‘ซีพีจีซี'เล็งปั้นชุมชนจีนในนิคมฯ เพิ่มพอร์ตรายได้รับศก.ขาลง
นิคมอุตสาหกรรม “ซีพีจีซี” เป็น 1ใน7 ธุรกิจของ ซี.พี.แลนด์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่มี “สุนทร อรุณานนท์ชัย” นั่งแท่นกุมบังเหียน ตั้งเป้าหมายว่า จะเป็น ธุรกิจอนาคตที่เป็นนิวเอสเคิร์ฟ
สมเกียรติ เรือนทองดี กรรมการ บริษัท ซีจี คอร์เปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ที่ดินนิคมฯ ซีพีจีซี ซื้อมา 33 ปีแล้ว แต่เพิ่งนำมาพัฒนาในช่วง 2-3 ปีนี้ เพื่อรองรับการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ภายใต้นโนบายขับเคลื่อนประเทศของรัฐบาลให้ผู้ประกอบใน 3 จังหวัด หนึ่งในนั้น คือ ระยอง จึงเป็น “โอกาส” ในการพัฒนาพื้นที่ เป็นโครงการที่ใกล้กับตลาด ท่าเรือมาบตาพุด รวมทั้งใกล้อู่ตระเภา และรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพียง 35 กิโลเมตร
นิคมฯ ซีพีจีซี จ.ระยอง นับเป็นโครงการนิคมอุตสาหกรรมใหม่ที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดจำนวน 3,000 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง บริษัท กว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียร์ริ่ง กรุ๊ป ยีอาน จากจีน กับ ซี.พี.แลนด์ เพื่อรับเหมาก่อสร้างพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่ดึงนักลงทุนจีน เข้ามาลงทุนก่อสร้างและพัฒนาโปรดักท์ในนิคมฯ ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นกลุ่มลูกค้าจีน รวมทั้งลูกค้าต่างชาติอื่นๆ ที่สนใจเข้ามาลงทุน บนพื้นที่โครงการ 3,065 ไร่ แบ่งเป็น 3 เฟส
เริ่มจากเฟสแรก พัฒนาที่ดิน 1,000 ไร่ ใช้เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคสัดส่วน 90% ของสาธารณูปโภคทั้งหมด อาทิ ถนนสายหลัก 3 กิโลเมตร โรงงานบำบัดน้ำเสีย และผลิตน้ำดิบ โครงข่ายไฟฟ้าและโทรคมนาคม ซึ่งจะนำฝังลงใต้ดินทั้งหมด
พงศ์พัฒน์ สาระสิทธิ์ ผู้จัดการอาวุโส นิคมอุตสาหกรรม ซีพีจีซี ระบุว่าจากการศึกษาปัญหานิคมฯ ในอดีตพบว่า มักมีปัญหาเรื่องการจราจร จึงเปิดทางออกถึง 4 ช่องทาง มีช่องทางการจราจรถึง 6 ช่องทาง ปัญหาต่อมาเรื่องแรงงาน ซึ่งในพื้นที่เฟส 3 จะอยู่ตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือและเทคนิคบ้านค่าย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตบุคลากรตั้งแต่ระดับ ปวช.ไปจนถึงปริญญาเอก
อีกปัญหาคือ น้ำท่วม ทางเข้าของนิคมฯ จะเป็นเนิน และเป็นพื้นที่สูงกว่าพื้นที่ข้างเคียงฉะนั้นโอกาสที่จะน้ำท่วมมีน้อยมากและผ่านมาไม่เคยท่วม นอกจากนี้ในพื้นที่จะปลูกต้นไม้จำนวนมากตามคอนเซปต์“กรีน อินดัสทรี” หรือโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว และ‘สมาร์ท อินดัสเตรียล’ ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการพัฒนาระบบโทรคมมนาคมที่รองรับ5G
ทั้งนี้ นิคมฯ ซีพีจีซีจะมีพื้นที่ "อุตสาหกรรม 2,205 ไร่" คิดเป็น 71.89% ของพื้นที่ทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ “พาณิชยกรรม 112 ไร่” คิดเป็น 3.67% ทำไว้เพื่อรองรับคนที่อาศัยอยู่ในโรงงานหรือคนที่ทำงานในพื้นที่ไม่จำเป็นต้องออกไปนอกพื้นที่
ในอนาคตถ้ามีกลุ่มนักลงทุนจีนเข้ามาจะเปิดอาคารสำนักงาน รีเทล ร้านอาหาร ธนาคารจีนเข้ามาเพื่อให้ส่งเงินกลับประเทศได้ โดยทำให้เป็นคอมเมอร์เชียลสำหรับคนจีน ในอนาคตจะมีอพาร์ตเมนต์ ที่เป็นที่พักของคนจีน สำหรับคนจีนที่เข้ามาทำให้รู้สึกว่าไม่ได้ห่างบ้าน เพราะมีชุมชนคนจีนอยู่ในนิคมฯที่พัฒนาร่วมกัน
โดย 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่จะเข้ามา เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐานตามอีอีซี กลุ่มแรก จะเป็นอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ กลุ่มที่สองคือกลุ่มดิจิทัล กลุ่มที่สามยานยนต์สมัยใหม่ กลุ่มที่สี่ การแพทย์และกลุ่มที่ห้า คืออาหารอนาคตแนวฟังชั่นนอลเพื่อสุขภาพ
สมเกียรติ กล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาในเฟสที่ 1 พัฒนาที่ดิน 1,100 ไร่ เป็นพื้นที่ขาย 600ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เฟสที่ 2 พื้นที่ 1,200 ไร่ เป็นพื้นที่ขาย 1,000ไร่ และเฟสที่ 3 พื้นที่ 700 ไร่เป็นพื้นที่ขาย 500ไร่
สำหรับการก่อสร้างในเฟสแรก คาดว่า ปลายปี2563จะแล้วเสร็จ พร้อมที่ให้ลูกค้าเข้ามาดำเนินการก่อสร้างโรงงานต่างๆได้และพร้อมที่ดำเนินการในเฟส2 และเฟส3 ต่อในปี2564 คาดว่าจะเกิดการลงทุนตั้งโรงงานทั้งหมดในนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี ไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานเพิ่มไม่ต่ำกว่า 20,000 อัตรา
“แม้ไทยเผชิญวิกฤติโควิดแต่เรามีลูกค้าที่ติดต่อไว้แล้ว คาดว่ากลางปี 2564 เป็นต้นไปจะสามารถเดินทางนอกประเทศได้แล้ว โดยกลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นคนจีนที่จองไว้จำนวน 50 รายผ่านระบบออนไลน์ และมีประเทศอื่นที่ติดต่อมา อาทิ ไต้หวัน ยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมนี จะเป็นโรงงานผลิตวัสดุเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เป็นไบโอเคมี เพื่อรองรับอุตสาหกรรมชั้นสูงที่มาลงทุนในอีอีซี และ สหรัฐ เพราะเราตั้งใจจะเป็นนิคมอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรม เทคโนโลยีที่ดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในประเทศไทย”