WHA ลงทุน EEC 5 ปี ทุ่ม 3 หมื่นล้าน มั่นใจไทยอยู่ในสายตาต่างชาติ
ดับบลิวเอชเอ เล็งลงทุน 3 หมื่นล้านใน อีอีซี ตั้ง 4 นิคมฯ ใหม่ ขยายคลังสินค้า พร้อมเด้นหน้าธุรกิจดิจิทัลรับ 5 จี จี้รัฐเร่งออกวีซ่าให้นักลงทุนสู้เวียดนาม ด้านจีพีเอชซี เดินหน้าลงทุนระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ดุงลงทุนอุตฯไฮเทค
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษํท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาการเมืองขณะนี้ นักลงทุนต่างชาติไม่ได้ถามเท่าไรนัก การลงทุนเป็นเรื่องระยะยาวการเข้ามาตั้งโรงงาน 1 แห่ง จะอยู่ในไทยกว่า 20 ปี จะให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก โดยดูสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนและมีคนรองรับพร้อมหรือไม่ โดยมองว่าในปีหน้าสดใสกว่าปีนี้
นอกจากนี้ การเคลื่อนย้ายทุนโลกได้เปลี่ยนไป โดยเฉพาะจีนเน้นการลงทุนมายังอาเซียนและไทย โดยใช้มณฑลคุนหมิงเป็นเกตเวย์ของจีนเข้าสู่อาเซียน ซึ่งรัฐบาลจีนเน้นย้ำว่า 3 เส้นทางเชื่อมอาเซียนจะต้องเกิดขึ้น ได้แก่ เส้นที่ 1 เส้นจากคุนหมิงเข้าเมียนมาเข้าไทยมาที่อีอีซี
เส้นที่ 2 จากคุนหมิงมาทางลาวไทยและเข้าอีอีซี เส้นที่ 3 จากคุนหมิงมาเวียดนามผ่านกัมพูชามาอีอีซี ซึ่งจะเชื่อมโยงทั้งหมด และรัฐวางแผนพัฒนาแลนด์บริดที่จะเชื่อมอีอีซีไปสู่ทะเลฝั่งอันดามันแล้ว ทำให้สินค้ามหาศาลจากจีนไป 70 ประเทศทั่วโลก มาผ่านไทยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกาแล้วประหยัดเวลา 4-5 วัน ดังนั้น อีอีซี คือหัวใจจะพลาดไม่ได้
“อยากให้รัฐบาลปรับเรื่องการออกวีซ่าให้นักลงทุนง่ายขึ้นจากปัจจุบันใช้เวลา 3-4 เดือน และต้องถูกกักตัว 14 วัน ซึ่งแม้ขณะนี้จะลดให้นักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายและนักธุรกิจเหลือกักตัว 10 วัน ยังไม่เพียงพอจะต้องปรับการขอวีซ่าให้เร็วขึ้นด้วย"นางสาวจรีพร กล่าว
ดับบลิวเอชเอทุ่มอีอีซี3หมื่นล้าน
สำหรับแผนการลงทุนของ ดับบลิวเอชเอ ใน 4 กลุ่มธุรกิจหลักใน 5 ปีนี้ (2564-2569) ใช้เงินลงทุนในอีอีซีไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้าน จะช่วยดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอกว่า 3-4 แสนล้านบาท จะเกิดการจ้างงานอีกมหาศาล โดยในธุรกิจโลจิสติกส์ ที่ผ่านมาได้ลงทุนคลังสินค้ากว่า 2.4 ล้านตารางเมตร อยู่ในอีอีซีมากกว่า 1 ล้านตารางเมตร รองรับการลงทุนในกลุ่มอีคอมเมิร์ช ศูนย์กระจายสินค้า ซึ่งจุดหลักอยู่ที่สมุทรปราการเชื่อมกับฉะเชิงเทรา
ชงสมุทรปราการเข้า“อีอีซี”
นอกจากนี้ อีอีซี ควรจะรวม จ.สมุทรปราการ เข้ามาด้วยเป็นจังหวัดที่ 4 จะเกิดความสมบูรณ์แบบมากขึ้น ในปัจจุบันอับบลิวเอชเอมีนิคมฯ 11 แห่ง ในจำนวนนี้ 10 แห่ง อยู่ในอีอีซี และจะมีอีก 4 นิคมฯ ในพื้นที่อีอีซี จะเปิดตามมาอีกปีละ 1 แห่ง ไล่ตั้งแต่ปี 2564 -2567 โดยมีพื้นที่แห่งละประมาณ 2,000 ไร่
สำหรับปัญหาภัยแล้งที่ผ่านมาทำให้ดับบลิวเอชเอ ได้เร่งเดินหน้านวัตกรรมเรื่องน้ำ นำเทคโนโลยีรีไซเคิลน้ำมาใช้ วางแผนป้องกันการขาดแคลนน้ำในอนาคต เรื่องพลังงาน ดับบลิวเอชเอ จะเน้นในการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ในปัจจุบันได้ติดตั้งไปแล้ว 50 เมกะวัตต์ ภายใน 2-3 จะแตะ 200 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะใช้ลานจอดรถของโรงงานผลิตรถยนต์ภายในนิคมฯ
จีพีเอสซีหนุนโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ
นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. กล่าวว่า การลงทุนในพื้นที่ อีอีซี นักลงทุนจะพิจารณาใน 3 เรื่องหลักที่สำคัญ ได้แก่ ความมั่นคงด้านไฟฟ้า , น้ำอุตสาหกรรม และการจัดการขยะ โดยในเรื่องไฟฟ้า จะต้องเน้นในเรื่องพลังงานสะอาด และระบบโครงข่ายสำหรับส่งไฟฟ้าอัจฉริยะครบวงจร (สมาร์ทไมโครกริด) และนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะต้องนำมาใช้ใน อีอีซี
ส่วนในเรื่องของน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม รัฐบาลจะต้องวางแผนรับมือกับภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการพิจารณาสร้างโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล เพื่อเสริมความมั่นคงด้านน้ำอุตสาหกรรม ขณะที่การจัดการด้านขยะ ควรจะต้องมีระบบการผลิตไฟฟ้าจากขยะ เพื่อการกำจัดขยะให้หมดไปโดยไม่ตกค้าง และสร้างความมั่นคงทางไฟฟ้าในอีอีซี
“อีอีซี ต้องการระบบอัจฉริยะต่าง ๆ ในการจัดการเรื่องพลังงานให้มีประสิทธิภาพที่สุด หากมีเทคโนโลยี 5 จี ก็จะยิ่งดึงดูดให้อุตสาหกรรมไฮเทค เช่น ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และโดรนอัตโนมัติ เข้ามาผลิตในไทยได้ ทั้งนี้ แผนการพัฒนาของ ปตท. ในอีอีซี จะทำแซนบ็อกติดตั้งโซลาร์เซลในทุกรูปแบบ เพื่อศึกษาให้ได้แนวทางที่มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งการใช้ฟิวเซลที่เป็นเทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้ในพื้นที่”
ลงทุนเทคโนฯแบตเตอรี่ดึงอุตฯไฮเทค
นอกจากนี้ จีพีเอสซี ได้ลงทุนกับ บริษัท 24M Technologies จากประเทศสหรัฐ ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพเจ้าของเทคโนโลยีผลิตแบตเตอรี่เทคโนโลยีเซมิโซลิก อยู่ระหว่างขั้นตอนการพัฒนา ที่เป็นแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยสูง มีการประหยัดต้นทุนมากกว่า และรีไซเคิลได้มากกว่า หากเทคโนโลยีนี้ได้รับการพัฒนาในประเทศไทย ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเข้ามาในไทยได้ โดยได้เริ่มลงทุนตั้งโรงงานขนาดทดลองขึ้นในนิคมฯมาบตาพุด กำลังผลิต 30 MWH (เมกะวัตต์ชั่วโมง)
อย่างไรก็ตาม ในการผลักดันให้เกิดการลงทุนเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอีอีซี รัฐบาลควรจะสนับสนุนผลักดันให้ Regulatory Sandbox ด้านการซื้อชายไฟฟ้าและพลังาน ให้สามารถใช้งานได้จริงอย่างประสิทธิภพและเป็นธรรม เพื่อให้เกิดการส่งเสริมการขยายผลและพัฒนาไปสู่ระดับการใช้งานจริงได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งการสนับสนุนการลงทุนในเรื่องนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ควรมีนโยบายรองรับเพื่อการส่งเสริมให้เกิดเป็นธุรกิจใหม่อย่างเป็นรูปธรรม
แนะออกเงินกูดอกเบี้ยต่ำดันนวัตกรรมใหม่
ส่วนการสนับสนุนด้านการเงินและภาษี รัฐบาลควรมีนโยบายสนับสนุนงินกู้จากธนาคารในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เนื่องจากการพัฒนานวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ หรือระบบใหม่ ต้องใช้เวลาในการพัฒนาที่ยาวนานกว่าจะถึงขั้นการผลิตเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ควรจะมีสิทธิประโยชน์สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมในการตั้งโรงงานต้นแบบ รวมถึงขันตอนการพัฒนาเพื่อทดสอบเชิงพาณิชย์ ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