ถ้าอยากได้คำตอบทางออกดีๆ..อย่าใช้คำถามแย่ๆ!

ถ้าอยากได้คำตอบทางออกดีๆ..อย่าใช้คำถามแย่ๆ!

Part 1. คำถามที่อยู่ในหัว.. กับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่หลายๆธุรกิจยัง“ติดหล่ม” ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย เชื่อมโยงกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกจากไวรัสโควิด19 ยังแผลงฤทธิ์ต่อเนื่อง ส่งผลให้แทบทุกธุรกิจทั่วโลกทรุดกันไปตามๆกัน

ที่ผ่านมาไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว และส่งออกมาก เมื่อสองอย่างนี้ทรุด ก็เหลือการบริโภคในประเทศและการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งก็อยู่ในสภาวะหืดจับ ส่วนภาครัฐทุกวันนี้ทำได้เพียงกระตุ้นด้วยมาตรการทางการคลัง ที่พยายามแจกกระตุ้นให้จับจ่ายใช้สอย

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่า จากสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี สภาวะเศรษฐกิจของไทยถึงจะค่อยๆฟื้นตัว....! (ยังไม่รวมสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มสร้างความวุ่นวายตามท้องถนนมากขึ้นเรื่อยๆ)

Part 2. หมดยุค การพึ่งพาผู้นำเพียงคนเดียว!

ทุกวันนี้แต่ละธุรกิจก็พยายามดิ้นรนหาหนทางที่จะอยู่รอดให้ได้ บ่อยครั้งที่แต่ละองค์กรไม่ว่าขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ลงมาถึงขนาดเล็ก ต่างก็ระดมความคิดกันสุดชีวิต

(ถ้าท่านใดยังไม่อ่านคอลัมน์ตอนที่แล้ว. ตอน : ช่วยคิด ช่วยทำ ช่วยให้รอดได้ ขอแนะนำให้ย้อน

กลับไปอ่าน จะเชื่อมโยงกับคอลัมน์ที่ท่านกำลังอ่านตอนนี้ได้ดียิ่งขึ้นครับ)

ในอดีตจะพึ่งพาความคิด“ของผู้นำสูงสุด”เพียงคนเดียว ให้นำพาองค์กรให้รอด แต่บ่อยครั้งที่

ความคิดของผู้นำเพียงคนเดียว ยังยึดติดอยู่ใน“กรอบความคิดเดิมๆ ที่มาจากประสบการณ์เดิมๆ”ในขณะที่

โลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ยิ่งในปีนี้เปลี่ยนแบบไม่มีใครคาดคิดว่าโควิด19 จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั่วโลกและรุนแรงมากขนาดนี้

สำคัญไปกว่านั้น.. ทีมงานจำนวนมากที่อยู่หน้างานที่ปฏิบัติอยู่ทุกวัน จะพบเห็น “โลกแห่งความเป็นจริง”มากกว่าผู้บริหารระดับสูงที่แต่ละวันขลุกอยู่แต่ในห้องแอร์ แทบไม่เคยสัมผัสลูกค้าอย่างจริงจัง

ไอเดียและแนวคิดจากทีมงาน จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ยิ่งถ้าสามารถนำ วิสัยทัศน์ การคาดการณ์ของผู้นำองค์กร มาผสมผสานกับไอเดีย แนวคิดที่เกิดจากประสบการณ์การปฏิบัติหน้างาน เผชิญกับปัญหาหน้างานทุกวัน มาผสมให้กลมกล่อม ย่อมจะพบคำตอบและทางออกให้กับธุรกิจได้

Part 3. คำถามที่ ไม่ควรถาม!กับ คำถาม ที่ควรถามในสถานการณ์ปัจจุบัน!

ถ้าจะระดมความคิดกันระหว่างผู้บริหารกับผู้บริหาร หรือ ผู้บริหารกับทีมงานที่เป็นลูกน้อง ผู้นำสูงสุดและผู้บริหารที่มักจะเป็นฝ่ายตั้งคำถามทีมงานมาตลอด ต้องเรียนรู้ว่า ถ้าจะถาม ความถามอย่างไร? เพื่อให้ได้คำตอบและทางออก และ อย่าถามแบบใดที่ทำให้ทีมงาน “ไร้ทั้งไอเดีย ไร้ทั้งแรงใจที่จะตอบ!”

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ก็เครียดกันทุกระดับอยู่แล้วในทุกที่ ถ้าจะเพิ่มความเครียดด้วยคำถามลักษณะ กดดัน บีบคั้น... ถ้าท่านเป็นลูกน้องแล้วเจอคำถามลักษณะนี้ ท่านอยากจะตอบ... หรืออยากจะด่าสวนในใจ!? คำถามที่ “ไม่ควรถาม” ระหว่างผู้นำ กับทีมงาน เมื่อจำเป็นต้อง ตัดลดค่าใช้จ่าย..

