กางโรดแมพ 'วันแพลตฟอร์ม' เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย
นับเป็นความท้าทายยิ่งนักของ "เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย” หรือ “FPT” บริษัทภายใต้กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศสิงคโปร์ เป็นเจ้าของ ผู้พัฒนา ผู้บริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์หลากหลายประเภท
การประกาศเกมรุก! ท่ามกลางตลาดที่มีความผันผวนและเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยง แต่เชื่อในขุมพลัง! เต็มเปี่ยม หลัง “FPT” เข้าซื้อกิจการ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ “GOLD” ซึ่งถูกทรานส์ฟอร์มเข้ามานั้น ทำให้ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย” ก้าวสู่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร มีแพลตฟอร์มด้านอสังหาฯ ครอบคลุมประเภทที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และ อุตสาหกรรม วันนี้วางโรดแมพพร้อมเต็มสูบ! ในการเคลื่อนทัพภายใต้กลยุทธ์ One Platform!
ธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจอสังหาฯ ศักยภาพสูง 3 กลุ่มหลัก! เพื่ออยู่อาศัย อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม รวมสินทรัพย์กว่า 1 แสนล้านบาท! จะถูกผสานอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ที่เรียกว่า One Platform ภายใต้แบรนด์ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้” ที่มีประสบการณ์และชื่อเสียงในระดับโลก จะถูก Synergy เข้ามาเพื่อสร้าง Ecosystem ทางธุรกิจที่สนับสนุนการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน จากความสามารถในการกระจายความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น ด้วยการบริหารสินทรัพย์หลากหลายประเภทที่มีลูกค้าหลายกลุ่ม (Diversification) ทำให้การบริหารจัดการมีความยืดหยุ่นและทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ที่ท้าทายได้เป็นอย่างดี (Resilience)
พอร์ตโฟลิโออสังหาฯ ที่ครบวงจร ทำให้บริษัทสามารถขยายขีดความสามารถในการส่งมอบสินค้าและบริการ พร้อมข้อเสนอทางการตลาดที่โดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่ง! ได้เป็นอย่างดี
“การมีเพียงธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเมื่อมีวิกฤติจะทำให้เกิดการหยุดชะงักได้ ธุรกิจอสังหาฯ สิ่งสำคัญคือสภาพคล่อง ขาดเงินเหมือนเลือดหยุด! ดังนั้นหากเรามีธุรกิจหลากหลาย จะสามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินทรัพย์ต่างๆ มีรายได้ประจำมากกว่าเพียงซื้อมาขายไป ทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน”
ยิ่งภายใต้สถานการณ์ตลาดปัจจุบันธุรกิจได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ทั้งโควิด-19 ปัญหาการเมืองในประเทศ ต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันรับมือความไม่แน่นอน ความผันผวนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น
กลยุทธ์ One Platform ดำเนินการตามโรดแมพ "ONE-TO-THREE" หรือ “ONE platformTOwards being a trusted brand and the topTHREE in all asset classes” เป็นแผน 3 ปีจากนี้ กล่าวคือ การรวมธุรกิจเป็นหนึ่งเดียวด้วยแพลตฟอร์มอสังหาฯ ครบวงจร ซึ่งจะต้องบรรลุเป้าหมายในปีแรก (2564) เพื่อมุ่งสู่ "Top 3" ของทุกกลุ่มธุรกิจ ในปี 2566 หรือปีที่ 3 นั่นเอง
