Lean แบบ End-to-End Process บททดสอบ 'ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง'
"ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง" จะอยู่รอดได้อย่างไรในภาวะการแข่งขันสูง กำไรน้อย รวมถึงในภาวะวิกฤติและความไม่แน่นอน? หากต้องบริการธุรกิจให้ Lean ที่สุด ควรจะพิจารณาจากอะไร? และมีปัจจัยใดบ้างที่ธนาคารมองว่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้างรายได้มีศักยภาพเติบโตหรืออยู่รอด?
“ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง” เป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย เพราะแสดงถึงการเติบโตด้านสาธารณูปโภคของประเทศ การเติบโตของเศรษฐกิจ กำลังการผลิตในประเทศ การขยายตัวของประชากร ฯลฯ ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันก็ย่อมส่งผลกระทบมาถึงธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเช่นกัน
ภาพรวมในปัจจุบัน ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่มีผู้ว่าจ้างเป็นภาครัฐ ที่ส่วนใหญ่เน้นการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน สะพาน คลอง ฯลฯ ถือว่าได้รับผลกระทบน้อย เพราะมีการจัดสรรงบประมาณมาให้ตั้งแต่ต้นแล้ว มีสัญญาและเงื่อนไขเวลาที่ชัดเจน แต่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่มีผู้ว่าจ้างเป็นภาคเอกชน เช่น โครงการอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม อาคารพาณิชย์ ฯลฯ ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากเกี่ยวพันกับอุตสาหกรรมธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย ซึ่งต้องบอกว่าความต้องการที่อยู่อาศัยไม่เคยน้อยลง มีแต่จะมากขึ้น แต่กำลังซื้ออสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันมีน้อยลง
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ บางท่านอาจจะสงสัยว่า ถ้างานภาครัฐมีความมั่นคงกว่า ดังนั้น ผู้รับเหมาก่อสร้างที่เคยรับจ้างภาคเอกชนจะกระโดดข้ามไปทำงานภาครัฐแทนได้หรือไม่ ราวกับว่าปลาอยู่ชุกชุมตรงไหนก็ย้ายไปจับปลาตรงนั้นแทน ต้องอธิบายว่าการย้ายน่านน้ำในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างไม่ได้ง่ายเหมือนธุรกิจอื่น เพราะงานภาครัฐมีการจัดลำดับชั้นผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งมาจากผลงานในอดีตที่เคยทำกับภาครัฐ ซึ่งกว่าที่จะได้รับการเลื่อนชั้นแต่ละขั้นต้องใช้ระยะเวลาพิสูจน์ผลงาน
จากมุมของธนาคาร ในฐานะที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง โดยเฉพาะการขอหนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee หรือ L/G) ตั้งแต่ Bid Bond, Performance Bond และ Retention Bond การพิจารณาสินเชื่อให้กับธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ไปจนถึงการให้คำปรึกษาทางธุรกิจ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างถือเป็นธุรกิจที่มีกำไรไม่สูง คือ อัตราเฉลี่ยกำไรสุทธิอยู่ประมาณ 7-10% (ถ้าเกิดการตัดราคาเกิดขึ้น กำไรก็อาจจะน้อยกว่านี้ได้) เพราะฉะนั้นการจะทำให้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้นั้นแปลว่าต้องบริหารธุรกิจให้ Lean ที่สุด
- การ Lean แบบ End-to-End Process ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างสามารถทำจากอะไรบ้าง
การควบคุมต้นทุนให้มีราคาต่ำที่สุด ยิ่งถ้ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับ Supplier เจ้าของวัตถุดิบก็จะสามารถต่อรองได้ราคาวัตถุดิบที่ต่ำลง หรือมีเครดิตเทอมที่ดี การรู้จังหวะในการซื้อวัตถุดิบที่มีราคาผันผวนไปตามตลาดโลก เช่น เหล็ก น้ำมัน ฯลฯ ซึ่งจะทำให้เราได้ต้นทุนราคาต่ำ หรือในบางช่วงวัตถุดิบบางประเภทเกิดการขาดแคลนขึ้นมาก็จะทำให้มีราคาสูงกว่าเดิม ไปจนถึงการมีเครื่องมือเครื่องจักรที่เป็นของตัวเอง และมีประสิทธิภาพเหมาะสม
การประเมินต้นทุนที่ถูกต้อง เป็นจุดวัดว่าธุรกิจจะได้กำไรหรือไม่ ถ้าประเมินราคาได้ถูกต้อง ต้นทุนที่งอกตามมาก็จะน้อย ซึ่งโดยธรรมชาติของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมักจะมีต้นทุนที่งอกอยู่เสมอในระหว่างการดำเนินงาน เนื่องจากระยะเวลาการก่อสร้างใช้เวลายาวนาน อาจจะมีปัจจัยที่มองไม่เห็น ณ วันที่เราประเมินเกิดขึ้นในอนาคตก็ได้ ซึ่งทำให้ต้องมีต้นทุนเพิ่ม เพราะฉะนั้นการประเมินต้นทุน ณ วันนี้เท่ากับการต้องมองให้เห็นปัญหาที่อาจจะส่งผลถึงต้นทุนให้ได้ครอบคลุมที่สุด
