ผูกขาดตลาด VS อำนาจเหนือตลาด ...เหมือนหรือต่าง?
ไขข้อข้องใจ "ผูกขาดตลาด" กับ "อำนาจเหนือตลาด" เหมือนหรือต่างกันอย่างไร? และในกรณีของการควบรวมธุรกิจระหว่างซีพีและเทสโก้ โลตัสนั้น ก่อให้เกิดการผูกขาด หรือมีอำนาจเหนือตลาดเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่?
นิยาม “ตลาดผูกขาด" (Monopoly) หรือ "การผูกขาดตลาด” ในทางเศรษฐศาสตร์มีใจความสำคัญคือ เป็นตลาดที่มีผู้ผลิตหรือผู้ขายรายเดียว ซึ่งจะถูกเรียกว่า “ผู้ผูกขาด (Monopolist)”
ในขณะที่นิยามการผูกขาด ตามประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้งผลการรวมธุรกิจ พ.ศ.2561 ระบุว่า การผูกขาด หมายความว่า การมีผู้ประกอบธุรกิจรายเดียวในตลาดใดตลาดหนึ่ง ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดราคาและปริมาณสินค้า หรือบริการของตนได้อย่างเป็นอิสระ และมียอดขายตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป
ในขณะที่ประกาศ กขค. เรื่อง หลักเกณฑ์การเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมี “อำนาจเหนือตลาด” มีใจความโดยรวมที่ระบุถึงผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด ไว้ 2 กรณี กล่าวคือ หนึ่ง ผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งในตลาดสินค้าหรือบริการตลาดใดตลาดหนึ่ง มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป และมียอดขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป
และ สอง ผู้ประกอบธุรกิจสามรายแรกในตลาดสินค้าหรือบริการหนึ่ง ที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมารวมกันตั้งแต่ร้อยละ 75 ขึ้นไป โดยจะต้องมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันล้านบาท และมีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10
กล่าวถึงการควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ซีพีฯ) และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (เทสโก้ฯ) ที่ได้รับการวิพากษ์อย่างกว้างขวางในหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องของการผูกขาดตลาดและการมีอำนาจเหนือตลาด
การควบรวมธุรกิจระหว่าง ซีพีฯ และเทสโก้ฯ ก่อให้เกิดการผูกขาด หรือมีอำนาจเหนือตลาดเพิ่มขึ้น...จริงหรือ?
จากนิยามการผูกขาดข้างต้น สามารถตอบคำถามแรกได้อย่างชัดเจนว่า การควบรวมธุรกิจในครั้งนี้ไม่ก่อให้เกิดการผูกขาดตลาด โดยยืนยันจากผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจระหว่าง ซีพีฯ และเทสโก้ฯ ซึ่งได้แบ่งโครงสร้างตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ออกเป็น 3 ประเภทคือ หนึ่ง ประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) สอง ประเภทซูเปอร์มาร์เก็ต (Supermarket) และ สาม ประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก
ผู้ประกอบธุรกิจในประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต เช่น เทสโก้-โลตัส บิ๊กซีซูเปอร์มาเก็ต ท็อปส์ซูเปอร์สโตร์ ฯลฯ ผู้ประกอบธุรกิจในประเภทซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น ท็อปส์มาร์เก็ต ตลาดโลตัส วิลล่ามาร์เก็ต ฯลฯ และผู้ประกอบธุรกิจในประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก เช่น เซเว่น-อีเลฟเว่น เทสโก้-โลตัสเอ็กเพรส แฟมิลี่มาร์ท มินิบิ๊กซี ฯลฯ จะเห็นได้ว่าการควบรวมธุรกิจครั้งนี้ไม่ก่อให้เกิดผู้ผลิตเพียงรายเดียวในตลาดแต่ละประเภท
คำถามที่สอง การควบรวมธุรกิจครั้งนี้ส่งผลให้ผู้ขอควบรวมธุรกิจมีอำนาจเหนือตลาดเพิ่มขึ้นหรือไม่ จากผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการฯ แสดงให้เห็นว่า ในปี 2562 ตลาดประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต เทสโก้-โลตัส มีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 47 ในขณะที่บิ๊กซีซูเปอร์มาเก็ตมีส่วนแบ่งตลาดเกือบร้อยละ 40 อันดับ 3 คือ ท็อปส์ซูเปอร์สโตร์ มีส่วนแบ่งตลาดเกือบร้อยละ 2 นั่นหมายความว่า ตลาดประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งเทสโก้ฯ และบิ๊กซีฯ ถือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ในขณะที่ท็อปส์ฯ ไม่เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด เนื่องจากมีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาไม่ถึงร้อยละ 10
ตลาดประเภทซูเปอร์มาร์เก็ต ท็อปส์มาร์เก็ตถือว่ามีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด คือประมาณร้อยละ 27 ตลาดโลตัสมีส่วนแบ่งตลาดรองลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 16 และอันดับสามคือ วิลล่ามาร์เก็ต มีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 5 จึงกล่าวได้ว่าในตลาดประเภทนี้ไม่มีผู้ประกอบธุรกิจรายใดถือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด เนื่องจากส่วนแบ่งตลาดรวมกันทั้ง สามรายแรกของผู้ประกอบธุรกิจไม่ถึงร้อยละ 75
ตลาดประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก เซเว่น-อีเลฟเว่น มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด ประมาณร้อยละ 75 อันดับสอง คือ เทสโก้ฯ เอ็กเพรส มีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 10 จึงกล่าวได้ว่าเซเว่น-อีเลฟเว่น เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดก่อนการควบรวมธุรกิจ และมีอำนาจเหนือตลาดเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 10 หลังการควบรวมธุรกิจ
ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่ง ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) มุ่งเน้นประชาสัมพันธ์เพื่อให้สังคมได้เข้าใจอย่างถูกต้องคือ ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นผู้ผูกขาดหรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ไม่ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 หากแต่จะมีความผิดก็ต่อเมื่อผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นผู้ผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาด มีพฤติกรรมทางการค้าที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม
ในส่วนของรายละเอียดที่เป็นเหตุผลของ กขค.ที่ตัดสินในคดีการควบรวมธุรกิจระหว่างซีพีฯ และเทสโก้ฯ จะปรากฏในผลคำวินิจฉัย ซึ่งต้องเปิดเผยสู่สาธารณะ อย่างไรก็ตาม การสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับสาธารณชนในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.การแข่งขันฯ พ.ศ.2560 ควรอยู่บนพื้นฐานของหลักการที่ถูกต้อง รวมถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อมิให้สาธารณชนเข้าใจผิดและละเลยที่จะใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.การแข่งขันฯ พ.ศ.2560 และ สขค.