‘ซุปเปอร์ริชสีส้ม'ปรับทัพ รุกธุรกิจใหม่หนุนรายได้
“ซุปเปอร์ริชเคอเรนซี่เอ็กซ์เชนจ์”เผย อยู่ระหว่างการปรับแผนดำเนิน รุกธุรกิจใหม่ หนุนรายได้หลังโควิดระบาด ฉุดนักท่องเที่ยวหาย ประเดิมธุรกิจแรก “โอนเงินข้ามประเทศ” คาดเริ่มให้บริการ
นายปิยะ ตันติเวชยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซุปเปอร์ริชเคอเรนซี่เอ็กซ์เชนจ์(1965) จำกัด หรือ SuperRich SPR (ซุปเปอร์ริชสีส้ม) เปิดเผยว่า จากการโควิด-19 แพร่ระบาดส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างมาก และยังได้รับผลกระทบอยู่จากที่นักท่องเที่ยวยังไม่สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้ ทำให้บริษัทต้องปรับแผนธุรกิจทรานฟอร์เมชั่นในการทำธุรกิจใหม่ เพื่อเพิ่มรายได้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินงาน เช่นแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลและโทเคน หรือการใช้วิธีนำสิ่งของมาแลกเงิน อาทิ นำกระเป๋าหลุยส์มาแลกเงินดอลลาร์ หรือนาฬิกาโรเล็กซ์แลกเงินยูโร และ “ธุรกิจมันนี่ทรานเฟอร์ หรือการโอนเงินข้ามประเทศ
ทั้งนี้ที่ผ่านมาบริษัทได้รับขอซอฟต์โลนมาช่วยในการทรานฟอร์เมชั่นธุรกิจตามแผนงานที่ได้วางไว้ โดยเป็นเม็ดเงินลงทุนเพิ่มเติมหลักสิบล้านบาทเพื่อนำมาพัฒนาระบบเทคโนโลยีต่างๆ สำหรับขับเคลื่อนธุรกิจต่อในระยะถัดไป
สำหรับแผนการทรานเฟอร์เมชั่นธุรกิจ คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินภายในไตรมาส 2 ปี 2564 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการเริ่มจากธุรกิจ “มันนี่ทรานเฟอร์” ซึ่งจะมีระบบแอพพลิเคชั่นและวอลเล็ตบนมือถือมารองรับอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงขยายความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ โซลูชั่น โดยเฉพาะ พันธมิตรต่างประเทศ เพื่อมาเสริมบริการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับลูกค้า
บริษัทตั้งเป้าหมาย “ธุรกิจมันนี่ทรานเฟอร์” น่าจะทำให้บริษัทปรับตัวดีขึ้น คาดว่าจะมีรายได้ส่วนนี้เข้ามาเพิ่มเติมราว 5-10% ของรายได้รวม แต่ทั้งนี้ยังต้องประเมินตลาดอีกครั้งในปีหน้า เพราะปัจจุบันมีทั้งธนาคารพาณิชย์และบริษัทข้ามชาติที่เป็นเจ้าตลาดนี้กันอยู่แล้ว
“เราหวังว่า ตอนนี้คนไทยยังอยู่ต่างประเทศค่อนข้างมาก และต้องการโอนเงินข้ามประเทศ เช่น โอนเงินค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายลูกเรียนต่างประเทศ โอนเงินกลับมาให้บ้านที่เมืองไทย น่าจะทำให้เรามีรายได้ส่วนนี้เข้ามาเสริมได้”
นายปิยะ กล่าวถึงแผนดำเนินงานของบริษัทในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ว่าจะยังคงมุ่งลดรายจ่ายเป็นหลัก เช่นลดจำนวนสาขา โดยที่ผ่านมาลดจาก 50 สาขา เหลือ 17 สาขา ส่วนลดจำนวนพนักงานจะพิจารณาเป็นแนวทางสุดท้าย โดยวางเป้าหมายต่อเดือนควรขาดทุนไม่เกิน 3-4 ล้านบาท
จากปัจจุบันบริษัทมียอดแลกเงินยังทรงตัวในระดับ 600-900 ล้านบาทต่อเดือน และยังทรงตัวระดับนี้จนถึงสิ้นปี 2563 ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่เก็บสะสมดอลลาร์เอาไว้มาขายเป็นบาทเพื่อนำใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และเสริมสภาพคล่องจองตัวเอง รวมถึงมีกลุ่มคนที่กลับจากต่างประเทศเข้ามาในไทย แต่ยอดแลกลดลงมากจากโดยปกติเฉลี่ยต่อรายต้องมี 1 หมื่นดอลลาร์ หรือราว 3 แสนบาท แต่ตอนนี้เหลือมี 1 พันดอลลาร์หรือราว 3 หมื่นบาทต่อรายเท่านั้น