'มาตรการภาครัฐ' ก้าวต่อไปของเศรษฐกิจไทย
เปิดบทวิเคราะห์ "มาตรการภาครัฐ" ทั้งนโยบายการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยแค่ไหน? รวมถึงจะส่งต่อประเทศไทยอย่างไรบ้าง?
บทความนี้วิเคราะห์นโยบายการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ ว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ รวมทั้งมีข้อข้อเสนอแนะเชิงนโยบายทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว
สถานการณ์ในช่วงเวลานี้อาจกล่าวได้ว่านโยบายการคลังมีบทบาทโดดเด่นที่สุดในการกระตุ้นเศรษฐกิจและอุปสงค์ที่ลดลงจากการถดถอยทางเศรษฐกิจ (Recession) ทั้งในและต่างประเทศที่มีมาตั้งแต่ช่วงวิกฤติการเงินโลกในปี 2550 ผนวกเข้ากับการระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 และความกังวลที่คาดว่าจะมีการระบาดระลอกสองในปลายปีนี้ซึ่งอาจทำให้เกิดการล็อกดาวน์อีกครั้ง
แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมของชาติ (GDP) ในปีนี้ ให้มีแนวโน้มหดตัวน้อยกว่าประมาณการเดิม คือจากติดลบ 8.1% มาอยู่ที่ติดลบ 7.8% แต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจอื่นๆ ในเดือน ก.ย.2563 และไตรมาสที่ 4 ก็ยังคงไม่ฟื้นคืน การลงทุนจากภาคเอกชนยังติดลบ 11.4% เนื่องจากความกังวลด้านการฟื้นตัวของอุปสงค์ที่เป็นไปอย่างเชื่องช้า การจ้างงานและการส่งออกยังคงลดลงต่อเนื่อง คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงจาก 9 ล้านคนเป็น 6.7 ล้านคน และคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ยังไม่สู้ดีนัก
ดังนั้น รัฐจึงเน้นที่นโยบายการใช้จ่ายด้านต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่
1.มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 600,000 ล้านบาท และฟื้นฟูเศรษฐกิจ จำนวน 400,000 ล้านบาท
2.นโยบายสนับสนุนให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับธุรกิจขนาดย่อมและกลาง (Soft loan for SMEs)
3.นโยบายเที่ยวปันสุข : เราเที่ยวด้วยกัน จำนวน 22,400 ล้านบาท
4.การลงทุนจากภาครัฐที่ปรับตัวสูงขึ้นจาก 5.8% เป็น 8.8% ของจีดีพี
นโยบายการคลังที่เหมาะสมนั้นควรเป็นไป “แบบหดตัว” เพื่อจะสามารถลดความร้อนแรงของระบบเศรษฐกิจในช่วงเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วมากเกินกว่าขีดศักยภาพ และ “แบบขยายตัว” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาซบเซาได้
อย่างไรก็ตาม หากการใช้จ่ายและการลงทุนจากภาครัฐมากเกินไปอาจก่อให้เกิด Crowding-out effect ทำให้เกิดการขยายตัวของอุปสงค์ในเงินลงทุน อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นและนำไปสู่การสร้างต้นทุนที่สูงขึ้นสำหรับหน่วยธุรกิจ ผลคือการบริโภคและการลงทุนจากภาคเอกชนลดลง
แต่ถ้าพิจารณากรณีของประเทศไทย ณ ตอนนี้ที่กำลังเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 จะพบว่าระยะสั้น ช่วง 3-5 เดือน มองว่าการใช้จ่ายของภาครัฐยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะในขณะที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนและผันผวนสูง มาตรการที่ภาครัฐใช้มุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและย่อม เช่น มาตรการซอฟท์โลน ซึ่งเป็นผลดีในการเพิ่มสภาพคล่องในห่วงโซ่อุปทาน และยังช่วยให้ภาคธุรกิจชะลอการเลิกจ้างแรงงานในธุรกิจของตนเองได้ ในขณะเดียวกัน ภาครัฐก็พยายามออกมาตรการที่ส่งเสริมด้านอุปสงค์โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและการบริโภค เช่น มาตรการเราเที่ยวด้วยกัน มุ่งกระตุ้นให้คนที่มีระดับรายได้ปานกลางถึงสูงมีการใช้จ่ายมากขึ้น
โดยสรุปในระยะสั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางการใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวเพื่อเพิ่มสภาพคล่องและการอัดฉีดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลยังคงมีความจำเป็นและส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจอยู่ ส่วนการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในระยะกลางและระยะยาวควรมุ่งเน้นไปที่การลงทุนทั้งในทุนทางกายภาพและทุนมนุษย์
