12 แก่นพลังจากฮวงจุ้ย สุขศาสตร์อยู่อาศัยสไตล์ 'ศุภาลัย'
เปิด 12 สุขศาสตร์ ตามปรัชญาตะวันออก 'ศุภาลัย' กางตำราฮวงจุ้ยจากลัทธิเต๋า สู่การปักหมุดหมายทำเลพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยให้มนุษย์เรียนรู้ เข้าใจธรรมชาติ ปรับตัวอยู่กับธรรมชาติด้วยใจเปี่ยมสุข และยั่งยืน
'ศุภาลัย' บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เรียกได้ว่าเจ็บตัวน้อย ในสถานการณ์ล่าสุดกับวิกฤติไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ท่ามกลางเพื่อนร่วมธุรกิจที่ต่างชะลอหรือ ลดการเปิดตัวโครงการใหม่ บางรายขาดสภาพคล่องจนต้องเลย์ออฟพนักงาน แต่สำหรับศุภาลัย ยังเดินหน้าเปิดตัวโครงการในปีนี้สูงถึง 29 โครงการ ทำให้ 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย.2563) มียอดขาย (Pre-sale)20,422ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีรายได้อยู่ที่12,875ล้านบาท
เหนือสิ่งอื่นใดผลประกอบการที่ดี ย่อมเกิดจากประสบการณ์สร้างที่อยู่อาศัย ทั้งบ้าน และคอนโดมิเนียม รวมถึงอาคารพาณิชย์ ทำให้ลูกค้ารู้จัก จดจำ และผูกพันกับแบรนด์
โดยหลักดำเนินธุรกิจ ของ 'ประทีป ตั้งมติธรรม' ประธานกรรมการบริษัท และผู้ก่อตั้ง บริษัทศุภาลัย จำกัด (มหาชน) จะเดินตามวิถี 'สุขศาสตร์แห่งปรัชญาตะวันออก' (The Science of Happiness of Oriental Philosophy) มุ่งตั้งอยู่ในเหตุผลที่พิสูจน์ได้ในทางวิทยาศาสตร์ นำมาปรับใช้กับการสร้างที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้า นำไปสู่การเลือกที่ดิน และพัฒนาโครงการกว่า 200 โครงการ ใน 31 ปีที่ผ่านมา
ความโดดเด่นหนึ่งคือการเลือกที่ตั้งโครงการในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด บนทำเลที่ตอบโจทย์ แต่ละประเภทที่อยู่อาศัย
ผลลัพธ์จากการยึดหลักปรัชญาตะวันออก ตามศาสตร์ของลัทธิเต๋า รู้จักเรียนรู้สภาวะแวดล้อม และเข้าใจธรรมชาติ จึงทำให้ปรับตัวให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ นี่คือวิธีคิดที่นำมาประยุกต์ใช้กับกลยุทธ์ดำเนินธุรกิจ 'ประทีป' ย้ำ
จากความเชื่อที่ว่า การที่มนุษย์จะอยู่อาศัยบนโลกนี้ได้อย่างมีความสุข เริ่มต้นจากบ้าน ที่อยู่อาศัย จึงนำหลักการ 'ฮวงจุ้ย' ความรู้และเข้าใจธรรมชาติที่ถูกบันทึกตั้งแต่ยุคเต๋า หรือ กว่า 2,500 ปีที่ผ่านมา มาออกแบบและจัดวางบ้านให้เหมาะสมกับอากาศ และสอดคล้องกับธรรมชาติ โดยมีวิธีคิด 'ไม่เศร้าหมองกับอดีต ไม่กังวลกับอนาคต มีแต่ปัจจุบัน มุ่งมั่นสร้างสรรค์'
หลักการของ 'ฮวงจุ้ย' คือ การเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติ ที่มีองค์ประกอบด้านภูมิอากาศและทิศทางลม โดยฮวงมาจากคำว่า เฟิง (FENG) แปลว่าลม แทนภูมิอากาศ ส่วน จุ้ย มาจาก สุ่ย (SHUI) แปลว่าน้ำ แทนภูมิประเทศ
