'หุ้นไทย' ส่อหลุด 1,200 ‘ต่างชาติ’ ขนเงินกลับ

'หุ้นไทย' ส่อหลุด 1,200 ‘ต่างชาติ’ ขนเงินกลับ

โบรกเกอร์ฟันธง "หุ้นไทย" สัปดาห์นี้ปรับตัวลงต่อ เหตุกังวลการเมืองในประเทศ “หยวนต้า” ชี้ หากเกิดความรุนแรงกดดัชนีดิ่งแตะ 1,150-1,180 จุด "กสิกรไทย" ประเมินเม็ดเงินต่างชาติไหลออกต่อเนื่อง ด้าน “บลจ.พรินซิเพิล” เบรกเพิ่มน้ำหนักหุ้นไทย

สถานการณ์ชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 2563 ที่ร้อนแรงมากขึ้นหลังจากที่มีการนัดชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในกรุงเทพมหานคร ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 ต.ค. เป็นปัจจัยกดดันดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงติดต่อกัน 3 วันทำการเฉียด 40 จุด มาปิดตลาดวันศุกร์ที่ 16 ต.ค.ที่ 1,233.68 จุด ซึ่งเป็นระดับดัชนีปิดตลาดก่อนจะมีเหตุการณ์รัฐบาลสลายการชุมนุมที่บริเวณแยกปทุมวันในค่ำคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ (19-23 ต.ค.) จะขึ้นอยู่กับปัจจัยการเมืองในประเทศ และการประกาศผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ส่วนปัจจัยต่างประเทศไม่น่ากระทบมากเพราะใกล้เข้าสู่การเลือกตั้งของสหรัฐแล้ว

ทั้งนี้ บริษัทให้น้ำหนักกับ "ปัจจัยการเมืองใประเทศ" เป็นหลัก เนื่องจากปัจจุบันเริ่มมีความร้อนแรงมากขึ้น เพราะรัฐบาลเดินหน้าใช้กฎหมายเพื่อเอาผิดกับกลุ่มผู้ชุมนุม ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมที่ออกมาต่อต้านจำนวนก็ไม่ได้น้อยลงไป ทำให้ความเสี่ยงการเมืองอาจสูงขึ้น

ส่วนเรื่องการประกาศผลประกอบการกลุ่มแบงก์ อาจช่วยหนุนดัชนีได้บ้างแต่ไม่ได้คาดหวังสูง เพราะถ้ามีการปะทะกัน เกิดความรุนแรงขึ้น ดัชนีหุ้นไทยโดนกดดันหักล้างปัจจัยบวกอื่นๆ ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น เชื่อว่าจะไม่มีการออกมาตการใหม่เพิ่มในช่วงนี้ คงต้องรอให้ปัจจัยการเมืองนิ่งมากกว่านี้ เพราะหากออกมาก็จะไม่ได้ช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุน

  • หาก "ม็อบยืดเยื้อ" มีสิทธิ์หลุด 1,200 จุด

ดังนั้น จึงประเมินว่า ดัชนีมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลงอยู่ที่ 1,200 จุด ซึ่งลดลงไม่มาก เพราะปัจจุบันหุ้นไทยปรับตัวลดลงมากกว่า (Underperform) ตลาดหุ้นภูมิภาค 8% ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงที่ฮ่องกงเกิดการประท้วงเมื่อกลางปีที่แล้ว ตลาดหุ้นฮ่องกงก็ Underperform แต่หากมีปัจจัยมาหนุนให้ตลาดหุ้นเอเชียบ้าง เช่น การประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของจีน ไม่ว่าจะเป็นจีดีพี ผลผลิตภาคอุสาหกรรม และยอดค้าปลีกที่จะประกาศในวันนี้ (19 ต.ค.) ซึ่งถ้าออกมาดีช่วยหนุนตลาดหุ้นเอเชีย และทำให้ตลาดหุ้นไทยไม่ได้ปรับตัวลดลงมากนักจากปัจจัยการเมืองในประเทศ