ระยะกลาง การลงทุนเพื่อสร้างและพัฒนาสาธารณูปโภคจากภาครัฐจะยังส่งผลดีให้กับการลงทุนภาคเอกชน เนื่องจากต้นทุนในการกู้ยืมต่ำเพราะอัตราดอกเบี้ยในกลุ่มประเทศส่วนใหญ่ต่ำ อีกทั้งอุปสงค์ในประเทศพัฒนาแล้วยังหดตัว การจะกู้ยืมเพื่อมาใช้จ่ายหรือลงทุนในโครงการที่มีประสิทธิภาพจะช่วยเพิ่มผลผลิตโดยไม่ทำให้อัตราส่วนของหนี้ต่อจีดีพีสูงขึ้นมากนัก
เมื่อดูตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของประเทศไทย แน่นอนว่าเพิ่มสูงขึ้นจาก 40% ของจีดีพีในเดือน ก.ค.2562 เป็น 47% ของจีดีพีในเดือน ก.ค.2563 (ข้อมูลจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ 2563) เนื่องจากการอัดฉีดที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐในช่วงวิกฤติโควิด-19 และสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
แต่อย่างไรก็ตาม หนี้สาธารณะของไทยในตอนนี้ยังคงไม่เกินกรอบความยั่งยืนทางการคลังเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่ค่าเฉลี่ยของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 57% จึงเป็นเหตุผลที่ว่า การลงทุนที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล ณ ตอนนี้ จะช่วยในลักษณะ Crowding-in effect คือสร้างความเชื่อมั่นให้กับการลงทุนจากภาคเอกชน มากกว่าจะเกิด Crowding-out effect และยังไม่อยู่ในความเสี่ยงที่จะเกิดความไม่ยั่งยืนทางการคลัง
ระยะยาว การดำเนินนโยบายการคลังทั้งในส่วนของภาษีและค่าใช้จ่ายภาครัฐจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ มาตรการค่าใช้จ่ายภาครัฐและภาษีควรเป็นไปเพื่อส่งเสริมส่วนเพิ่มในทุนมนุษย์และโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นหลัก
ทุนมนุษย์เปรียบเสมือนเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนการพัฒนาและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว เพราะการเพิ่มเฉพาะค่าใช้จ่ายและการลงทุนในภาครัฐเป็นอะไรที่ไม่ยั่งยืนและจะบั่นทอนระบบเศรษฐกิจจากการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีในระยะยาว ดังนั้นประเด็นสำคัญคือ การปรับปรุงและเพิ่มเติมทักษะทางด้านเทคโนโลยี กระบวนการคิด และทักษะในด้านภาษาต่างประเทศให้กับประชากรทั้งวัยเด็ก วัยทำงานและวัยเกษียณอายุ อาทิ
1.ส่งเสริมการศึกษาแบบพัฒนากระบวนการคิดไม่ใช่แค่เพิ่มจำนวนปีการศึกษาภาคบังคับ
2.จัดอบรมแรงงานยกระดับทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการทำงานให้กับประชากรวัยทำงาน และตอบโจทย์ความต้องการในตลาดแรงงานที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัล
3.ยกระดับคุณภาพของผู้สูงอายุให้เป็นพฤฒพลัง (Active ageing) เพื่อเพิ่มกำลังแรงงานและทุนมนุษย์ที่มีประสบการณ์รวมถึงลดอัตราการพึ่งพิงในอนาคต
ทั้งนี้ เพื่อการก้าวต่อไปยังข้างหน้าอย่างยั่งยืน ภาครัฐต้องเน้นเรื่อง “ธรรมาภิบาล” หรือการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมถึงความโปร่งใสและความมีเสถียรภาพทางการเมือง ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างปัญหาความไม่โปร่งใสและล่าช้าของพระราชบัญญัติงบประมาณและพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ ส่งผลการใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐติดขัด ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นในการลงทุนลดลงส่งผลต่อเนื่องไปถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าศักยภาพ
ภารกิจภาครัฐที่ต้องดำเนินไปพร้อมกัน ทั้งการลงมือในระยะสั้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอันเป็นผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 และเดินหน้าต่อในระยะยาวที่ต้องเน้นการยกระดับประสิทธิภาพและประสิทธิผลในทุนมนุษย์ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและรักษาธรรมาภิบาลของภาครัฐเองด้วย แม้จะยากแต่ต้องเริ่ม เพื่อให้เศรษฐกิจไทยแข็งแรงและพร้อมที่จะกลับมายืนอย่างมั่นคงได้ในอนาคต