สหพัฒนพิบูล แนะออกอาวุธเร็ว ปิดเกมการขายสินค้าอุปโภคบริโภค Q4
ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคไตรมาส 2 ติดลบหนักสุดรอบ 40 ปี แต่โค้งสุดท้าย ไตรมาส 4 ผู้ประกอบการหวังกำลังซื้อผงกหัว ดันตลาดฟื้นตัว บิ๊กสหพัฒนพิบูล แนะ ยุคนี้ทำตลาดต้อง Agile ว่องไว ให้ทันความต้องงการผู้บริโภค ป้องกันใช้เงินสูญเปล่า
ดัชนีค้าปลีกของสินค้าอุปโภคบริโภค(Fast Moving Consumer Goods : FMCG)ของไทยที่ประเมินมูลค่าราว 9 แสนล้านบาท ปีนี้ “นีลเส็น” เผยตัวเลขตลาด “ติดลบ” รุนแรงในรอบ 40 ปี เพราะโดนพิษโควิด-19 เล่นงานจนอ่วม แม้ช่วงมีนาคม-เมษายน จะเห็นพฤติกรรมการซื้อสินค้าข้าวของเครื่องใช้จำเป็นไป “ตุน” ไว้ มาม่า-ปลากระป๋อง ขายดีเป็นพิเศษ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม โตมากทางภาคอิสาน เป็นต้น
ทว่า ปรากฏการณ์หยิบสินค้าด้วยความตระหนก(Panic) ทำให้มีของกินใช้ยาว จนไมต้องซื้อไปอีกหลายเดือน และบางสินค้าอาจยังกินไม่หมดจนวันนี้
แล้วสถานการณ์ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี 2563 จะเป็นอย่างไร เวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด(มหาชน) ผู้จัดจำหน่ายและทำตลาดรายใหญ่ในเครือสหพัฒน์วิเคราะห์ทิศทางตลาดว่า “สิ่งที่เลวร้ายสุดเกิดขึ้นในไตรมาส 2 และถือว่าผู้ประกอบการผ่านไปได้แล้ว จึงคาดการณ์ว่าไตรมาส 4 แนวโน้มการค้าขายสินค้าอุปโภคบริโภคจะปรับตัวดีขึ้น”
แรงส่งในเชิงบวก คือไตรมาส 4 มีเทศกาลเฉลิมฉลองต่างๆ ประเพณีลอยกระทง ใกล้ช่วงปีใหม่ ผู้คนเริ่มเดินทางท่องเที่ยว แม้จะยังเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้เต็มที่ มาแล้วตัองกักตัว 14 วัน เหล่านี้ช่วยปลุกบรรยากาศการใช้จ่ายเงิน ให้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ดีขึ้นนั่นเอง
ส่วนมาตรการพักชำระหนี้ให้ผู้ประกอบการรายต่างๆ แม้จะสิ้นสุดลง แต่เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินจะมีมาตรการดูแลบริหารจัดการลูกหนี้ เพื่อประคองให้อยู่ได้ไปด้วยกัน “ทุกอย่างน่าจะผงกหัวขึ้นได้”
ทั้งนี้ 9 เดือน ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคติดลบไป 6.6% แต่เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่ติดลบราว 10% ถือเป็นอัตราที่ติดลบลดง จนถึงสิ้นปีจึงคาดการณ์ติดลบเพียง 5-% เท่านั้น โดยขณะนี้สินค้าอุปโภคบริโภคบางหมวดเติบโตเป็น “บวก” เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1.8% ปลากระป๋อง และอาหารหมวดอื่นๆ