ทั้งนี้ บริษัทประเมินว่า หากการชุมนุมมีความยืดเยื้อดัชนีจะแกว่งตัวในกรอบ 1,200-1,300 จุด แต่หากเกิดความรุนแรงเกิดขึ้น กดดันดัชนีปรับตัวลดลงทดสอบ 1,150-1,180 จุด ซึ่งประเมินดาวน์ไซด์ไม่มาก ซึ่งหากลงไปทดสอบก็จะมีแรงซื้อเข้ามา เพราะถ้าเกิดความรุนแรงเกิดขึ้น แสดงว่าการชุมนุมใกล้จบแล้ว ก็จะเป็นโอกาสในการเข้าซื้อ แต่หากมีการสลายการชุมนุมและไม่เกิดความรุนแรงมากนัก แกนนำชุมนุมโดนจับ จำนวนผู้ชุมนุมลดลง ดัชนีมีโอกาสขึ้นไปทดสอบระดับ 1,280-1,300 จุด ได้ ซึ่งในกรณีนี้ส่วนตัวมองกว่าเกิดขึ้นยาก

“การชุมนุมรอบนี้มีโอกาสยืดเยื้อ แต่รัฐบาลไม่อยากให้ยืดเยื้อมาก เพราะเศรษฐกิจจำเป็นต้องกระตุ้น ซึ่งทางเราประเมิว่าการชุมนุมแต่ละรอบใช้เวลา6 เดือน ซึ่งหากนับการชุมนุมที่เริ่มมาตั้งแต่กลาง ก.ค.-ต.ค. มา 3 เดือนแล้ว จึงประเมินว่ามีโอกาสการชุมนุมจะยืดเยื้อต่อไป 1-2 เดือนข้างหน้าหลังจากนั้นจะคลายตัวลง ซึ่งก็เหมือนกับการชุมนุมที่ฮ่องกง ก็จะคุ กรุ่น 6 เดือนเหมือนกัน”

160309100146

  • แนะเก็บสื่อสารปลอดภัยสูง

สำหรับทิศทางเม็ดเงินลงทุนต่างชาตินั้นที่ผ่านมาก็ขายหุ้นไทยต่อเนื่อง แต่พอเกิดปัจจัยการเมืองในประเทศเกิดขึ้นเชื่อว่าการไหลออกไม่น่าเพิ่มขึ้นมาก เพราะต่างชาติไม่ได้ถือหุ้นไทยสัดส่วนที่สูง แต่ในทางตรงกันข้ามนักลงทุนต่างชาติอาจใช้จังหวะนี้ในสลับตัวหุ้นในการลงทุนโดยขายหุ้นที่มีกำไรแล้วเข้าซื้อหุ้นตัวอื่นแทน

อย่างไรก็ตามการลงทุนในช่วงนี้แนะนำนักลงทุนเน้นซื้อหุ้นดีเฟนซีฟ หุ้นกลุ่มสื่อสาร ที่ได้ประโยชน์จากช่วงที่มีการชุมนุม, หุ้นกลุ่มยานยนต์ ที่ได้รับผลดีีจากการฟื้นตัวของตลาดยุโรปและจีน และหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว

  • "กสิกรไทย" ชี้ต่างชาติยังขาย

นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ยังไม่ค่อยสดใส ถูกกดดันจากปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นการเมืองในประเทศซึ่งจะเป็นตัวชี้ชะตาอนาคตตลาดหุ้นไทย

ขณะนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 2563 จะจบลงอย่างไร โดยเบื้องต้นประเมินว่า หากยังมีการชุมนุมต่อแต่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น หุ้นไทยไม่น่าหลุดแนวรับสำคัญที่ 1,200 จุด แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น มีการยกระดับการชุมนุมจะกดดันหุ้นไทยหลุด 1,200 จุดทันที โดยประเมินแนวรับอยู่ที่ 1,140 จุด

ในทางตรงกันข้ามหากมีการประกาศยุติการชุมนุม หรือ รัฐสภาเร่งแก้รัฐธรรมนูญตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้อง ถือเป็นปัจจัยบวกหนุนดัชนีฯ รีบาวด์ขึ้นไปทดสอบแนวต้านที่ 1,240 จุด

