'สุพัฒนพงษ์' ชงแผนเกษตร เร่ง ปตท.ลงทุนระเบียงผลไม้
การผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ครอบคลุมในทุกมิติ รวมถึงการพัฒนาภาคเกษตรที่มีเป้าหมายให้เกษตรกรมีรายได้ในระดับเดียวกับภาคอุตสาหกรรม โดยจะยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและการเข้าถึงตลาดมูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ว่า กบอ.รับทราบความก้าวหน้าแผนพัฒนาเกษตรในอีอีซี ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ดำเนินการร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ มีเป้าหมายยกระดับภาคเกษตร โดยใช้เทคโนโลยีให้ผลการผลิตสูงขึ้นและเข้าถึงตลาดเพิ่มมูลค่าสินค้า รวมทั้งเพิ่มรายได้เกษตรให้เทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งจะเร่งแผนพัฒนาการเกษตรในอีอีซีให้พร้อมทำทันที โดยใช้ความต้องการตลาดนำ (Demand Pull) เน้นเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร เพื่อพัฒนาสินค้าใหม่
รวมทั้งส่งเสริมใช้เทคโนโลยีสร้างรายได้เพื่อยกระดับตลาด การแปรรูป กำหนดสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพและโอกาสสูงให้ตรงความต้องการผู้บริโภคแท้จริง และสร้างรายได้ให้เกษตรอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญ 5 คลัสเตอร์ ได้แก่
1.คลัสเตอร์ผลไม้ เน้นพัฒนาคุณภาพสินค้าเข้าถึงตลาด เพิ่มมูลค่าสินค้าเพิ่มรายได้เกษตรกร โดยใช้เทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่และเกษตรชีวภาพ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ และเทคโนโลยี Precision Farming
2.คลัสเตอร์ประมง มุ่งส่งเสริมประมงเพาะเลี้ยง เพิ่มมูลค่า ส่งเสริมแบบ Smart Farm สร้างอุตสาหกรรมอาหาร
3.คลัสเตอร์พืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับ New S-Curve Industry อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ โดยใช้เทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่และเกษตรชีวภาพ เชื่อมโยงความต้องการวัตถุดิบ สร้างมูลค่าเพิ่ม
4.คลัสเตอร์พืชสมุนไพร มุ่งเน้นพัฒนาการผลิตสมุนไพร ตามความต้องการของตลาดแต่อยอดไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานชีวภาพ เชื่อมโยงความต้องการอุตสาหกรรมอาหารยา
5.คลัสเตอร์ High Valued Products เครื่องสำอาง ปศุสัตว์ ที่จะปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกไปสู่การเพาะปลูกพืชมูลค่าสูง รองรับความต้องการในอนาคต เช่น การแปรรูปเนื้อโคคุณภาพสูง ยกระดับการผลิตและเพิ่มมูลค่า เพิ่มรายได้เกษตรกร
ทั้งนี้ แผนพัฒนาการเกษตรในอีอีซีจะดำเนินโครงการสำคัญ เช่น ระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) พัฒนาความรู้ด้านอีคอมเมิร์ซให้เกษตรกร พัฒนาเวชสำอางจากผลิตผลการเกษตร และพัฒนาการปลูกผักอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่
นอกจากนี้ สกพอ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมขับเคลื่อนแผนบูรณาการอีอีซีปี 2565 ผ่านกระบวนการความร่วมมือจากส่วนกลางและท้องถิ่น โดยมีผู้แทน 18 กระทรวง 103 หน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อน 5 แนวทาง ครอบคลุมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค ส่งเสริมการท่องเที่ยว พัฒนาบุคลากรการศึกษางานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนรองรับการขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ
ทั้งนี้ งบบูรณาการปี 2565 วางเป้าหมายให้เกิดการลงทุนในอีอีซีไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท โดย สกพอ.ใช้งบบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ 2 หมื่นล้านบาท
“เราพร้อมแล้วที่จะเดินหน้าปฏิบัติการเชิงรุกทั้งบีโอไอและ สกพอ.โครงการการหลักจะปิดให้หมดในปี 2563 และโครงการสุดท้ายจะเป็นท่าเรือแหลมฉบังจะพยายามให้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนภายใน ธ.ค.นี้ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนว่าไทยเราพร้อมแล้ว มีการลงทุน 6.52 แสนล้าน รองรับด้านสาธารณูปโภคที่จะดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในไทย”
ขณะเดียวกันพบสัญญาณลงทุนจริงในอีอีซีเริ่มเกิดขึ้น โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจปี 2564 จะฟื้นตัวกว่าที่คาด ซึ่งคาดว่าจะมีข่าวดีจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่จะแถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 วันที่ 16 พ.ย.นี้
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ.กล่าวว่า กำลังสรุปโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อเร่งขับเคลื่อนแผนพัฒนาการเกษตรในอีอีซี ในการยกระดับรายได้เกษตรกร
สำหรับ EFC มอบหมายให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และพันธมิตรร่วมลงทุน สนับสนุนการลงทุนจัดตั้งห้องเย็นในการแช่เก็บรักษาผลไม้ขนาด 4,000 ตันผลไม้ โดยเป็นการลงทุนระบบท่อและให้บริการฟรีแก่ชุมชนทั้งในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง
“อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่ต้องเร่ง เราพูดถึง 5G พูดถึงออโตเมชั่น เราพูดถึงดิจิทัล เราพูดถึงการแพทย์ แต่การันตีว่าปี 2564 มูลค่า 3 แสนล้านได้แน่ รวมทั้งการลงทุนโครงการสร้างพื้นฐานด้วยตีไว้ 1 แสนล้านปีหน้า และบีโอไออย่างน้อยได้ 3 แสนล้าน รวมแล้วได้เกินเป้าจะขับเคลื่อนการเติบโตของจีดีพีให้เติบโตได้”
นอกจากนี้ ในส่วนของการปรับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน ขณะนี้กำลังพิจารณาแผนงาน TEN FOR TEN ที่ธนาคารโลกนำเสนอให้ไทยพิจารณาปรับสิทธิประโยชน์เพื่อยกระดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ หรือ Doing Business ให้ดีขึ้น
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการบีโอไอ เปิดเผยว่า ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย.2563) มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี 313 โครงการ มูลค่าลงทุน 109,430 ล้านบาท คิดเป็น 49% แม้จะลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากดูจากตัวเลขออกบัตรส่งเสริม 9 เดือน อยู่ที่ 309 โครงการเพิ่มขึ้น 16% คิดเป็นมูลค่าลงทุน 185,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าลงทุนถือเป็นสัญญาณการลงทุนจริงที่เริ่มกลับมา