'อินเด็กซ์' พลิกธุรกิจ360องศา ดึงรพ.-รร.รุกบริการสุขภาพ
อินเด็กซ์ฯ พลิกธุรกิจ 360 องศา ผนึกเทคคอมพานี ปั้นโมเดลดึงบริการตรวจ บำบัด ป้องกันและความงาม ให้บริการในโรงแรม 5 ดาว นำร่อง 20แห่ง เชื่อโมเดลช่วยพลิกฟื้นธุรกิจโรงแรมเผชิญพิษโควิด ผสานจุดแข็งระบบสาธารณสุขไทย รอดไปด้วยกัน
เมื่อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) ออกอาละวาด จนภาคธุรกิจใกล้จมน้ำ ทว่าวิกฤติกลายเป็นโอกาสสู่การเปลี่ยนผ่าน หลายโมเดลธุรกิจใหม่อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน
ล่าสุด “อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ” เจ้าพ่อธุรกิจอีเวนท์ในไทยและติดอันดับโลก ได้พลิกธุรกิจ 360องศา รุกสู่ “ธุรกิจบริการสุขภาพ” และยังเป็นการบรรเทาปัญหาให้เพื่อนธุรกิจที่เป็นด่านหน้าบาดเจ็บสาหัส อย่างภาคท่องเที่ยว โรงแรม และโรงพยาบาล เชื่อมต่อกับเทคโนโลยี คอมพานี บริษัทสตาร์ทอัพ ให้รอดไปด้วยกัน
นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าหลังจากธุรกิจอีเวนท์ ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนักหน่วง จนต้องหยุดการบริการ จากการปิดประเทศ (ล็อกดาวน์) เป็นระยะเวลา 4-5 เดือน และคาดว่าต้องใช้เวลาอีกนานการฟื้นธุรกิจนี้
ทำให้อินเด็กซ์ฯ พยายามหาโมเดลธุรกิจใหม่มาผลักดันรายได้หล่อเลี้ยงองค์กร เน้นไปที่ธุรกิจบริการสุขภาพซึ่งถือเป็นธุรกิจแห่งโอกาสหลังโควิด -19 โดยร่วมมือกับพันธมิตร พัฒนาธุรกิจใหม่ภายใต้ชื่อ “อัญยา เมดิเทค” (ANYA MEDITEC) เพื่อดำเนินธุรกิจดังกล่าว
โดยมีพันธมิตร ประกอบด้วย ผู้มีประสบการณ์จากโรงพยาบาลเอกชนนานกว่า10ปี และบริษัทสตาร์ทอัพดูเรียน คอร์ปปอเรชั่น (Durian Corp),บริษัทนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์ เรสท์ เมดิคอล (ประเทศไทย) และกลุ่มธุรกิจโรงแรมที่ตั้งเป้าหาพันธมิตร10แห่งภายใน2เดือนแรก ก่อนขยายไปสู่20แห่งในปี2564 เปิดให้บริการแบบทดลองแล้ว ใน 2 แห่ง คือ โรงแรมชาเทรียม และโรงแรมสุโขทัย ตั้งเป้าหมายรายได้แตะ100ล้านบาท ในปีแรกของการบริการ
เชื่อมเทคฯตอบโจทย์บริการ
ทั้งนี้ การบริการจะเชื่อมต่อกับบริษัทเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตอบโจทย์บริการ จับตลาดกลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ไทยมีอัตราการเติบโตขึ้น เพราะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และภาคเอกชนผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นเป็น “ศูนย์กลางการดูแลสุขภาพแห่งเอเชีย” นำร่องในกลุ่มตลาดบน ที่ดึงโรงแรม 10 แห่งมาร่วมกำหนดมาตรฐาน จากนั้นจะสร้างโมเดลธุรกิจรองรับการขยายตัวในอนาคต เพื่อเพิ่มจำนวนโรงแรม รวมถึงรุกไปตลาดต่างประเทศที่โรงแรมในไทยได้ปักธงธุรกิจ เช่น ดูไบ
“ธุรกิจสุขภาพโอกาสของไทย หลังโควิด ทำให้ความเป็นศูนย์กลางสุขภาพของไทยชัดเจน และโดดเด่นขึ้น รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติคุณภาพจับตลาดบนเอกับบีในอนาคต ถือเป็นการช่วยโรงแรมที่กำลังจะปิดตัวไม่มีผู้เข้าพัก นำร่องในประเทศและขยายไปตลาดต่างประเทศเมื่อเปิดน่านฟ้า เริ่มต้นกลุ่มสแกนดิเนเวียนหนีหนาวเข้ามาในไทยในช่วงหลังเดือนต.ค.นี้ ซึ่งฐานลูกค้าระดับไฮเอนด์อยู่แล้ว” เขากล่าว
ดักขุมทรัพย์สุขภาพ1.4ล้านล้านบาท
