โบรกจับตาวอลุ่ม‘ชอร์ตเซล’คึก ส่อกดดันดัชนีรูดต่ำ 1,200 จุด เหตุมูลค่าหุ้นไทยแพง
ตลท. ประกาศใช้เกณฑ์ “ชอร์ตเซล” ปกติ พร้อมปรับ “ซิลลิ่ง-ฟลอร์” กลับไปที่ 30% เท่ากับช่วงก่อนโควิด หลังความผันผวนในตลาดลดลง “มนตรี” ห่วงรายย่อยเสียเปรียบ ย้ำหากสัดส่วนลดเตรียมเรียกร้องทบทวน ด้าน “นักวิเคราะห์” ฟันธงยอดชอร์ตเซลส่อพุ่ง กดดันดัชนีหุ้น
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) แจ้งกลับไปใช้เกณฑ์ปกติสำหรับการขายชอร์ต (Short sell) โดยใช้ราคาที่สูงกว่าหรือเท่ากับราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Zero Plus Tick) รวมถึงกลับไปใช้เกณฑ์ Ceiling และ Floor ที่ระดับเพิ่มขึ้นและลดลง 30% ภายในวันเหมือนช่วงก่อนที่จะมีการปรับเกณฑ์ก่อนหน้านี้ โดยเกณฑ์ล่าสุดนี้จะมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 เป็นต้นไป
สาเหตุที่กลับมาใช้เกณฑ์ดังกล่าว ตลท. ให้เหตุผลว่า ภาวะตลาดในปัจจุบันมีความผันผวนลดลงกลับมาอยู่ในระดับปกติจากช่วงที่ตลาดเคยผันผวนรุนแรง
นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ยังต้องติดตามว่าตลาดหุ้นไทยจะไปทิศทางไหน หลัง ตลท. ปรับมาใช้เกณฑ์ชอร์ตเซลปกติ ขณะเดียวกันต้องดูว่าสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยจะเป็นอย่างไร เพราะการให้ชอร์ตแบบ Zero Plus Tick มีผลทำให้นักลงทุนรายย่อยเก็งกำไรหุ้นได้ยากขึ้น
ทั้งนี้ หากนักลงทุนรายย่อยมีสัดส่วนการลงทุนที่ลดลง กลับไปอยู่ระดับเดิมก่อนเกิดโควิด-19 ที่ระดับ 29-30% ก็คงต้องหารือกับ ตลท.อีกครั้ง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยปัจจุบันสัดส่วนผู้ลงทุนรายย่อยอยู่ที่ระดับ 48-50%
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ประเมินผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ คาดว่ามูลค่าการขายชอร์ตมีโอกาสปรับตัวสูงกว่าวันละ 1 พันล้านบาท ได้อีกครั้ง จากความคล่องตัวในการทำธุรกรรมที่มากขึ้น ประกอบกับมูลค่าของหุ้นไทยที่อยู่ในระดับสูง
“การ short sales จะทำให้ดาวน์ไซด์ของตลาดเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (ดัชนี SET) อาจจะลงไปถึง 1,200 จุด หรือต่ำกว่านั้น เพราะที่ผ่านมา ด้วยกลไลของตลาดหลักทรัพย์ฯ มันบิดเบือนดัชนีอยู่เป็นปัจจัยใหญ่ เมื่อกลไกนี้ถูกยกออกไป การบิดเบือนก็จะลดลง ดัชนีจะกลับไปสู่ความจริงมากขึ้น”
ด้วยประมาณการของกำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาดสำหรับปีหน้า ระดับดัชนี SET ที่ 1,200 จุด เป็นจุดที่น่าจะเหมาะสม ขณะที่ระดับดัชนีบริเวณ 1,300 จุด เป็นระดับที่เปราะบางมากๆ ขณะเดียวกันหุ้นที่สามารถถูกขายชอร์ตได้อยู่ในกลุ่ม SET100 ซึ่งมีผลกระทบกับดัชนีค่อนข้างมาก
ในแง่ความผันผวน คาดว่าการปลดล็อกเกณฑ์เกี่ยวกับการขายชอร์ตจะเป็นปัจจัยที่สร้างความผันผวนให้กับดัชนี SET มากขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 เป็นต้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผันผวนในทางลง
แต่หากพิจารณาเฉพาะความผันผวนจากการกลับมาใช้เกณฑ์ Ceiling และ Floor ที่ 30% เช่นเดิม ความผันผวนจะเกิดกับหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กมากกว่า เพราะหุ้นขนาดใหญ่มักจะไม่เคลื่อนไหวระหว่างวันเกิน 15% อยู่แล้ว แต่หุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กมีโอกาสผันผวนมากขึ้น เพราะปริมาณของ bid และ offer ไม่ได้สูงมากนัก
“หากกลับไปใช้เกณฑ์เดิมแล้ว และมีประเด็นสำคัญเข้ามากระทบต่อหุ้น อาจเห็นการแกว่งตัวที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางบวกหรือทางลบ แต่ในแง่ดัชนีภาพรวมคิดว่าความผันผวนจะไม่เปลี่ยนไปมากนัก อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ดัชนี SET จะปรับตัวลดลงน่าจะเกิดขึ้นช่วงเดือน ต.ค. หรือ พ.ย. นี้ หากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3 ปี 2563 ไม่ถึงความคาดหวังที่ตลาดตั้งไว้ รวมถึงความไม่แน่นอนจากช่วงก่อนการเลือกตั้งสหรัฐในเวลานั้นด้วย”
