ตัดสิทธิบัตรทอง ‘บีซีเอช’ กระทบภาพลักษณ์-พื้นฐานไม่เปลี่ยน
ถือเป็นข่าวใหญ่สะเทือนวงการแพทย์ไทย หลังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตรวจพบการทุจริตการเบิกจ่ายงบบัตรทองครั้งใหญ่ในโรงพยาบาลและคลินิกทั่วประเทศรวม 108 แห่ง
แบ่งเป็นโรงพยาบาล 10 แห่ง และคลินิกอีก 98 แห่ง ซึ่งมีทั้งคลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกอายุรกรรม และคลินิกทันตกรรม โดย สปสช. ประกาศยกเลิกสัญญาการให้บริการบัตรทองกับโรงพยาบาลและคลินิกทั้งหมดที่พบการทุจริต โดยมีผลตั้งแต่วานนี้ (1 ต.ค.) เป็นต้นไป ซึ่งเบื้องต้นมีการคาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้สิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ หลักล้านคน
และเมื่อตรวจสอบดูปรากฎว่าพบรายชื่อ “โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รามคำแหง” ของกลุ่มบริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH ติดอยู่ด้วย แน่นอนเมื่อข่าวออกมาเช่นนี้ ย่อมกระทบต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของบริษัท กลายเป็นประเด็นกดดันราคาหุ้น BCH ไปโดยปริยาย
โดยขั้นตอนหลังจากนี้ต้องมาตรวจสอบ พิสูจน์ความจริงต่อไปว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ซึ่งประเด็นที่เกิดขึ้นทางผู้บริหารของ BCH ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดย “หมอเหลิม” หรือ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า พร้อมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และถ้าพบว่ามีพนักงานของบริษัทไม่ว่าจะระดับใดก็ตามทุจริตจริงต้องดำเนินการตามกฎหมาย
ในนามของผู้บริหารไม่สบายใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และทางโรงพยาบาลพร้อมที่จะรับผิดชอบ เพราะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์โดยตรง ส่วนผลกระทบต่อกำไรคงไม่มาก เพราะโรงพยาบาลได้ยกเลิกการให้บริการกลุ่มผู้ป่วยบัตรทองมาตั้งแต่ปี 2554 แล้ว ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้จากภาครัฐเพียงโครงการเดียว คือ “ประกันสังคม”
ข้อมูลล่าสุด ณ งวด 6 เดือนแรก ปี 2563 กลุ่ม BCH มีรายได้รวม 4,298.15 ล้านบาท แบ่งเป็น ผู้ป่วยทั่วไป 2,715.85 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 63.19%, ผู้ป่วยประกันสังคม 1,544.78 ล้านบาท คิดเป็น 35.94% และ รายได้อื่นๆ 37.52 ล้านบาท คิดเป็น 0.87%
ด้านบล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า ประเด็นข่าวที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาพลักษณ์ของบริษัท และมีแนวโน้มที่ BCH จะต้องจ่ายเงินชดเชยย้อนหลังและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นการพิสูจน์หลักฐาน และถ้าหาก BCH มีความผิดจริง มองว่าจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของนักลงทุนมากกว่าผลกระทบต่อกำไรของบริษัท
ทั้งนี้ หากมองอีกมุม เมื่อโรงพยาบาลและคลินิกจำนวนมากถูกยกเลิกสัญญาบัตรทอง ทำให้ผู้ป่วยที่ถือบัตรทองต้องย้ายสิทธิ์ไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ที่เข้าร่วมโครงการแทน ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ไม่ได้เข้าร่วมโครงการบัตรทองอยู่แล้ว จึงไม่ได้รับประโยชน์จากลูกค้าที่จะย้ายเข้ามาใช้บริการ
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าข่าวที่เกิดขึ้นกลายเป็นปัจจัยหลักฉุดราคาหุ้น BCH ปรับตัวลดลงในช่วง 2 วันทำการที่ผ่านมา ดิ่งรวมกว่า 5% ลงมาปิดการซื้อขายล่าสุดวานนี้ (1 ต.ค.) ที่ 13.80 บาท ลดลง 0.10 บาท หรือ 0.72% สวนทางภาวะตลาดที่มีแรงซื้อกลับ สามารถรีบาวด์ฟื้นตัวขึ้นมาได้
แต่ดูแล้วราคาหุ้นไหลลงมารับข่าวพอสมควร ขณะที่ผลกระทบต่อผลประกอบการคงไม่ได้มีนัยสำคัญ ไม่ได้ทำให้พื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนไป ยิ่งช่วงครึ่งปีหลังแนวโน้มธุรกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 3 ซึ่งเข้าสู่หน้าฝน ถือเป็นไฮซีซั่นของธุรกิจโรงพยาบาล
โดยรายได้จากผู้ป่วยประกันสังคมและรายได้จากการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ยังเติบโตดี นอกจากนี้ บริษัทยังได้ร่วมกับโรงแรม 12 แห่ง เป็นสถานที่กักตัวทางเลือกของรัฐ (Alternative State Quarantine หรือ ASQ) และการกักตัวในโรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine หรือ AHQ) ซึ่งจะเป็นรายได้ใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามา ยิ่งตอนนี้รัฐบาลเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ยิ่งหนุนให้อัตราการเข้าใช้บริการเพิ่มมากขึ้น
ส่วนในช่วงปลายปีเตรียมเปิดให้บริการโรงพยาบาลใหม่ เกษมราษฎร์ ปราจีนบุรี จับกลุ่มลูกค้านิคมอุตสาหกรรมและผู้ป่วยประกันสังคม และโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทร์ ในสปป.ลาว ต้นปีหน้า แม้จะต้องแบกรับผลขาดทุนในช่วงแรกที่เปิดให้บริการ แต่จะช่วยเพิ่มฐานคนไข้และรายได้ของบริษัทในระยะยาว