'เราจะมีความสุขในชีวิตต้องเข้าใจธรรมชาติ และรู้จักปรับตัวจึงจะอยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุขแต่ถ้าไม่เข้าใจภูมิอากาศและภูมิประเทศ ออกแบบบ้านผิดหลักธรรมชาติ สร้างบ้านหันผิดทิศ ไม่ได้รับทิศทางลม มีแดด ก็ทำให้คนอยู่ร้อนลุ่ม ต้องเปิดแอร์ เปลืองไฟ และอยู่อย่างไม่มีความสุขได้'
ประทีป ตั้งมติธรรม
แม้ฮวงจุ้ยจะเป็นศาสตร์จากตำราจีน แต่มีหลายด้านที่คนไทยรับนำมาใช้ด้วยความเชื่อ ขาดการเรียนรู้และปรับใช้ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศและภูมิประกาศของไทย สำหรับศุภาลัยจะยึดหลัก 12 ประการของความเชื่อตามหลักฮวงจุ้ยในใจ ที่นำมาประยุกต์ใช้ในการสร้างอาคาร บ้านเรือน ประกอบด้วย
1.การก่อสร้างอาคาร บ้านเรือนในจีนวางผังบ้านให้ด้านหน้าเป็นน้ำ-หลังเขา เพื่อให้สระน้ำหน้าบ้านพัดความเย็นเข้ามาในบ้าน ส่วนภูเขาหลังบ้านช่วยบังลมทางทิศเหนือ ขณะที่ไทย มีลมมรสุม มีดิน น้ำ ต้นไม้ เนินเขา และภูเขา แม้ภูมิประเทศคล้ายกันแต่ภูมิอากาศแตกต่างกัน จึงเน้นก่อสร้างเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันด้านยาวไปทางเหนือเพื่อรับลม และด้านแคบ ไปทางตะวันตกหรือตะวันออกป้องกันแดด
2.ประตูหน้าบ้านตามหลักฮวงจุ้ยประตูหน้าบ้านจีนจะต้องเปิดเข้า แต่ไทยไม่มีลมแรง มีเพียงแดด และฝนตกหนักจึงหันประตูออกเพื่อกันแดดและลม
3.ที่ดินงอก ที่น้ำเซาะหลักฮวงจุ้ยที่อยู่ฝั่งที่เป็นคุ้งน้ำที่เป็นที่ดินงอก ที่ดินหายเพราะถูกน้ำถัด ฝั่งตรงข้ามได้ที่ดินเพิ่มและได้พัดพาแร่ธาตุความอุดมสมบูรณ์เข้ามา
4.ทางสามแพร่ง เป็นความเชื่อสวนทางคนไทยในด้านโชคลาง แต่ความจริง เป็นจุดหักเลี้ยวรถยนต์ จึงเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ สามารถแก้ไขได้ นำมาพัฒนาเป็นที่ตั้งของอาคาร สำนักงานสถานที่สำคัญ เช่น รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล คฤหาสน์ฯ แต่ปรับแก้ไขไม่ให้รถพุ่งชนโดยการยกระดับความสูงให้อาคารมีความโดดเด่นสง่างาม และทำวงเวียน หรือ น้ำพุเป็นจุดเลี้ยวกลับรถ
5.ประตูหน้าต่างตรงกัน หลักฮวงจุ้ยประตู หน้าต่างตรงกันจะไม่ดี แต่ปรับใช้ในสถาปัตยกรรมของไทย เป็นเมืองร้อนควรเปิดช่องทางให้ลมเข้าออกไม่ว่าจะตรงหรือเยื้องๆก็ได้
6.ชายคาบ้าน ชายคาบ้านในเมืองจีนสั้นกว่าไทย เพราะฝนตกน้อย แดดไม่จัด แต่ชายคาบ้านของไทยนั้นยาวกว่า เพราะให้สามารถกันแดดได้ แต่บางประเภทบ้านจัดสรร จำเป็นต้องปรับให้ชายคาไม่ยาวมาก เพราะราคาที่ดินแพงขึ้น และบ้านอยู่ติดกัน ชายคายาวก็ทำให้น้ำฝนไหลเข้าบ้านข้างเคียงได้ มีเทคโนโลยีใหม่ที่จะไม่จำเป็นต้องทำหลังคายาวมาช่วยบังแดด ต่างกันกับบ้านสมัยโบราณมีชายคาเตี้ยกันแดดกันฝนเป็นหลัก