ทั้งนี้ ประเมินว่าหุ้นในกลุ่ม SET100 ที่มีโอกาสถูกขายชอร์ตมากขึ้น น่าจะปรับตัวได้แย่ (Underperform) กว่าหุ้นกลุ่มนอก SET100 อย่างเช่นหุ้นในดัชนี sSET ต่อไป เพราะไม่เพียงแต่จะเผชิญกับแรงขายที่อาจเพิ่มขึ้น แต่หุ้นขนาดใหญ่เหล่านี้โดยเฉพาะหุ้นใน SET50 ต่างมีมูลค่า (Valuation) ที่สูงกว่าหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
เมื่อลองพิจารณาผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของหุ้นในแต่ละกลุ่มแบ่งตามเกณฑ์ดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ จะเห็นว่าหุ้นในกลุ่มขนาดกลางและขนาดเล็ก คือ หุ้นในดัชนี maiและดัชนี sSET (หุ้นนอก SET100) เป็นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนดีกว่ากลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะพิจารณาจากผลตอบแทนเฉพาะ ‘ส่วนต่างราคา’ หรือ ‘ผลตอบแทนรวม (TRI)’ โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึง 18 ก.ย. 2563 ดัชนี SET ติดลบ 18.45% และ 15.95% ตามลำดับ ขณะที่ดัชนี sSET ติดลบ 10.52% และ 5.32% ตามลำดับ ส่วนดัชนี maiเพิ่มขึ้น 0.30% และ 3.69% ตามลำดับ
สำหรับข้อมูลการขายชอร์ตในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา พบว่า 5 หุ้นที่มีมูลค่าการขายชอร์ตมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK และ KBANK-R) รวมกันมูลค่า 2.36 พันล้านบาท บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) มูลค่า 2.04 พันล้านบาท บมจ.ซีพีออลล์ (CPALL) มูลค่า 1.45 พันล้านบาท บมจ.ปตท. (PTT) มูลค่า 1.35 พันล้านบาท และบมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) มูลค่า 1.07 พันล้านบาท
ส่วนการเคลื่อนไหวของดัชนี SET วานนี้(21ก.ย.) ดัชนีรีบาวด์ขึ้นในช่วงการซื้อขายภาคเช้าหลังจากการชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย.ที่ผ่านมา ไม่มีเหตุรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตามในช่วงการซื้อขายภาคบ่ายเริ่มมีแรงเทขายหุ้นออกมาอย่างหนัก ซึ่งเป็นผลจากความกังวลในตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังจากมีข่าวว่า อังกฤษอาจกลับมาล็อกดาวน์อีกรอบเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมไปถึงมีข่าวว่า ธนาคารในยุโรป มีส่วนเข้าไปพัวพันกับการโยกย้ายเงินผิดกฎหมาย ส่งผลให้ดัชนีหุ้นต่างประเทศโดยเฉพาะดาวน์โจนส์ฟิวเจอร์ปรับลดลงรุนแรง
สำหรับ SET วานนี้(21ก.ย.) ปิดตลาดที่ 1,275 จุด ลดลง 13.23 จุด คิดเป็นการลดลง 1.03% มูลค่าการซื้อขายรวม 40,183 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,889 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 2,719 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนในประเทศ ซื้อสุทธิ 4,283 ล้านบาท และ พอร์ตโบรกเกอร์ ซื้อสุทธิ 324 ล้านบาท
นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงแรง จาก 2 ปัจจัยคือ ความเสี่ยงการระบาดของโควิด-19 รอบ2 ในอังกฤษและยุโรป ซึ่งอาจทำให้อังกฤษมีความเสี่ยงที่จะล็อกดาวน์ประเทศซึ่งกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจ และจากสำนักข่าวต่างประเทศรายงานธนาคารยุโรปหลายแห่งมีการโยกย้ายเงินระหว่างประเทศผิดกฎหมายทำให้หุ้นแบงก์ยุโรปปรับตัวลดลงกดดันดัชนีหุ้นยุโรปร่วงแรง
สำหรับแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ (22ก.ย.) คาดว่า ดัชนีมีโอกาสแกว่งตัวในแดนลบ เนื่องจากตลาดยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่เข้ามาหนุน โดยมองแนวรับที่ระดับ 1,260 จุด แนวต้านที่ระดับ 1,286 จุด