‘Foresight’ ปั้นอนาคต คว้าทางเลือก ทางรอด
เพราะอนาคตเป็นเรื่องที่พยากรณ์ยาก ในเวลานี้ “Foresight” หรือ “การมองอนาคต” จึงเป็นส่วนหนึ่งของการทำแผนกลยุทธ์ในหลาย ๆองค์กร
ในสมัยก่อนคำ ๆนี้อาจไม่ค่อยมีใครพูดถึงกันมาก (และอาจถูกเรียกว่า Environmental Scanning หรือ SWOT Analysis)
เนื่องจากโลกในอดีตไม่ได้เปลี่ยนแปลงเร็วเหมือนในทุกวันนี้ อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีที่เป็นตัวเร่งให้ทุก ๆอย่างเปลี่ยนไปแบบพลิกฝ่ามือ เรียกว่าในทุกๆวินาที ทุกๆ นาทีก็มักจะมีปรากฏการณ์ใหม่ ๆเกิดขึ้นเสมอ
เทคนิคการมองอนาคตจึงเป็นเรื่องของการมอง “ระยะยาวกว่า” และ “ระยะกว้างกว่า” แต่จะกว้างหรือยาวแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละธุรกิจ เช่นถ้าเป็นธุรกิจสายการบินก็จะมองยาวถึง 30 ปี แต่ถ้าเป็นธุรกิจก่อสร้างอาจมองไปข้างหน้าแค่ 7 ปี หรือถ้าเป็นธุรกิจที่มาไวไปไวก็อาจมองสั้นยิ่งกว่านั้น ไม่ได้กำหนดว่าต้องกี่ปี แต่ขึ้นกับธุรกิจว่าจะได้ใช้ประโยชน์อย่างไรมากกว่า
องค์กรทำ Foresight ไปเพื่ออะไร เป้าหมายจริงๆก็คือการหาโอกาสเพื่อสร้างนวัตกรรม แปลกใหม่ ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน เป็นในเชิงของกลยุทธ์ เพราะถ้าทำสิ่งที่ทุกคนทำ ย่อมหมายถึงการต่อสู้ในสงครามราคา มีแต่จะเกิดการบาดเจ็บ ล้มตาย ทางตรงข้ามถ้าคิดในสิ่งใหม่ แปลกแต่เป็นสิ่งที่ลูกค้าอยากได้ก็จะเป็นโอกาสสำหรับองค์กร องค์กรใดที่ถือเป็นผู้บุกเบิกทำ Foresight ประสบความสำเร็จเป็นรายแรก ๆ คำตอบก็คือเชลล์ (ค้นดูกรณีศึกษาได้ง่ายๆในกูเกิล)
Foresight มีกฏกติกาว่า ต้องอย่าไปเชื่อเทรนด์ ว่ากันว่าเทรนด์ก็คือเป็นหลุมพรางของความล้มเหลว ยิ่งในโลกยุคนี้การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ง่ายและเร็วมาก การมองเทรนด์และใช้ประโยชน์จากมันก็ทำได้ภายในระยะเวลา 1-2 ปีเท่านั้น นอกจากนี้เทรนด์มักจะถูกพล็อตเป็นเส้นตรง จากจุดนี้ไปยังอีกจุดหนึ่ง แต่โลกอนาคตไม่ใช่เทรนด์ มันมีความหลากหลาย ซับซ้อน มีปัจจัยมากมายที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ แปลกๆใหม่ๆที่ที่ยากจะคาดเดา
ย้ำว่า Foresight เป็นการมองหาทิศทาง มุมมองที่กว้างขึ้น ยาวขึ้น และพยายามอธิบาย ภาพๆนั้น เพราะถ้าอธิบายไม่ได้องค์กรก็จะหากลยุทธ์ไปจัดการหาประโยชน์จากมันไม่ได้เช่นกัน
