สภาสถาปนิกเปิด5เทรนด์ ที่อยู่อาศัยนิวนอร์มอล
การระบาดของเชื้อโควิด-19 นอกจากจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหนักหน่วงแล้ว พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เข้มงวดด้านสุขอนามัยมากขึ้น ยังทำให้หลากธุรกิจต้องปรับตัว หนึ่งในนั้นคือกลุ่มธุรกิจสถาปนิก
ไพทยา บัญชากิติคุณ กรรมการสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อะตอม ดีไซน์ (ATOM Design) เปิดเผยเทรนด์การออกแบบอาคารและสิ่งปลูกสร้างภายหลังจากวิกฤติรับกับวิถีนิวนอร์มอลว่า การออกแบบคอนโดมิเนียมเปลี่ยนไปชัดเจน เพราะผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง แต่ต้องการห้องที่ขนาดกว้างขึ้นตอบรับกับนิวนอร์มอล ได้แก่
1.การขยายพื้นที่ใช้สอยเพิ่มอีก 20% จากเดิม ขนาด 21-24 ตารางเมตร (ตร.ม.) เพิ่มเป็น 27-30 ตร.ม. สำหรับห้องเดี่ยว ขณะที่ห้องขนาดใหญ่ประเภท (1 bed plus) มีการขยายเป็น 35 ตร.ม. 2.ระดับราคาที่จากเดิม 100,000 บาทต่อตร.ม. ลดเหลือ 7-80,000 บาทต่อตร.ม. ขณะที่ห้องขนาดใหญ่ที่อยู่อาศัยแบบครอบครัวขนาด 2-3 ห้อง ความต้องการมากขึ้น สัดส่วนถึง 50% ของโครงการ
3.ต้องจัดหาพื้นที่จัดส่งพัสดุที่เข้ามาเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มวัสดุที่ป้องกันการติดเชื้อ เช่น กระเบื้อง หรือการไร้สัมผัส (Touchless) 4.แบ่งโซนพื้นที่ส่วนกลางให้มีมุมส่วนตัว สำหรับทำงาน ประชุม ขณะเดียวกันจะต้องพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งคอนโดมิเนียม และแนวราบให้ตอบโจทย์
และ 5.การอยู่อาศัยรองรับในหลากหลายกลุ่มอายุ (Multi Generation) รองรับทั้งกลุ่มผู้สูงวัย และกลุ่มวัยรุ่น และผู้เริ่มทำงาน (First Jobber) ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้
เขายอมรับว่า กลุ่มธุรกิจสถาปนิกก็ได้รับผลกระทบจากโควิดเช่นเดียวธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หลังจากในช่วง2 ไตรมาสแรกของปี 2563 โครงการคอนโดมิเนียมเปิดตัวลดลง 70% แต่โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวราบบางพื้นที่ยังไปได้ดี บางทำเลมีอัตราการดูดซับ(Absorption Rate)เพิ่มขึ้นเท่าตัว ขณะที่ธุรกิจอื่นๆ กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐ ค้าปลีก และโรงแรม ถือโอกาสปรับปรุงห้องพัก (Renovate)ในช่วงที่มีการปิดประเทศ เพื่อรองรับการบริการเมื่อเปิดประเทศ
ทำให้ภาพรวมตลาดอุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่มีมูลค่า 1.29 ล้านล้านบาท ทรงตัวหรือหดตัวลงเล็กน้อย โดยส่วนใหญ่มาจากตลาดคอนโดมิเนียม มูลค่า 3 แสนล้านบาท ลดลง 20-30% ส่งผลทำให้ธุรกิจสถาปนิก มีโครงการในมือลดลง 10-20% และบางโครงการมีการขยายเวลาการส่งมอบจากเดิม 6 เดือน เพิ่มเป็นมากกว่า 6 เดือน
ด้าน ประกิต พนานุรัตน์ กรรมการสภาสถาปนิกและประธานจัดงานACT FORUM ’20 Design + Built กล่าวว่า ผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้นในวงกว้างซึ่งไม่อาจประเมินความเสียหายได้ ทำให้สภาสถาปนิกต้องเร่งกระตุ้นอุตสาหกรรมให้กลับมาฟื้นตัวขึ้นโดยเร็วที่สุด จึงประกาศเดินหน้าจัดงาน ACT FORUM’20 Design + Built ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่2 ถือเป็นงานที่จะรวบรวมเรื่องราวองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมที่ครอบคลุมทุกสาขา ทั้งสถาปัตยกรรมหลัก สถาปัตยกรรมภายใน และมัณฑนศิลป์ ภูมิสถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมผังเมือง รวมถึงเทรนด์ด้านการออกแบบ และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ก่อสร้างจากแบรนด์ชั้นนำทั้งในและต่างประเทศไว้อย่างครบครัน ระหว่างวันที่18-22 พ.ย.นี้ ตั้งแต่เวลา10.00 – 20.00น. ที่ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี