การกระจายสินค้าสีเขียว ในธุรกิจค้าปลีก
ในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ การกระจายสินค้า (Distribution) มีบทบาทสำคัญต่อขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจทั้งทางด้านการสร้างประสิทธิภาพในเชิงต้นทุน (Cost Efficiency) และการตอบสนองความต้องการของลูกค้า
ในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ การกระจายสินค้า (Distribution) มีบทบาทสำคัญต่อขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจทั้งทางด้านการสร้างประสิทธิภาพในเชิงต้นทุน (Cost Efficiency) และการตอบสนองความต้องการของลูกค้า (Market Responsiveness) เพื่อสร้างความพึงพอใจด้านราคาสินค้าและระดับการให้บริการจนทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ โดยกระบวนการกระจายสินค้าจะครอบคลุมทั้งส่วนที่เป็นการรวบรวมสินค้าจากซัพพลายเออร์ที่มีอยู่จำนวนมากเข้าสู่ศูนย์กระจายสินค้า และส่วนที่เป็นการนำสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้าไปเติมเต็มที่ร้านสาขาต่าง ๆ
การขนส่ง ถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดในกระบวนการกระจายสินค้าทั้งในส่วนของโลจิสติกส์ขาเข้าและขาออก และยังเป็นปฏิบัติการด้านโลจิสติกส์ที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นธุรกิจค้าปลีกจึงให้ความสำคัญแก่การขนส่งที่ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบของการกระจายสินค้าสีเขียว (Green Distribution) และการจัดการโลจิสติกส์สีเขียว (Green Logistics) โดยมีแนวทางการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมการขนส่งดังนี้
1) การเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง
โดยเปลี่ยนไปใช้รูปแบบการขนส่งที่ประหยัดพลังงานหรือสร้างความประหยัดจากขนาด (Economies of Scale) ทั้งนี้ Swedish Network for Transport and Environment (NTM) ระบุว่าสำหรับการขนส่งระยะไกลแล้ว การขนส่งทางอากาศจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อตัน-กิโลเมตร สูงกว่าการขนส่งทางทะเลถึง 30 เท่า โดยประมาณ หรือกรณีธุรกิจค้าปลีก เช่น เทสโก้ โลตัส ในสหราชอาณาจักร ปี 2012 ที่ได้เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งระยะไกลจากทางถนนไปใช้ทางราง คิดเป็นระยะทางรวม 14 ล้าน กิโลเมตร ซึ่งสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 15,000 ตันต่อปี
อย่างไรก็ตาม สำหรับธุรกิจค้าปลีกของไทยส่วนใหญ่ยังจำเป็นต้องพึ่งพาการขนส่งทางถนนในกระบวนการกระจายสินค้าเป็นหลัก เนื่องจากการขนส่งทางถนนเป็นรูปแบบการขนส่งเดียวที่สามารถทำการขนส่งแบบ Door-to-Door ได้ ตลอดจนเป็นรูปแบบการขนส่งที่มีความคล่องตัวและยืดหยุ่นสูง สามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว และมีความแน่นอนสูงกว่ารูปแบบการขนส่งอื่นที่อาจประหยัดพลังงานมากกว่า เช่น ระบบราง และทางน้ำ ยกเว้นในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤตหรือกรณีฉุกเฉิน เหมือนกรณีวิกฤตอุทกภัยในปี 2554 ที่เส้นทางขนส่งทางถนนและศูนย์กระจายสินค้าทั่วประเทศถูกน้ำท่วม จึงทำให้ไฮเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่อย่าง เทสโก้ โลตัส ต้องปรับไปใช้รูปแบบการขนส่งอื่น ๆ ทดแทน ไม่ว่าจะเป็นรถไฟและการขนส่งทางอากาศเพื่อให้ยังสามารถกระจายสินค้าไปจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศได้
2)การลดความยาวของโซ่อุปทาน
โดยการลดขนาดและจำนวนข้อต่อในโซ่อุปทาน เพื่อลดจำนวนการเคลื่อนย้ายและการขนถ่ายลำเลียงสินค้าระหว่างสมาชิกในโซ่อุปทานโดยไม่จำเป็น เช่น การที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตใช้การจัดการโลจิสติกส์ที่ทันสมัยในการลดความยาวของโซ่อุปทาน โดยใช้ศูนย์กระจายสินค้าในการเชื่อมโยงผู้ผลิตกับร้านค้าสาขาโดยตรง ซึ่งเป็นการลดการพึ่งพาผู้ค้าส่ง หรือกรณีของไฮเปอร์มาร์เก็ตไทยที่รับซื้อผลิตผลทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นโดยไม่ผ่านคนกลาง ซึ่งการลดขนาดความยาวของโซ่อุปทานดังกล่าวเป็นการช่วยการลดจำนวนการขนส่ง การเคลื่อนย้ายและขนถ่ายลำเลียงสินค้า ส่งผลให้สามารถลดการสิ้นเปลืองพลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาที่สนับสนุนว่าการใช้ช่องทางการขายออนไลน์ซึ่งเป็นการลดความยาวของโซ่อุปทานสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าช่องทางการขายแบบปกติ โดยผลการศึกษาระบุว่าช่องทางการขายแบบปกติในธุรกิจค้าปลีกหนังสือ (Book Retail) ของสหราชอาณาจักรปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าช่องทางการขายออนไลน์ถึง 8.3 เท่า อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่มากว่าผลการศึกษาดังกล่าวจะยังคงเป็นจริงกับธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตหรือไม่ ซึ่งเป็นธุรกิจที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ประจำวัน มีอุปสงค์มหาศาล สม่ำเสมอและต่อเนื่อง ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกหนังสือมีอุปสงค์ที่ไม่แน่นอน ผันผวน และยากแก่การคาดเดา ดังนั้นการขายหนังสือผ่านระบบออนไลน์และจัดส่งสินค้าเฉพาะที่ลูกค้าสั่งซื้อเท่านั้นจึงสามารถประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าการกระจายหนังสือทุกเล่มไปที่ร้านค้าและสุดท้ายต้องถูกส่งกลับเมื่อไม่สามารถขายได้
ในคราวหน้า เรามาคุยกันต่อถึงแนวทางอื่น ๆ ในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมการขนส่งของธุรกิจค้าปลีก