เขายังขยายความว่า ธุรกิจบริการสุขภาพ ยังมีช่องว่างมหาศาล เป็นน่านน้ำสีคราม (Blue Ocean) ถือเป็นเทรนด์ธุรกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกมีมูลค่า8แสนล้านดอลลาร์ (ราว24ล้านล้านบาท)มีอัตราเติบโต 7.5%ต่อปี โดยในไทยมีการใช้จ่ายด้านสุขภาพมูลค่า 4แสนล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี คาดว่าในอีก15ปีข้างหน้าเมื่อไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยจะใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มเป็น 1.4-1.8 ล้านล้านบาท โดยตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีมูลค่าราว 1.4 แสนล้านบาท โดยมีนักท่องเที่ยวด้านสุขภาพเข้ามารับบริการ (Medical tourism) 3.42 ครั้ง และมีกลุ่มผู้พำนักอาศัยและทำงานในไทยใช้บริการ 2.5 ล้านครั้ง
ขณะที่ธุรกิจโรงแรมและโรงพยาบาล ของไทยถือเป็นจุดแข็ง เนื่องจากมีชื่อเสียงในระบบสาธารณสุข และการท่องเที่ยว มีจำนวนห้องพักโรงแรมจำนวนมาก ไทยมีอัตราการเติบโตมากขึ้นทุกปี โรงแรมทั่วประเทศมีประมาณ 32,564 แห่ง มีห้องทั้งหมด1,254,168ห้อง มีพนักงานทั้งหมด1,630,419คน สัดส่วน95%ของโรงแรมทั้งหมดได้รับผลกระทบจากโควิดไม่มีรายได้ การแข่งขันสูงทำให้อัตราการเข้าพัก(Occupancy Rate)59-70%โดยเฉพาะหลังจากโควิด- 19โรงแรมเหลืออัตราORเพียง20-25%ในเบื้องต้นมีการปิดตัวไปแล้ว158แห่ง หากปล่อยให้ปัญหาการปิดตัวเพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานมหาศาล
ดันรายได้ใหม่-ลดพึ่งพาอีเวนท์
“นอกจากเป็นการเปิดประตูสร้างโอกาสธุรกิจใหม่แล้ว ยังช่วยลดผลกระทบจากการล็อกดาวน์ ทำให้การท่องเที่ยวลดลง จนขาดสภาพคล่อง และยังมีการแข่งขันที่รุนแรง คาดว่าโมเดลธุรกิจใหม่นี้จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ธุรกิจโรงแรมเติบโตไปพร้อมเทรนด์ความต้องการของนักท่องเที่ยวยุคหลังโควิด-19” นายเกรียงไกร กล่าวและว่า
โมเดลธุรกิจใหม่ที่อินเด็กซ์ฯ เข้าไปลงทุนนั้น ถือเป็นธุรกิจใหม่ที่สร้างความยั่งยืนให้กับกลุ่มธุรกิจที่ไม่ได้พึ่งพารายได้การจัดงานอีเวนท์ แต่เป็นการสร้างตลาดขึ้นมาใหม่ ที่สร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจได้มากกว่า
ชี้โมเดลธุรกิจแรกในโลก
ด้านโอฬาร วีระนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง ดูเรียน คอร์ปปอเรชั่น กล่าวว่า โมเดลธุรกิจนี้เกิดขึ้นจากการมองเห็นจุดแข็งของธุรกิจท่องเที่ยว และโรงแรมในไทย รวมถึงต้องการแก้ไขปัญหาช่วยเพื่อนธุรกิจที่กำลังจะปิดกิจการให้กลับมาอยู่รอดโดยการบริการดูแลสุขภาพ ซึ่งถือเป็นโมเดลแรกที่เกิดขึ้นในโลก
“เป็นการผนึกกำลังกันระหว่างบริษัทที่มีความคิดสร้างสรรค์ กระโดดผนึกกำลังกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ รวมไปถึงโรงแรม ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย โดยใช้ความมีชื่อเสียงที่ไทยมีจุดเด่นด้านระบบสาธารณสุข การรักษาพยาบาล พร้อมกันกับจุดแข็งด้านการท่องเที่ยว ที่มีสถานที่พักผ่อนสวยงาม โรงแรมพร้อมในการบริการ ถือเป็นโมเดลธุรกิจที่คิดเพื่อช่วยเพื่อนธุรกิจช่วยโรงแรมในภาวะที่ยากลำบาก พลิกฟื้นธุรกิจโรงแรม และยังช่วยให้คนเข้าถึงการบริการนำเทคโนโลยีดูแลสุขภาพได้ง่ายขึ้น เป็นโอกาสสร้างสตาร์ทอัพ ระดับยูนิคอร์นรายแรกของไทย ที่ธุรกิจมีมูลค่ากว่า1,000ล้านดอลลาร์”
ลุยบริการสุขภาพ-ความงามองค์รวม
นางสาว ทักษอร คงคาประเสริฐ กรรมการผู้จัดการบริษัท อัญยา จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจของบริษัทให้บริการ4ด้าน คือ การดูแลตรวจและบำบัดการนอนหลับ, จิตบำบัด ,กายภาพบำบัด และด้านศาสตร์การชะลอวัยและความงาม เป็นการดูแลสุขภาพโดยองค์รวม ตั้งแต่การป้องกันร่างกายก่อนป่วย เช่น การรักษาโรคนอนไม่หลับ แพคเกจ2คืน3วัน มูลค่า27,500บาทต่อคน เป็นการแก้ไขปัญหาตรงกลางระหว่างโรงแรมด้านเวลเนส ที่เสียค่าสมัครสมาชิกราคาสูง ส่วนโรงพยาบาลเอกชน ที่มักจะบริการเฉพาะผู้ป่วยเป็นหลัก