กรุงศรีคอนซูมเมอร์ผวา ‘หนี้พุ่ง’ ปรับรายได้ผู้กู้ขั้นต่ำเป็น 1.2 หมื่นบ.
กรุงศรีฯ ชี้หนี้ครัวเรือนพุ่ง รายได้เปราะบาง ส่งผลปรับเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำผู้กู้เพิ่มเป็น 1.2 หมื่นบาทต่อเดือน จากเดิมที่กำหนด1หมื่นบาท ขณะที่ยอดอนุมัติสินเชื่อรวมต่ำลงเหลือ 40% จาก 45% หลังภาระหนี้ผู้กู้พุ่ง ฉุดยอดการอนุมัติต่ำลง ชี้หนี้เสียไหลต่อ
นางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เปิดเผยว่า จากผลกระทบไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ หรือโควิด-19 ยอมรับว่า มาผลกระทบต่อรายได้ครัวเรือนปรับลดลง สภาพคล่องตึงตัวมากขึ้น ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนมีความเปราะบางมากขึ้น จากหนี้ที่สูงขึ้น ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมา กรุงศรีคอนซูมเมอร์ มีการปรับเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำของผู้กู้ สินเชื่อส่วนบุคคล เพิ่มขึ้นเป็น 12,000 บาท จากเดิมที่กำหนดรายได้ขั้นต่ำอยู่ที่ 10,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น ขณะที่บัตรเครดิตยังคงเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำไว้คงเดิมที่ 15,000 บาทต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม หากดูยอดการอนุมัติบัตรรวม( Approval Rate) ต่ำลงบ้าง เป็น40% จากก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 45% หลังผู้กู้มีความเปราะบางมากขึ้นของรายได้ ส่งผลให้เห็นยอดการอนุมัติสินเชื่อต่ำลง
แต่หากดูยอดการอนุมัติสินเชื่อบุคคล ในกลุ่มรายได้12,000 บาทพบว่า อัตราการอนุมัติสินเชื่อเฉลี่ยอยู่ที่ราว 20% เท่านั้น เนื่องจากกลุ่มนี้มีภาระหนี้สูงขึ้น ทำให้อัตราการอนุมัติอยู่ในสัดส่วนค่อนข้างต่ำ อีกทั้งมาจากฝ่ายขายของบริษัทเพิ่มเป้าหมายไปสู่กลุ่มรายได้สูง หรือเกิน 1.5 หมื่นบาทมากขึ้นด้วย
“การอนุมัติสินเชื่อเราพิจารณาอย่างรอบคอบมากขึ้น เพราะลูกค้าส่วนหนึ่งมีภาระหนี้สูงอยู่แล้ว โดยเฉพาะเจนวาย ทำให้ไม่สามารถก่อหนี้ก้อนใหม่ได้ ดังนั้นเราก็ต้องลดความเสี่ยง โดยการปรับเพิ่มรายได้ขั้นต่ำของผู้กู้เพิ่มขึ้น และหากอยู่ในอุตสาหกรรมเสี่ยง เราก็มีการพิจารณาโดยเอารายได้ไม่แน่นอนออกเหมือนกัน เช่นคอมมิชชั่น โอที เพื่อสะท้อนรายได้ลูกหนี้ที่แน่นอนมากขึ้น เพราะเราไม่อยากให้ลูกหนี้มีหนี้มากเกินไปด้วย”
ทั้งนี้ ด้านภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบในปี 2564 คาดว่า น่าจะเห็นการกลับมาเติบโตได้ ในตัวเลขหลักเดียว หากเทียบกับปี 2563 ที่ภาพรวมบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลยังอยู่ในทิศทางติดลบ จากผลกระทบโควิด-19
แต่เชื่อว่าการเติบโตจะไม่ได้มาก หากเทียบกับปีก่อนๆหน้า ที่เติบโต 2หลักต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าโควิด-19 จะทำให้สภาวะของลูกหนี้ซึมอีกสักพัก ทำให้ลูกค้าใหม่อาจเข้าถึงการขอสินเชื่อได้ยากขึ้นอีกสักระยะ
อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ที่ยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น ระยะข้างหน้า บริษัทจะให้ความสำคัญกับการติดตามหนี้มากขึ้น ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกค้า
โดยจะมีการเพิ่มทีมติดตามหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 340 คน ในปี 2564 จากเดิมที่มีอยู่ราว 300 คน อีกทั้งมีการปรับแผนการติดต่อลูกหนี้ โดยการเพิ่มช่องทางการติดต่อผ่าน SMS หรือที่เรียกว่า “Deep Link” เพื่อเสนอแพ็กเกจในการชำระหนี้ให้ลูกหนี้ กรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถติดต่อได้ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดโอกาสความสูญเสีย ลดโอกาสเกิดหนี้เสีย จากการประสานกับลูกหนี้ไม่ได้ในอนาคตให้ลดลงได้
โดยจากการเปิดช่องทางการติดต่อลูกหนี้ผ่าน SME ผ่าน “Deep Link” พบว่ามีอัตราการตอบรับจากลูกหนี้สูงขึ้น จากที่ทดลองส่ง SME ไปแล้วกว่า 10,000 คน
“สำหรับแผนปีหน้า ซึ่งเป็นแผนระยะกลาง 3ปี ตั้งแต่ปี 64-66 คาดว่า จะสามารถสรุปแผนและเสนอคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด)ได้ ในพ.ย.นี้ เพื่อกำหนดการเติบโตของบริษัทในระยะข้างหน้า ซึ่งยอมรับว่าการทำธุรกิจคงไม่เหมือนเดิม จากโควิดข19 ที่เข้ามากระทบ ซึ่งเราก็ต้องปรับตัวไปสู่ทิศทางใหม่ด้วย”