ธนพล ขยายความต่อถึง 3 ขาหลัก ของ FPT เริ่มจาก
กลุ่มธุรกิจ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม” ดำเนินธุรกิจอสังหาฯ เพื่อที่อยู่อาศัยแนวราบ ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ มุ่งขยายไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมนำนวัตกรรมใหม่มาปรับใช้เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า
ปัจจุบัน เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม อยู่ใน “Top5” กลุ่มธุรกิจเพื่อที่อยู่อาศัย มีโครงการที่พักอาศัยรวม 59 โครงการคลุมทุกระดับราคา ภายใต้แบรนด์ “โกลเด้น” และ เดอะ แกรนด์ รวมมูลค่าสินทรัพย์กว่า 70,000 ล้านบาท มีรายได้ 9 เดือนแรกของปี 2563 ประมาณ 11,100 ล้านบาท
กลุ่มธุรกิจ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล” ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ เพื่ออุตสาหกรรมยุคใหม่แบบครบวงจร เน้นการส่งมอบโซลูชั่นเพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งโรงงานและคลังสินค้าของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล มีทั้งแบบพร้อมให้เช่า และสร้างตามความต้องการของลูกค้า บนทำเลยุทธศาสตร์กว่า 50 ทำเล ในนิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรม เขตส่งเสริมอุตสาหกรรม และพื้นที่อื่นๆ ที่มีศักยภาพ มีพื้นที่โรงงานรวม 1.2 ล้านตร.ม. พื้นที่คลังสินค้ารวม 1.8 ล้านตร.ม. คิดเป็นพื้นที่ภายใต้การบริหารจัดการรวม 3 ล้านตร.ม. รายได้ 9 เดือนแรกที่ผ่านมา 1,700 ล้านบาท
เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย ยังเป็นผู้สนับสนุนและผู้จัดการกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ หรือ FTREIT ซึ่งเป็นกองทรัสต์อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย มีมูลค่าอสังหาฯ์ภายใต้การจัดการ มากกว่า 42,000 ล้านบาท มีประเภทของทรัพย์สินคือโรงงานและคลังสินค้ารวม 620 ยูนิต
กลุ่มธุรกิจ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล” อสังหาฯ เชิงพาณิชยกรรม ประกอบด้วย อาคารสำนักงานให้เช่า รีเทล โรงแรมและเซอร์วิส อพาร์ทเม้นท์ รวมถึงโครงการมิกซ์ยูส ล้วนตั้งอยู่ใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ ได้แก่ โครงการสามย่านมิตรทาวน์, อาคารเอฟวายไอ เซ็นเตอร์,อาคารสาทรสแควร์, อาคารปาร์คเวนเชอร์, อาคารโกลเด้นแลนด์, โรงแรม ดับเบิ้ลยู กรุงเทพฯ และ ดิ แอสคอท สาทร แบงคอก
กลุ่มคอมเมอร์เชียล มีอาคารสำนักงาน และมิกซ์ยูสรวม 5 แห่ง พื้นที่ 2.4 แสนตร.ม. มีห้องในโรงแรมและเซอร์วิส อพาร์ทเมนท์ 1,100 ห้อง รายได้ 9 เดือนแรก 1,200 ล้านบาท
ในแต่ละปีได้จัดสรรงบ 6,000-8,000 ล้านบาทลงทุนซื้่อที่ดินสำหรับการพัฒนาโครงการ และอีก 1,000-2,000 ล้านบาทสำหรับลงทุนก่อสร้างแวร์เฮ้าส์ คลังสินค้าต่างๆ เพิ่มขึ้นทุกปี
รวมทั้งยังเปิดกว้าง “ซื้อและควบรวมกิจการ” ตามจังหวะที่เหมาะสม! ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยในไทยและทั่วโลกเชื่อว่าตลาดยังมีโอกาส!
โดยภาพรวมธุรกิจปี 2564 บริษัทตั้งเป้าหมายรักษาระดับรายได้ไว้ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท จากปีนี้มั่นใจว่าจะผลักดันรายได้แตะเกือบ 20,000 ล้านบาท ซึ่ง 9 เดือนแรกสามารถทำได้แล้ว 14,000-15,000 ล้านบาท ขณะที่สินทรัพย์ “แสนล้าน” คาดการณ์เติบโต 10-15% ภายในปี 2566