โค้งสุดท้าย จะทำตลาดอย่างไรภายใต้สถานการณ์ “เปราะบาง” รอบด้าน เวทิต บอกว่า นาทีนี้ไม่ใช่การ “แตะเบรก” หรือ ต้องเหยียบคันเร่ง แต่ผู้ประกอบการต้องวิเคราะห์สถานการณ์ให้ละเอียด เพื่อผลิตสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละพื้นที่ เช่น ภาคอิสาน ภาคเหนือ กำลังซื้อ การจับจ่ายใช้สอยฟื้นตัว ขณะที่ภาคกลาง และภาคใต้ยังคงชะลอตัว เพราะเศรษฐกิจในพื้นที่พึ่งพาการท่องเที่ยว เป็นต้น
“ต้องไม่ยึดติดกระบวนการทำงานแบบเดิม เราต้องว่องไว ปรับตัวในการทำตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค”
ทั้งนี้ การทำตลาดหลังโควิด ยังต้องมีโปรโมชั่น กระตุ้นการตัดสินใจซื้อ และหนีไม่พ้นการ “ลด-แลก-แจก-แถม” แต่ต้องมีความว่องไวให้ตรงกับจังหวะความต้องการของกลุ่มเป้าหมายด้วย การกำหนดกลยุทธ์อาจไม่ยาก แต่การลงมือปฏิบัติไม่ง่าย โดยเฉพาะข้อจำกัดของซัพพลายเออร์กับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ที่วางแผนจัดโปรโมชั่นกินเวลาค่อนข้างนาน กว่าจะหารือกับทีมงานขาย ประมาณเป้าหมายยอดขาย ฯ เมื่อปล่อยออกมาบางครั้งอาจไม่ทันการณ์
“ยุคนี้ต้อง Agile ความว่องไวในการจัดโปรโมชั่นสำคัญมาก และต้องดูจังหวะ หากจัดโปรโมชั่นตอนคนไม่ออกจากบ้าน หรือทำโปรโมชั่นตอนที่ลูกค้ามีความต้องการซื้ออยู่แล้ว จะกลายเป็น Thamk you promotion ละลายเงินในแม่น้ำ”
สหพัฒนพิบูล ไม่ได้มีแค่การจัดจำหน่ายกระจายสินค้าและทำตลาด แต่บริษัทยังการร่วมทุนกับธุรกิจอื่นๆ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ลอว์สัน108 ซึ่ง เวทิต ฉายภาพผลกระทบช่วงโควิดมีอยู่ต่อร้านไม่น้อย แต่ปัจจุบันยอดขายพฟื้นตัวกลับมา 82% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน นั่นหมายความว่าอีก 12% ยังคงหายไป
ส่วนธุรกิจจำหน่ายสินค้าผ่านตู้อัตโนมัติหรือเวนดิ้งแมชชีน ฟื้นตัวได้ 2 เดือนแล้ว จากที่ผ่านมาได้รับผลกระทบ เพราะตู้ถูกวางจำหน่ายในโรงงานอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย และศูนย์การค้า ซึ่งถูกล็อกดาวน์ไปพร้อมกับห้างร้านนั่นเอง ปัจจุบัน เครือสหพัฒน์มีตู้อัตโนมัติทั้งสิ้น 13,000 ตู้ เป็น “ผู้นำ” ตลาด ส่วนคู่แข่ง เช่น เวนดิ้งพลัสมีราว 5,000 ตู้ เซเว่นอีเลฟเว่น 3,000 ตู้ ที.จี. เวนดิ้งฯ ราว 2,000 ตู้ และบลูเพย์ ราว 2,000 ตู้ เป็นต้น โดยแนวโน้มตลาดีการเติบโตตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เคลื่อนตัวไปยังที่ต่างๆหรือ On the move
สำหรับครึ่งปี สพัฒนพิบูล สร้างรายได้ 16,647 ล้านบาท กำไรสุทธฺ 921 ล้านบาท ขณะที่ปี 2562 ปิดรายได้ราว 33,412 ล้านบาท กำไรสุททธิกว่า 1,709 ล้านบาท ซึ่งจนถึงสิ้นปียังต้องจับตาดูโมเเมนตัมกำลังซื้อที่เริ่มผงกหัวขึ้น จะผลักดันรายได้ทั้งปี 2563 ให้บวกมากน้อยแค่ไหน