เพราะอนาคตเป็นอะไรได้หลายอย่าง อนาคตมีได้หลายแบบ และไม่มีใครรู้อนาคตจริงๆ ถ้าเป็นปกติทั่วไปเราจะมองอนาคตช่วงตรงกลาง จากวันนี้พุ่งไปข้างหน้า เหมือนโปรเจ็คเตอร์ที่ยิงลำแสงไปตรงๆ ทว่าภาพอนาคตมีความหลากหลาย อาจเบี่ยงซ้าย หรือเบี่ยงขวาก็ได้ ดังนั้นจึงไม่ควรเชื่อเทรนด์ที่ยิ่งแสงตรงแบบโปรเจ็คเตอร์
Foresight เป็นความพยายามปั้นอนาคต ที่ไม่ได้เป็นการไปตัดสินว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าอะไรดี อะไรไม่ดี เพียงแค่การพยายามวาดภาพว่ามันคืออะไร แต่ขั้นตอนการวางแผนกลยุทธ์ต่างหากที่องค์กรต้องพยายามหาเทคนิค วิธีการ กลยุทธ์ เพื่อให้ได้ประโยชน์ที่มากที่สุดจากภาพอนาคตแบบนั้น
เช่นถ้ามองเห็นว่าเศรษฐกิจในอนาคต 2-3 ปีข้างหน้าไม่ดีเลย ก็ไม่เป็นไร ซึ่งสิ่งที่ต้องคิดคือจะหาประโยชน์ หาโอกาสจากมันได้อย่างไร หรือจะเอาตัวรอดได้อย่างไร และถ้าเศรษฐกิจดี รุ่งเรืองดี องค์กรก็ต้องคิดใช้ประโยชน์จากมันเช่นเดียวกัน และจะเป็นเรื่องที่สูญเปล่าถ้าคิดหาทางใช้ประโยชน์จากมันไม่ได้เลย
Foresight จึงหมายถึง การเปิดใจให้กว้าง มองกว้าง มองไกล แล้วค่อยมากรองว่าด้วยสภาพแบบนี้ อะไรเป็นอนาคตที่องค์กรมีความต้องการมากที่สุดและค่อย ๆจัดการให้มันขับเคลื่อนเป็นไปได้อย่างที่ต้องการ โดยไม่ปล่อยให้องค์กรไหลไปตามกระแส หรือหากไหลก็ต้องมีสติ รู้ว่าเมื่อไหร่จะหยุด เมื่อไหร่ควรเร่งสปีด
การทำ Foresight ควรให้ใครเข้าร่วมบ้าง? การมองในเชิงกว้างกว่าคนที่เข้าร่วมก็ต้องกว้างหลากหลาย ไม่เพียงแค่ผู้นำระดับสูง อาจเป็นพนักงานในองค์กรเราตั้งแต่น้องๆหน้างาน หัวหน้างาน ผู้นำระดับสูง ลูกค้า ผู้มีส่วนได้เสีย กลุ่มเจนเนอเรชั่นใหม่ ก็เพื่อให้ได้มาซึ่งแนวคิดหลากหลาย ให้ได้มุมมองที่กว้างขึ้น ต้องไม่ใช่เลือกกลุ่มคนที่คิดเห็นเหมือนๆกันหมด จะไม่ได้ประโยชน์ คนทำงานองค์กรเดียวกัน ทำงานด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน ความคิดคล้ายๆกัน ก็จะขาดความหลากหลาย ก็ต้องคุยเพิ่มเช่นกับผู้ถือหุ้น คนกลุ่มอื่นๆ ลูกค้า และต้องไม่ตัดสินว่าใครคิดผิด ใครคิดถูก หรือจะหาแนวคิดจากเว็บไซต์ สิ่งที่มีการพูดถึงเป็นกระแสก็นำมาใช้ได้หมด เพื่อจะฟังและมองเห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต
"การจะทำกลยุทธ์องค์กรใน5 ปี 10 ปีข้างหน้า มองว่ามีความจำเป็นต้องอาศัยมุมมองของเจนเนอเรชั่นใหม่ ๆ ซึ่งแตกต่างไปจากคนรุ่นเก่า มองเห็นโลกคนละใบ และต้องอาศัยมุมมองของผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนั้น ๆด้วย ไม่เช่นนั้นทุกอย่างก็อาจจะลอย ฟุ้ง"