(ถามเชิงลบ) ผู้บริหาร : “ในสถานการณ์แบบนี้ พวกคุณต้องเข้าใจ และเห็นใจบริษัท เพราะฉะนั้น พวกคุณต้องช่วยกันคิดให้ออก ว่าบริษัทจะ”ตัดค่าใช้จ่าย“ในเรื่องใดได้บ้าง?”

คำถามนี้ ฟังเผินๆ ก็เหมือนเป็นคำถามที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันอยู่แล้วนี่ แล้วมันไม่ดีตรงไหน!?

ลองอ่านและวิเคราะห์แต่ละคำดูนะครับ ว่าคำถามนี้เป็นคำถามเชิงลบ แบบบั่นทอนกำลังใจแบบไม่ตั้งใจ เพราะมี“คำที่ไม่ควรใช้”ในประโยคนี้กี่คำ!?

(มีหลายคำให้ลองวิเคราะห์ดู ตัวอย่างเช่นคำว่า “พวกคุณ” ไม่ควรใช้ เพราะหมายถึงคุณกับผมไม่ใช่พวกเดียวกัน เป็นต้น!)

ยิ่งถ้าผสมผสานสีหน้าและน้ำเสียงดุดัน คาดคั้นของผู้ถาม..... คำตอบมักจะเป็น “ความเงียบ!”

แต่ถ้าเปลี่ยนเป็น...

(ถามเชิงสร้างสรรค์) ผู้บริหาร : "ในสถานการณ์แบบนี้ ทุกคนอาจจะต้องเผชิญความท้าทายในการทำงานมากขึ้น และสิ่งหนึ่งที่พวกเราทุกคนจะมีส่วนร่วมช่วยกันคิดช่วยกันทำได้คือการประหยัดค่าใช้จ่าย เพื่อให้ ‘ทุกคน’ อยู่รอดได้ในระยะยาว พวกเรามาช่วยกันคิดและช่วยกันทำโดยเริ่มตั้งแต่วันนี้กันเลยดีกว่า พวกเราจะช่วย ‘ประหยัดค่าใช้จ่าย’ อย่างไรได้บ้าง? และหลังจากนี้ พวกเราก็จะได้ ช่วยกันคิด หาแนวทางเพิ่มรายได้ เพื่อให้บริษัทของพวกเราทุกคนผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ ด้วย"วิธีใดบ้าง?"

คำถามแบบนี้ นอกจากจะเป็นคำถามที่ไม่บั่นทอนกำลังใจว่าจะตัดค่าใช้จ่ายหรือลดคน แต่คำถามนี้ ยังช่วยกระตุ้นให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการประหยัด ลดค่าใช้จ่าย ควบคู่ไปกับให้ทุกคนช่วยกัน

“หาวิธี” เพิ่มรายได้ควบคู่ไปกับการประหยัด เพื่อให้บริษัท (และทุกคน) ผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ ส่วนคำถามของผู้บริหารทีมขาย กับ ทีมขาย

(ถามเชิงลบ) ผู้บริหารทีมขาย : “ทุกวันนี้ผมต้องทนอยู่กับยอดขายตกต่ำมาหลายเดือนต่อเนื่อง พวกคุณคิดว่าเพราะอะไรทำให้พวกคุณขายไม่ได้ ทำไมพวกคุณไม่พยายามขายให้ได้มากกว่านี้ เพราะอะไร!?”

ถ้าท่านเป็นทีมขาย ท่านจะตอบอย่าง หน้าชื่นตาบาน หรือก้มหน้าแล้วเงียบดีกว่า เมื่อเจอคำถามลักษณะกดดัน ข่มขู่ กล่าวโทษแบบนี้!?

(ถามเชิงบวก) ผู้บริหารทีมขาย : “ในสภาวะที่ทุกบริษัทก็เจอวิกฤติโควิดจนทำให้ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย บริษัทเข้าใจความยากลำบากในการขายของพวกเราทุกคน แต่เราจะมาร่วมกันมองว่าเป็นความท้าทาย ที่จะช่วยกันหาวิธีสร้างยอดขายเพื่อให้มีโอกาสไปถึงเป้าหมาย เรามาเริ่มกันคิดดีกว่าว่า จะเริ่มจากตรงไหนได้บ้าง?”

หวังว่าทุกท่านคงจะนำไปปรับใช้ได้บ้างนะครับ เพราะในสภาวะปัจจุบัน ถ้าอยากได้คำตอบ/ทางออกดีๆ.. อย่าใช้คำถามแย่ๆ! ต้องใช้คำถามที่กระตุ้นและสร้างกำลังใจเพื่อให้ช่วยกันหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ครับ.