7.ธรณีประตู ประเทศจีนแต่ละบ้าน อาคารสาธารณะ จะสร้างธรณีประตูสูง เป็นเทคนิคก่อสร้างเพื่อยึดให้แข็งแกร่ง และป้องกันน้ำท่วม แต่เมืองไทยส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมี และถือเป็นอันตรายโดยเฉพาะคนแก่ จึงหลีกเลี่ยง
8.กระเบื้อง ในยุคนี้ พื้นห้องน้ำ ห้องครัว ควรใช้กระเบื้องกึ่งมันกึ่ง ลื่นน้อยลดอุบัติเหตุ ส่วนผนังควรใช้กระเบื้องแบบลื่นทำความสะอาดง่าย ด้านจะทำให้ลื่นน้อยลง ส่วนผนังควรใช้แบบลื่นเพื่อทำความสะอาดง่าย สำหรับภายนอกเช่น โรงรถ ชานหน้าบ้านถนนทางเข้าบ้าน ปูกระเบื้อง หรือหินที่ไม่ลื่น
9.ขนาดห้อง ขนาดห้องนอน ไม่ควรใหญ่จนเกินไป ให้เหมาะกับการใช้งาน ยกตัวอย่างหากห้องนอนผู้สูงอายุขนาด100ตารางเมตร (ตร.ม.) ก็เป็นอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายตัวเข้าห้องน้ำ
10. ขนาดบ้าน บ้านที่มีขนาดใหญ่โอ่โถงมากเกินไป กลับไม่เป็นผลดีกับสมาชิกในครอบครัว เพราะทำให้ปฏิสัมพันธ์ลดลง เพราะอยู่กันคนละมุม ความสนิทสนม ความสุขในครอบครัวก็จะลดลง เพราะเจอกันน้อยลง
11. หัวเตียง หลักฮวงจุ้ยคานเหนือหัวเตียง มองขึ้นไปเจออาจจะรู้สึกไม่ดี หากพิจารณาด้วยเหตุผล ความไม่ดีที่คนโบราณถือเรื่องคานนั้น มาจากกลัวแผ่นดินไหวคานหล่นมาทับได้ ส่วนในไทยโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กจึงปลอดภัยแต่ถ้าดูแล้วก็ไม่สบายตารวมถึงความเชื่อการหันหัวเตียงไปทางตะวันตกไม่ดีเพราะผนังจะร้อน แต่ปัจจุบัน มีเครื่องปรับอากาศ แต่ผู้ทำบ้านจัดสรรก็ยังต้องหลีกเลี่ยง เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ยังถือว่าไม่เป็นมงคล
12. ส้วม คนไทยถือว่า จะไม่สร้างส้วมอยู่หน้าบ้าน คนจีนก็ถือเช่นกัน เพราะมีกลิ่นเหม็น ปัจจุบันมีการพัฒนา ไม่ส่งกลิ่นเหม็น แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้อยู่อาศัยเป็นหลัก
นี่คือ หลักการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามหลักฮวงจุ้ย 12 ประการที่นำมาปรับใช้ให้เหมาะสมตามหลักเหตุผล และสภาพอากาศในประเทศไทย โดยศุภาลัยใช้หลักการนี้มาตลอดในการเลือกที่ดิน ตามหลักฮวงจุ้ย ที่ทำให้ทั้ง 200 โครงการ ปิดโครงการหมดและคืนทุน บางจุดที่มีจุดอ่อน ก็ปิดจุดอ่อน เช่น จุดเว้าแหว่ง ไม่มีทางออก ก็ค่อยๆ เก็บซื้อที่ดินเพิ่ม โดยจะดูฮวงจุ้ย ควบคู่กับการพัฒนาก่อนตัดสินใจซื้อที่ดินจากนั้นมีการปรับที่อยู่อาศัยโดยคำนึงถึงลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้อยู่อาศัยอย่างมีความสุขในระยะยาว