การรักษาคุณภาพงานให้ดี ถ้าเกิดการส่งงานล่าช้าหรือเกิดการแก้ไขงานจากการที่เราทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะเกิดต้นทุนเรื่องการจ่ายค่าปรับเพิ่ม ร้ายแรงกว่านั้นคืออาจจะติดอยู่ในแบล็คลิสต์ของผู้ว่าจ้างเลยก็ได้ ซึ่งจะเสื่อมเสียชื่อเสียงและทำให้ไม่มีงานเข้ามาต่อ
- ในแง่ของการบริหารเงินเอง สิ่งที่ธนาคารจะมองว่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเจ้าไหนมีศักยภาพในการเติบโตหรืออยู่รอดได้นั้น เราดูที่อะไรบ้าง
กำไรจากธุรกิจ เรื่องนี้เกี่ยวพันกับการประเมินต้นทุนที่ถูกต้อง เราต้องรู้จุดสมดุลว่าต้นทุนที่แท้จริงอยู่ที่เท่าไร และกำไรแค่ไหนที่เราจะรับได้และทำให้ธุรกิจไปต่อได้จริงๆ ในทางกลับกัน ถ้าเกิดการฟันราคาเพื่อให้ได้งาน สิ่งที่น่ากังวลตามมาคือโดยปกติกำไรของธุรกิจนี้ก็น้อยอยู่แล้ว ยิ่งฟันราคากำไรก็ยิ่งน้อยลง ธุรกิจก็อาจจะอยู่ไม่ได้
การมีปริมาณงานในมือหรือ Back Log ที่เหมาะสม เป็นสิ่งบ่งชี้รายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยิ่งมีปริมาณงานในมือมากเท่าไรก็พอจะเห็นรายได้ที่จะเข้ามาในอนาคตได้ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่มั่นคงจึงต้องมีปริมาณงานในมืออยู่อย่างสม่ำเสมอ หากงานหนึ่งมีปัญหาที่กระทบต่อการจ่ายเงินให้ต้องล่าช้าออกไป อย่างน้อยยังมีงานอื่นพยุงไว้ได้ต่อ และแน่นอนว่าการมี Back Log น้อยเกินไปเท่ากับโอกาสในการสร้างรายได้มีน้อย
อย่างไรก็ตาม การมี Back Log รอต่อแถวเป็นจำนวนมากไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้างนั้นจะไปได้ดี หากปริมาณงานที่มากไม่สัมพันธ์กับทรัพยากรหรือความสามารถที่มี เพราะถ้างานเยอะเกินไปจนไม่สามารถดูแลงานก่อสร้างให้มีคุณภาพดีได้ ผลกระทบที่ตามมาคือการจ่ายค่าปรับที่ตามมารายวัน หรือเกิดการทิ้งงานเกิดขึ้นหากผู้รับเหมาประเมินว่าทำงานให้เสร็จได้แต่จะไม่เหลือกำไรเลย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ว่าจ้างที่ได้งานที่ไม่มีคุณภาพ ผู้รับเหมาก็เสียชื่อเสียง เพราะฉะนั้นผู้รับเหมาก่อสร้างควรหาจุดสมดุลของ Back Log กับทรัพยากรที่ตัวเองมีให้เหมาะสมที่สุด
ความสามารถในการบริหารเงินอย่างเป็นระบบ เนื่องจากผู้รับเหมาก่อสร้างจะได้เงินมาเป็นช่วงตามสัญญาที่กำหนด ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าสามารถปิดงานแต่ละช่วงได้ตามกำหนดหรือไม่ ขณะเดียวกัน ผู้รับเหมาก่อสร้างเองก็มีงานใน Back Log รออยู่หรืออาจจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันด้วยซ้ำ สิ่งที่ต้องระวังคือต้องบริหารเงินให้ดี วิธีการดีที่สุดคือแต่ละโครงการควรมีการแยกเงินให้ชัดเจน ไม่ควรเอาเงินจากโครงการหนึ่งไปหมุนใช้อีกโครงการหนึ่ง ถ้าเกิดหมุนไม่ทันหรือโครงการใดเกิดการจ่ายเงินล่าช้าก็จะส่งผลกระทบต่อโครงการอื่นๆ ด้วย เพราะฉะนั้น นอกจากจะต้องแยกเงินแต่ละกระเป๋าให้ถูกต้องแล้ว สิ่งสำคัญคือผู้รับเหมาก่อสร้างเองก็ต้องมีเงินทุนเป็นของตัวเองไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินได้ด้วย
คุณภาพของผู้ว่าจ้าง ในสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นแบบนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรับรู้สถานการณ์จากฝั่งผู้ว่าจ้างว่างานที่รับมาจะยังคงดำเนินการต่อหรือไม่อย่างไร ผู้ว่าจ้างบางรายอาจจะมีปัญหาเรื่องกระแสเงินสด ถ้าผู้ว่าจ้างได้รับผลกระทบรุนแรง เงินไม่มาแน่นอน และเราจะได้ปรับตัวถูก ไปจนถึงจะได้มาดูว่าต้องมีการทบทวนสัญญาหรือไม่อย่างไร เช่น การขยายสัญญา การบอกเลิกสัญญา หรือที่สุดแล้วถ้าผู้ว่าจ้างไม่มีเงินแน่ๆ ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าแม้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะเป็นธุรกิจที่กำไรไม่มาก ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนอยู่ตลอด และส่วนหนึ่งก็ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีทางออกได้ด้วยการบริหารต้นทุนให้ “Lean” ที่สุด การอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการบริหารงาน บริหารเงิน ให้เหมาะสม รวมไปถึงการรู้เท่าทันสถานการณ์ที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่จากทั้งการสำรวจตัวเองและสำรวจผู้ว่าจ้าง
เรา “ก่อสร้าง” ให้คนอื่นมามากแล้ว เราเองก็ต้องก่อสร้าง “ธุรกิจ” ของเราให้มั่นคงแข็งแรง และสวยงามเช่นกัน