'กรุงไทย' ตั้งสำรองสูง รับ 'หนี้เสีย' เปิดยุทธศาสตร์ฝ่าวิกฤติปี 64 ช่วยลูกหนี้-ไม่เร่งกำไร
ธนาคาร "กรุงไทย" เปิดแผนธุรกิจปี 2564 ยึด 2 โมเดล เรือบรรทุกเครื่องบินและเรือเร็วมุ่งสร้างการเติบโตก้าวกระโดด พร้อมเร่งช่วยลูกค้าฝ่าวิกฤติต่อเนื่อง รับมือหน้าผาเอ็นพีแอล คาดยังตั้งสำรองระดับสูง 125-130% ตั้งเป้าคุม "หนี้เสีย" ไม่ให้เกิน 5%
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวถึงแผนธุรกิจปี 2564 ภายใต้การขยายตัวของจีดีพีที่คาดว่าจะโตระดับ 3% ดังนั้นแผนธุรกิจของธนาคาร ต้องเดินตาม แผนยุทธศาสตร์ฝ่าวิกฤติพายุ “Execution through the perfect Storm” ภายใต้การขับเคลื่อนธุรกิจด้วย เรือบรรทุกเครื่องบิน (Carrier) และ เรือเร็ว (Speed Boat) เพื่อต่อยอดการเติบโตของธนาคาร
ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ธนาคารยึดตาม 5 เสาหลักสำคัญ เสาแรก คือการเดินตามยุทธศาสตร์เรือบรรทุกเครื่องบิน คือ การประคองการเติบโตของธุรกิจหลักที่เป็นธุรกิจเดิมให้เติบโตต่อเนื่อง อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องดูแลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (หนี้เสีย) หรือ เอ็นพีแอล ควบคู่ไปกับการประคองลูกหนี้ของธนาคาร และดูแลการถือผลิตภัณฑ์ข้ามโปรดักต์(Cross Sell) ตามบริบทเดิมของธนาคารโดยให้ลูกหนี้กระทบน้อยที่สุดเท่าที่ทำได้
เสาที่ 2 สร้างรูปแบบธุรกิจ บนยุทธศาสตร์ของสปีดโบ๊ท หรือเรือเร็ว ผ่าน “อินฟินิธัส บาย กรุงไทย” ที่จะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ ไปสู่การขายให้ได้ วันนี้ธนาคารมีจำนวนพนักงานสูง แต่การให้บริการหลายด้านถูกทดแทนด้วยดิจิทัลแล้ว ดังนั้นการให้บริการต้องมีการปรับรูปแบบ เช่น Cross sell การติดตามทวงหนี้ การประเมินหลักทรัพย์ เป็นต้น และเปลี่ยนจากเซอร์วิส กลายเป็นเซลล์ เพื่อให้บริการลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น
เสาที่ 3 ธนาคารกรุงไทยตั้งเป้าจะใช้กระดาษให้น้อยที่สุด โดยการใช้ดิจิทัลทรานฟอร์ม โดยเร่งเอา RPA หรือ Robotic process automation หรือการใช้ AI เข้ามาช่วยในการประมวลสินเชื่อมากขึ้น เพื่อลดการใช้กระดาษในอนาคต
เสาที่ 4 การต่อยอดจากธุรกิจจากคู่ค้าของลูกค้า ด้วยกลยุทธ์ X2G2X ที่ยึดภาครัฐ เป็นศูนย์กลาง และต่อเชื่อมด้วยคู่ค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อย และ เสาที่ 5 กรุงไทยเคียงข้างไทยสู่ความยั่งยืน การปฏิรูป การพัฒนาองค์กร ปรับรูปแบบการทำงานเพื่อให้ตอบโจทย์ชุมชนแข้มแข็ง เพราะหากลูกค้าแข็งแรงก็จะนำไปสู่ความยั่งยืนของกรุงไทย
“ด้านเรือบรรทุกเครื่องบิน เราได้เตรียมพร้อมบุคคลกรเพื่อเดินไปตามแผนยุทธศาสตร์องค์กร โดยธนาคารจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ปลดพนักงานออก แต่จะ รีสกิล อัพสกิล ให้กับพนักงานเพื่อต่อยอดและเดินไปกับยุทธศาสตร์ของธนาคารให้ได้”
ในปี 2564 ยังเป็นปีที่ธนาคารกรุงไทยเร่งทำระบบแบบคู่ขนาน คือระบบเปิด คือ “เป๋าตัง” และระบบปิด โมบายแบงกิ้ง Krungthai NEXT เพื่อให้ระบบของธนาคารสามารถรองรับการใช้แพลตฟอร์มไปสู่ระบบ 60 ล้านคน จากปัจจุบันที่แพลตฟอร์มสามารถรองรับลูกค้าอยู่ที่ 40 ล้านคน ซึ่งเป็นระบบที่มีเสถียรภาพมากที่สุดในประเทศ
“ปี 2564 ธนาคารตั้งเป้าในการเข้าไปลงทุนทั้งด้านไอที ดิจิทัลอย่างต่อเนื่องกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากปีนี้ที่ใช้งบลงทุนด้านไอทีราว 7-8 พันล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนแผนธุรกิจตามแนวทางของสปีดโบ๊ท”
ขณะเดียวกันปีหน้ายังเป็นปียังต้องเผชิญกับหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ระดับสูง เพราะประเทศไทยคงไม่สามารถลดหนี้ครัวเรือนได้หากรายได้ไม่เพิ่ม ถือเป็นจุดท้าทายกับระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งกลไกของธนาคารพาณิชย์จะต้องช่วยประคองเศรษฐกิจ ด้วยสินเชื่อ และมาตรการดูแลลูกหนี้ให้สามารถฝ่าวิกฤติ ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2564 จึงนำไปสู่ หน้าผาเอ็นพีแอล ซึ่งเป็นจุดที่ธนาคารต้องประคองการตั้งสำรอง เพื่อลดความชันของเอ็นพีแอลที่จะเป็นหน้าผาสูงในช่วง 1 ปีข้างหน้า
ดังนั้นคาดว่า การสำรองหนี้ต่อหนี้สงสัยจะสูญ หรือ หนี้เสีย ของธนาคารยังอยู่ในระดับที่สูง ราว 125-130% ใกล้เคียงกับปัจจุบัน และจะพยายามควบคุมเอ็นพีแอลไว้ไม่ให้เกิน 5% จากปัจจุบันที่ 4.21%
ขณะเดียวกันธนาคารยังตั้งเป้าที่จะลดต้นทุนทางการเงินอย่างต่อเนื่อง จากการใช้ดิจิทัลเข้ามาช่วย โดยตั้งเป้าให้ลดลงสู่ระดับ 32-35% ในอนาคต จากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 45% ส่วนด้านสินเชื่อรวมของธนาคารคาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 3% ตามการขยายตัวของจีดีพีปีหน้า
“วันนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือการประคองลูกหนี้ ให้ฝ่าวิกฤตไปได้ ช่วงนี้สำคัญสุด คือช่วยลูกหนี้ให้ผ่านลูกผีลูกคน ดังนั้นก็น่าจะประคองเอ็นพีแอลไม่ให้ตัวเลขสูงขึ้น แนวโน้มสำรองสูงจะต่อเนื่องไปถึงปีหน้า เราจะหยอดกระปุกเติมกล้ามเนื้อให้กับตัวเอง เพราะวิกฤตินี้เหมือนวิ่งมาราธอน ที่มีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้นภาพรวมปีนี้ และปีหน้าคงเป็นการประคองเอ็นพีแอล ช่วยลูกหนี้ ไม่ใช่ปีแห่งการเร่งกำไรและเร่งการเติบโตแต่เป็นปีที่เร่งสร้างเสถียรภาพ”
สำหรับการที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงสถานะของธนาคาร ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ตามพ.ร.บ.ต่างๆ เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีสาระสำคัญ เพราะปัจจุบันกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(FIDF) ยังถือหุ้นอยู่55% ตามพ.ร.บ.ธปท.
ดังนั้นสิ่งที่ดำเนินการอยู่ ธนาคารมีความตระหนักอยู่แล้วว่า 55% เป็นของคนไทย อยู่ที่สปิริตและวิธีคิด ด้วยการปฏิบัติไม่เกี่ยวกับการเป็น หรือเป็นรัฐวิสาหกิจ ตามพ.ร.บ.งบประมาณ ซึ่งธนาคารยังเทียบเคียงกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง เหล่านี้คือ KPI ของธนาคารมายาวนาน ดังนั้นการวางสถานะกรุงไทยคือการแข่งขันได้แบบธนาคารพาณิชย์ ไม่ใช่เพียงธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