ให้หมดไว ไม่เสียประวัติ
อีกทั้งกองทุนได้มีการปรับคุณสมบัติเฉพาะรายได้ต่อครอบครัวของผู้กู้ยืมที่ขาดแคลนทุนทรัพย์จากไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี เป็นไม่เกิน 360,000 บาทต่อปี รวมถึงมีครอบครัวของผู้กู้ยืมที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19)
พร้อมกันนี้ กองทุนยังได้มีการปรับเพิ่มค่าครองชีพรายเดือนให้ผู้กู้ยืมทุกระดับการศึกษาอีกรายละ 600 บาท/เดือน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากเดิม 1,200 บาท เป็น 1,800 บาท/เดือน ส่วนระดับ ปวช./ปวส./ปริญญาตรี จากเดิม 2,400 บาท เป็น 3,000 บาท/เดือน
โดยการขยายกรอบการให้กู้ยืมดังกล่าวจะช่วยสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษาเพิ่มขึ้นเพียงพอสำหรับผู้กู้ยืมทั้งรายเก่าและรายใหม่ทุกคนที่มีคุณสมบัติครบตามที่กองทุนกำหนดได้กู้ยืมเรียนโดยไม่มีโควตาของแต่ละสถานศึกษาอย่างแน่นอน
สำหรับกรณีที่ผู้กู้ยืมในกลุ่มสังคมออนไลน์ได้แชร์ข้อความว่า ยังไม่ได้รับเงินโอนค่าครองชีพเป็นเดือนที่ 2 และเกรงว่ากองทุนจะไม่มีเงินเพียงพอให้กู้ยืมนั้น กองทุนขอชี้แจงว่า กยศ. เป็นกองทุนหมุนเวียนที่ไม่ได้ขอรับงบประมาณแผ่นดินตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา และขอยืนยันว่าปัจจุบันกองทุนมีเงินเพียงพอให้กับผู้กู้ยืมทุกคน
ทั้งนี้ กองทุนขอชี้แจงเงื่อนไขในการโอนเงินการค่าครองชีพว่า หากสถานศึกษาทำการตรวจสอบเอกสารและยืนยันข้อมูลแบบลงทะเบียนผู้กู้ยืมในระบบ e-Studentloan เรียบร้อยแล้ว กองทุนจะโอนเงินค่าครองชีพในเดือนแรกเข้าบัญชีของผู้กู้ยืมในระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน และเมื่อสถานศึกษาจัดส่งเอกสารการกู้ยืมที่ถูกต้องและครบถ้วนแล้วกองทุนจะทำการโอนเงินค่าครองชีพของผู้กู้ยืมในเดือนที่ 2 เป็นต้นไป
ด้านความคืบหน้าการกู้ยืมปีการศึกษา 2563 จากการที่กองทุนได้เปิดระบบการกู้ยืม e-Studentloan ให้นักเรียน นักศึกษาดำเนินการยื่นความประสงค์ขอกู้ยืมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ได้มีผู้ยื่นขอกู้ยืมแล้วจำนวนกว่า 610,000 ราย โดยกองทุนได้ขยายเวลาในการยื่นแบบคำขอกู้ยืมเงินไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.studentloan.or.th หรือสอบถามได้ที่ กยศ. Call Center 0 2610 4888 หรือ Line บัญชีทางการ กยศ.” ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวในที่สุด