สำหรับแนวโน้มฟันด์โฟลว์สัปดาห์นี้ คาดนักลงทุนต่างชาติน่าจะขายสุทธิต่อเทียบเคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีตที่ขายสุทธิ 1.7 หมื่นล้านบาท ในช่วง 30 วันที่มีการชุมนุมทางการเมือง และนอกจากประเด็นการเมืองในประเทศแล้ว ยังต้องรอติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะมีขึ้นในช่วงต้นเดือน พ.ย. นี้ ซึ่งนักลงทุนทั่วโลกเฝ้ารอดูว่า สุดท้ายแล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไร ระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับ โจ ไบเดน ผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครต ที่มีคะแนนำในโพลสำนักต่างๆ

  • แนะชะลอลงทุนลดเสี่ยง

ทั้งนี้กลยุทธ์การลงทุนในสัปดาห์นี้ สำหรับนักลงทุนที่ไม่กล้าเสี่ยง แนะนำให้ชะลอลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์การเมืองในประเทศก่อน ส่วนนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ แนะนำลงทุน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาหารและยานยนต์ เนื่องจากสถิติในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ที่เกิดเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองในประเทศไทย ทั้ง 2 กลุ่มปรับตัวขึ้นได้ดีกว่าดัชนี

แนะนำหุ้น บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เป็นหุ้นเด่น ในกลุ่มอาหาร ส่วนกลุ่มยานยนต์แนะนำหุ้น บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ STA

  • กองทุนชะลอซื้อหุ้นไทย

นายวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) พรินซิเพิล จำกัด กล่าวว่า การชุมนุมทางการเมืองในขณะนี้ เป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมที่ทำให้นักลงทุนมีความกังวลมากขึ้น จากที่มีปัจจัยเสี่ยงเดิมทั้งผลกระทบเศรษฐกิจชะลอตัวจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วโลก และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

ดังนั้นจากความกังวลปัจจัยการเมืองในประเทศที่เพิ่มขึ้น ทำให้ในส่วนของกลยุทธ์การลงทุนของเราจึงได้ชะลอการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนหุ้นไทย จากก่อนหน้านี้เตรียมเพิ่มน้ำหนักในหุ้นไทยที่ระดับแนวรับที่ 1,200 จุด

ทั้งนี้ ภาพการชุมนุมทางการเมืองตอนนี้ค่อนข้างเรียบร้อยและไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น หากเป็นเช่นนี้ต่อไปแม้จะยืดเยื้อ และมีความพยายามหาทางออกร่วมกันกันด้วยเหตุและผล มองว่าจะไม่มีผลต่อบรรยากาศการลงทุนไปมากกว่านี้ เนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยตรงน้อยมาก เมื่อเทียบกับสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในอดีต เพราะปัจจุบันในแง่ของนักท่องเที่ยวต่างชาติแทบไม่มีอยู่ และคนสามารถปรับตัวทำงานที่บ้านได้หลังเกิด "โควิด-19" ระบาด

แต่หากเกิดสถานการณ์รุนแรงขึ้น มองว่า ดัชนีหุ้นไทยยังมีโอกาสเสี่ยงหลุดแนวรับ 1,200 จุด ประกอบกับตลาดหุ้นไทยเองตอนนี้ไม่มีปัจจัยบวกทั้งในและต่างประเทศมาสนับสนุน

“เรายังหวังว่าสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้ไม่เกิดความรุนแรง และมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ก็มีโอกาสที่จะกลับมาเพิ่มน้ำหนักการลงทุนหุ้นไทย”

  • เงินบาทผันผวนกรอบ 31-31.50 บาท

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่ากรอบเงินบาทในสัปดาห์นี้จะแกว่งตัวในกรอบแคบที่ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยช่วงต้นสัปดาห์อาจผันผวนจากตัวเลขเศรษฐกิจจีน ที่คาดว่าจะขยายตัว 5.3% ในไตรมาสที่ 3 นี้

ส่วนกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย มองว่า น่าจะยังเบาบางเพราะเป็นช่วงใกล้เลือกตั้งสหรัฐ นักลงทุนพยายามลดการถือสินทรัพย์เสี่ยงลง จึงน่าจะมีเงินทุนไหลออกจากหุ้น แต่ฝั่งตลาดตราสารหนี้(บอนด์)ต้องจับตายีลด์สหรัฐ ถ้าปรับตัวลงเร็วอาจหนุนให้มีเงินทุนไหลเข้ามาพักที่บอนด์ไทย