'บิ๊กดาต้าเมือง' ปูทางสมาร์ทซิตี้
“สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย” แนะอีอีซี ทุ่มงบลงพื้นที่ให้ความรู้สมาร์ทซิตี้ สำรวจความต้องการของประชาชน พร้อมจัดทำบิ๊กดาต้าพัฒนาเมืองเหมาะสมกับพื้นที่
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า การพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มองว่าพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา นั้นมีพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศสิงคโปร์หลายเท่า แต่งบประมาณในการสนับสนุนในการสำรวจเพื่อวางแผนการทำสมาร์ทซิตี้ ยังมีอยู่น้อย เมื่อเทียบกับประเทศสิงคโปร์ที่มีพื้นที่ประมาณ 500 ตารางกิโลเมตร ใช้งบประมาณมหาศาลทำให้สิงคโปร์ใช้เวลาเพียง 10 ปี ในการก้าวสู่สังคมเมืองดิจิทัล ขณะที่พื้นที่อีอีซีทั้ง 3 จังหวัด มีพื้นที่กว่า 1 หมื่นตารางกิโลเมตร ใช้งบประมาณน้อยกว่ามาก อาจทำให้การพัฒนาไปสู่สมาร์ตซิตี้จะต้องใช้เวลายาวนาน
ประกอบกับ พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ พ.ร.บ.อีอีซี ได้ล็อคและชี้นำว่าเมืองจะต้องเป็นไปในทิศทางใด ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการวางผังเมือง และถนนต่างๆ จำเป็นต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. โดยที่ยังไม่ได้มีการศึกษาที่ชัดเจน ซึ่งโดยปกติแล้วต้องมีการศึกษาพื้นที่ ทำประชามติและเวนคืนที่ดินอย่างถูกต้อง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นักลงทุนที่สนใจลงทุน เช่นนักลงทุนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ก็ยังไม่สามารถวางแผนการลงทุนได้ เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถระบุเขตแนวที่ชัดเจน ทำให้เกิดความล่าช้าในการลงทุน
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ภาครัฐและเอกชนได้ตื่นตัวในเรื่องสมาร์ทซิตี้มากขึ้น โดยล่าสุด สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (เอ็นไอเอ) ได้จัดอบรมใน “หลักสูตรซีซีไอโอ ผู้บริหารเมืองนวัตกรรม” ทำให้เห็นภาพกว้างของการพัฒนาเมือง ซึ่งก็มีความยากง่ายของการพัฒนาอยู่หลายระดับ แต่ก็เป็นประโยชน์ในการนำไปใช้ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้โดยส่วนตัวมองว่าความเข้าใจเรื่องสมาร์ทซิตี้ของคนทั่วไปยังมีน้อย หากนำข้าราชการบางกลุ่มที่เกี่ยวข้องมาเรียนรู้คำว่าสมาร์ทซิตี้ใหม่อาจต้องใช้ระยะเวลา โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อพูดถึงสมาร์ทซิตี้มักจะนึกถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับเมือง เช่น ติดกล้องวงจรปิด เป็นต้นทั้งที่ ในความเป็นจริงสมาร์ทซิตี้จำเป็นต้องเริ่มต้นพัฒนาที่คนก่อน
เช่น การเก็บข้อมูลส่วนบุคคล ผ่านอุปกรณ์หรือสมาร์ทโฟน สามารถป้อนข้อมูลรวมไว้เป็นดาต้าเบส หรือบิ๊กดาต้าของเมือง และ จำเป็นต้องอยู่ในระบบคลาวด์ที่ทุกหน่วยงานสามารถใช้ดาต้าเบสรวมกันได้ และควรมีหน่วยงานกลางในการกำหนดมาตราฐานการจัดเก็บข้อมูลเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลมีการส่งเสริมการพัฒนาเมืองสู่สมาร์ทซิตี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่หลายๆ เมืองยังไม่เข้าใจเรื่องสมาร์ทซิตี้เท่าที่ควร และไม่ได้มีการพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง จึงทำให้การดำเนินการยังไม่ประสบความสำเร็จ อีกทั้งการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ไม่จำเป็นจะต้องดำเนินการเหมือนเมืองที่ประสบความสำเร็จแล้ว เนื่องจากแต่ละเมืองมีความต้องการที่แตกต่างกัน