เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับตลาดหุ้นไทย

เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับตลาดหุ้นไทย

สถานการณ์ลงทุนหลังเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประเมินว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะดีขึ้น เหตุไม่ว่าผู้ชนะเลือกตั้งจะเป็นฝ่ายใด คาดจะมีความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องของเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

จากบทความก่อนหน้าที่ผมเขียนเรื่องปัจจัยที่จะมีผลต่อภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยต้นเดือน พ.ย.2564 มีหลายปัจจัยด้วยกันอาทิ การรายงานผล Stress test ของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย, สถานการณ์โควิด-19 (ทั้งการแพร่ระบาดของไวรัส และข่าวความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีน), และที่จะมีผลในสัปดาห์ที่จะถึงนี้คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ วันที่ 3 พ.ย.2564

ซึ่งผมประเมินสถานการณ์การลงทุนภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไว้ว่า สถานการณ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะดีขึ้น เนื่องจากไม่ว่าผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นฝ่ายใดก็ตาม (ระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ และนายโจ ไบเดน) ผมประเมินว่าจะเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องของเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และนโยบายทางด้านเศรษฐกิจต่างๆเพื่อเน้นไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดีหากเกิดกรณีที่ 3 คือ คะแนนเสียงทั้ง 2 ฝ่ายมีความก่ำกึ่งกัน และอาจนำไปสู่การฟ้องร้องศาล เพื่อให้พิจารณาการนับคะแนนใหม่ โดยมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจในอดีต 2 ครั้ง คือ

1) การเลือกตั้งฯ ในปี 2503 ระหว่างนายริชาร์ด นิกสัน และนายจอห์น เอฟ. เคนเนดี ซึ่งแม้จะมีรายงานการโกงเลือกตั้งเกิดขึ้นที่รัฐอิลลินอยส์ แต่นายริชาร์ด นิกสัน ปฏิเสธที่จะดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมาย ดัชนี S&P500 หลังการเลือกตั้งวันที่ 26 ก.ย.2503 ปรับลดลงเล็กน้อยในช่วงสัปดาห์แรกหลังการเลือกตั้งฯ ก่อนที่จะปรับขึ้นต่อเนื่องจนดัชนี S&P500 +9.5% นับตั้งแต่วันเลือกตั้งฯจนถึงสิ้นปี 2503

2) การเลือกตั้งฯในปี 2543 ระหว่าง นายอัล กอร์ และนายจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ซึ่งมีการฟ้องร้องต่อศาลสูงให้นับคะแนนเลือกตั้งที่รัฐฟลอริดาใหม่ แต่ศาลตัดสินให้ยกคำร้อง ดัชนี S&P500 หลังการเลือกตั้งวันที่ 7 พ.ย. 2543 และมีการฟ้องร้องต่อศาลสูง ปรับลดลงต่อเนื่องภายหลังการเลือกตั้งฯ และสุดท้ายดัชนี S&P500 ปรับลง -7.8% นับตั้งแต่วันเลือกตั้งฯจนถึงสิ้นปี 2543

สำหรับการเลือกตั้งฯในปี 2563 นี้ ระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ และนายโจ ไบเดน หากผลคะแนนทั้ง 2 ฝ่ายมีความก่ำกึ่งกัน อาจนำไปสู่การฟ้องร้องฯ ให้มีการนับคะแนนใหม่ ผมประเมินว่าความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น และอาจนำไปสู่ความล่าช้าของเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ในกรณีนี้อาจทำให้ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นโลกแย่กว่าที่ผมประเมินไว้เบื้องต้น ซึ่งนักลงทุนในตลาดการเงินไม่ชอบความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความไม่แน่นอน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

ทั้งนี้สำหรับปัจจัยอื่นๆ ที่จะทยอยเข้ามาในตลาดหุ้นไทยช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2563 ที่สำคัญนอกเหนือไปจาก การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้แก่ การรายงานผล Stress test ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย (ระหว่างที่ผมเขียนบทความนี้ยังไม่ทราบผลฯ) ซึ่งในเบื้องต้น ผมประเมินว่าธนาคารพาณิชย์ไทยส่วนใหญ่จะผ่านผล Stress test ได้เนื่องจากสถานะเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง เนื่องจากส่วนใหญ่ผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายในวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 กันมา ทำให้ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ไทยมีความระมัดระวังและรอบคอบในการบริหารจัดการความเสี่ยงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับในอดีต และการผ่าน Stress test นี่เอง จะนำไปสู่ข่าวดีต่อการลงทุนในเรื่องของการปลดล็อคการจ่ายปันผล ให้ผู้ถือหุ้น ผมประเมินว่าหากเป็นไปตามคาดอาจจะเริ่มเห็นการ “ซื้อคืน” หุ้นในกลุ่มฯ และจะเป็นปัจจัยช่วยประคับประคองตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นได้

สำหรับภาพรวมดัชนี SET index ผมยังคงประเมินว่าจะยังเป็นการ Sideway down จนกว่าจะมีปัจจัยบวกใหม่ๆเข้ามาในตลาดฯ (อาทิ ข่าวความสำเร็จของวัคซีนโควิด-19 เป็นต้น) โดยยังคงประเมินระดับที่น่าสนใจในการเข้าซื้อลงทุนหากกรณีที่ดัชนี SET index หลุดต่ำกว่าระดับแนวรับจิตวิทยาที่ 1,200 จุด คือ 1,150 จุด เนื่องจาก ณ ระดับดังกล่าวโมเดลการ Valuation หุ้นในระยะกลาง-ยาว เช่น Cyclical Adjusted PE (CAPE) และ Yield gap จะเริ่มเข้าสู่จุลดุลยภาพคือไม่ถูก -ไม่แพง เมื่อเทียบกับข้อมูลในอดีต นอกจากนี้ ณ ระดับดัชนี SET index 1,150 จุด ส่วนชดเชยความเสี่ยงจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทย (Equity risk premium) ที่ผมประเมินโดยใช้หลักการ Reverse engineering จาก Dividend discount model และใช้ข้อมูลประมาณการฯใน Bloomberg consensus จะกลับมาอยู่ที่ระดับค่าเฉลี่ยระยะยาวของการลงทุนในตลาดหุ้นไทย แต่ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ในขณะนี้จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้สภาพคล่องในตลาดการเงินไหลเข้าสู่ตลาดหุ้น เพื่อหาผลตอบที่สูงกว่า

ดังนั้นหากเกิดความผันผวนในตลาดหุ้นขึ้น จากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ตามที่ผมอธิบายไว้ข้างต้นอาจเป็นโอกาสในการเข้าสะสมหุ้นเพื่อการลงทุนระยะยาวสำหรับนักลงทุนที่ 'ตกรถ' ในช่วงวิกฤตโควิด-19 เมื่อช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ดัชนี SET index ปรับลงแรง จนถึงระดับที่น่าสนใจลงทุน ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่อง