ควรจำกัดจำนวนคนหรือไม่ อย่างไร คำตอบก็ขึ้นอยู่ว่าองค์กรมีผู้มีส่วนได้เสียมากน้อยแค่ไหน ได้ข้อมูลใหม่ๆ ครบถ้วนแล้วหรือยัง อีกปัจจัยหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณและเวลา ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ ควรค่อยๆทำค่อยๆปรับไป
ในการทำมีตัวช่วยก็คือ ต้องจับจากสัญญาน หรือ Signalไม่ว่าจะเป็นข่าวคราว อีเวนท์ เหตุการณ์ต่าง ๆที่เกิดขึ้น การพูดคุยของผู้คนทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ คำว่าสัญญาน คือสิ่งที่กำลังกังวล เป็นอะไรที่ผู้คนมองว่ามันไม่ชัดแต่จริง ๆมันค่อนข้างชัด เช่นการมาถึงของยุคการเรียนการสอนออนไลน์ เมื่อมีสัญญานมาก ๆเข้าก็เกิดเป็นเทรนด์ เมื่อเป็นเทรนด์เพิ่มจำนวนมากขึ้นก็จะกลายเป็นเมกะเทรนด์ ซึ่งก็มีหลายสำนักที่คอยชี้เป้าเมกาเทรนด์ต่าง ๆที่เกิดขึ้น ซึ่งองค์กรสามารถนำเอามาช่วยมองอนาคตได้ ถ้าเมกาเทรนด์เป็นแบบนี้องค์กรจะมีกระทบอะไรบ้าง เช่นที่จะมาแน่ ๆหนีไม่พ้น โลกร้อน ,การขาดแคลนทรัพยากรต่าง ๆ, สังคมสูงวัย ฯลฯ บางเรื่องที่มีผลกระทบแต่ก็มีอีกหลายเรื่องที่อาจไม่ส่งกระทบ
แต่ก็อาจมีบางเรื่องที่เราพลาด มองผ่านไป เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Black Swan หรือหงส์ดำ ซึ่งปกติหงส์จะไม่มีสีดำ อย่างวิกฤติโควิด-19 ก็ถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ดังกล่าว เพราะเคยรู้มาก่อนหรือไม่ว่าโลกเคยมีโรคระบาด ก็รู้ว่าสมัยก่อนก็เคยเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้คิดเลยว่าจะมาเกิดขึ้นในยุคนี้ เพราะคิดเข้าข้างว่าตัวเองคงไม่โชคร้ายขนาดนั้น แต่มันก็เกิดขึ้น ซึ่งเป็นอะไรที่มีโอกาสเกิดน้อยมากๆ
ภาพอนาคตมีทั้งเป็นไปได้ และเป็นไปได้ แต่องค์กรต้องสนใจภาพอนาคตที่เป็นไปได้และนำเอามาทำ Scenario Planning ต้องอาศัยการจินตนาการไม่ได้ยึดภาพของโลกปัจจุบัน ถ้าเห็นว่าเทรนด์ไหนมีโอกาสก็ต้องหาทางผลักดันให้เกิดขึ้นในเวลาที่ต้องการ แต่ถ้าเรื่องใดถ้าเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลไม่ดีเลย ที่ต้องทำก็คือต้องระงับยับยั้งไม่ให้มันเกิด พยายามชะลอ หรือซื้อเวลา ให้มันเกิดช้าที่สุด เป็นต้น
ทั้งหมดนี้เป็นการเล่าสู่กันฟังถึงกลยุทธ์ Foresight ที่กรุงเทพธุรกิจได้ฟังจากงานสัมมนาออนไลน์ “Advanced Strategic Management for Enhancing Producttivity” โดยผู้ที่แชร์ความรู้ก็คือ “วลีพร ธนาธิคม” วิทยากรที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันเพิ่มผลิตแห่งชาติ