'กัลฟ์' เร่งลงทุนมาบตาพุด เตรียมแผนถมทะเล เม.ย.64

'กัลฟ์' เร่งลงทุนมาบตาพุด เตรียมแผนถมทะเล เม.ย.64

"กัลฟ์" เดินหน้าท่าเรือมาบตาพุด เฟส3 เริ่มพัฒนา เม.ย.64 ใช้งบลงทุนกว่า 5 หมื่นล้านบาท ด้าน ร.ฟ.ท. เร่งไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ส่งมอบพื้นที่ชุดแรก ม.ค.2564 พร้อมลุยสนามบินอู่ตะเภาเ ยกระดับสู่สนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 ของกรุงเทพ

นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทกัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด กล่าวว่า การพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนระหว่างกัลฟ์และกลุ่ม ปตท.จะเริ่มก่อสร้างในเดือน เม.ย.2564 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่นานจะได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
สำหรับการลงทุนจะแบ่งเป็นงานของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)ที่จะรับผิดชอบการเตรียมให้สิทธิใช้พื้นที่พัฒนา การขยายพื้นที่โครงการเป็นนิคมอุตสาหกรรม การขอใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องและเป็นผู้จ่ายเงินร่วมลงทุนให้กับเอกชน ส่วนบริษัทฯ จะดูการพัฒนาที่แบ่งเป็น ระยะถมทะเลพื้นที่ 1,000 ไร่ และระยะการพัฒนาท่าเรือรับสินค้าของเหลวที่เป็นธุรกิจต่อเนื่องของกัลฟ์ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาคลังแอลเอ็นจี รวมแล้วจะต้องใช้งบในการพัฒนาทั้งหมดประมาณ 50,000 ล้านบาท
"ตั้งแต่มีการลงนามสัญญาร่วมลงทุนเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา ได้เริ่มดำเนินการโครงการนี้ไม่หยุดเลย แต่ต้องทำให้รอบคอบ รวมทั้งโควิด-19 ไม่มีผลต่อโครงการนี้จึงมั่นใจว่าโครงการนี้จะพัฒนาได้ต่อเนื่อง” นายรัฐพล กล่าว

ทั้งนี้ อีอีซีจะดึงการลงทุนมากกว่า 4 แสนล้านบาท ดังนั้นความจำเป็นในการใช้ไฟฟ้าจะมีมากขึ้น โดยถ้าไม่เตรียมความพร้อมจะทำให้นักลงทุนไม่สนใจประเทศไทย ซึ่งทำให้ต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการนำเข้าแอลเอ็นจีที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ร.ฟ.ท.มั่นส่งมอบพื้นที่ตามแผน
นายกำพล บุญชม รองวิศวกรใหญ่โครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินมีความเคลื่อนไหวตลอด โดย ร.ฟ.ท.เตรียมส่งมอบพื้นที่ชุดแรก ม.ค.2564 โดยจะมอบในพื้นที่ที่ไม่ต้องเวนคืน โดยจะแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน คือ 1. สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา 2. บางซื่อ - สุวรรณภูมิ และ 3. บางซื่อ - ดอนเมือง
“ขณะนี้การเคลียร์พื้นที่กับงบประมาณเวนคืนอนุมัติหมดแล้ว เหลือบางส่วนนอกพื้นที่เวนคืนพวกการเคลื่อนย้ายรางรถไฟและระบบอาณัติสัญญาณ ปัจจุบันการรถไฟฯ เตรียมเบิกงบประมาณ โดยสำรวจไปแล้ว 90% อีกทั้ง การรถไฟฯ ยังมีโครงการระบบรางที่จะสนับสนุนอีอีซีอีกมาก เช่น โครงการทางคู่ที่พัฒนาไปถึงจังหวัดขอนแก่น และอยู่ระหว่างนำเสนอกระทรวงคมนาคมพัฒนาจากขอนแก่นเชื่อมต่อลาว อีกทั้งยังมีโครงการไฮสปีดเทรนไทย - จีน ที่จะสนับสนุนการขนส่งจากจีน ลาว และไทย

“อู่ตะเภา”เร่งทำแผนแม่บท
นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา กรรมการ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้กำลังทำแผนแม่บทสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เพราะภายหลังไทยโดนธงแดงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ส่งผลให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินเพิ่มขึ้น และกำหนดให้ทำแผนแม่บทสนามบิน
“อู่ตะเภาเป็นสนามบินแรกที่ทำแผนแม่บทตามกฎหมายที่ปรับเปลี่ยนใหม่ ปัจจุบันเรากำลังดำเนินการ โดยจะต้องทำคาดการณ์ความต้องการของลูกค้า (Demand Forecast) เพื่อดูว่าผู้โดยสารกลุ่มเป้าหมายจากนี้จะเป็นใคร มาจากไหน ซึ่งอู่ตะเภาแน่นอนว่าจะมีพื้นที่เป้าหมายอย่างพัทยา ระยอง แต่อู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 ของกรุงเทพ ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายพื้นที่เราไม่ใช่แค่พัทยา ระยอง หรือกรุงเทพ แต่เรามองไกลกว่านั้น”
ทั้งนี้ บริษัทฯ มองว่าท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จะรองรับความต้องการเดินทางทางอากาศ การคมนาคมทางน้ำ ทางราง และทางบกทั้งหมด รวมไปถึงรองรับความต้องการการขนส่งสินค้าทางอากาศ (คาร์โก้) ซึ่งหากความต้องการเป็นไปตามที่บริษัทฯ ประเมินไว้ จะเป็นผลให้สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกเป็นศูนย์กลางการคมนาคม เป็นส่วนหนึ่งสนับสนุนความสำเร็จของการพัฒนาอีอีซี เหมือนกับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษในต่างประเทศ ที่สนามบินเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ
“การพัฒนาเมืองการบินไม่ใช่แค่ 6,500 ไร่ แต่จะมีฟรีเทรดโซนที่เป็นโอกาสของการสร้างเป็นเมืองใหม่ที่เกิดขึ้นมีความพร้อมเป็นสนามบินและใช้เชื่อมต่อกรุงเทพฯ ซึ่งในฐานะภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นต่ออีอีซีสูง เพราะตั้งแต่ขายซองคัดเลือกเอกชน ทางกลุ่มของบางกอกแอร์เวย์เราก็ไปซื้อซอง และมานั่งคิดกันว่าโครงการนี้อยู่ในโลเคชั่นที่ดี เทียบกับฮ่องกงที่วันนี้เป็นฮับใหญ่ของโลก เพราะมีสนามบินสนับสนุน เราจึงเชื่อว่าธุรกิจนี้มีความเป็นไปได้” นายอนวัช กล่าว