รู้จัก 'นวัตกรรมเพื่อการใช้ชีวิตที่ดีขึ้น' จาก 'NIA'
"สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ" (NIA) ดันแคมเปญ "Innovation Thailand" กับ 7 หมวด Innovation for Crafted Living ผลักดันให้อัตลักษณ์ของไทยกลายเป็นนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและส่งเสริมธุรกิจให้ดีขึ้น
เมื่อพูดถึง "นวัตกรรม" หลายคนมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของเทคโนโลยี และสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว "นวัตกรรม" คือ "องค์ความรู้" ที่สามารถพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น ใช้ง่ายได้ดีขึ้น มีประโยชน์มากขึ้น เข้าถึงผู้คนมากขึ้น ฯลฯ โดยจะมีตัวตนจับต้องหรือไม่มีก็ได้ ซึ่งนั่นหมายความว่านวัตกรรม อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด และยิ่งไปกว่านั้นคือควรสนับสนุนการผลักดันนวัตกรรมต่างๆ ให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เล่าถึงเทรนด์ธุรกิจของไทยที่มีการผสมผสานนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาเพื่อพัฒนาให้เกิดประโยชน์มากขึ้นในมิติต่างๆ เพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน และที่สำคัญที่สุดคือสามารถสร้างการรับรู้ หรือ "ภาพจำ" สินค้าและบริการไทยแบบใหม่
ดร.พันธุ์อาจ ขยายความว่า ที่ผ่านมาชาวต่างชาติ หรือแม้แต่คนไทยด้วยกันเองที่มักจำภาพความเป็นไทยจากอัตลักษณ์บางอย่างที่ตกทอดมาเรื่อยๆ เช่น "การนวดไทย" "อาหารไทย" แต่เมื่อพิจารณาลึกลงไป สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงอัตลักษณ์ที่ถูกสืบทอดมาเท่านั้น แต่หากมีมิติของนวัตกรรมเข้ามาผสมอัตลักษณ์เหล่านี้จะทำให้สินค้าและบริการของไทยค่อยๆ เติบโตไปอีกขั้น และยกระดับคุณภาพชีวิตหลากหลายมิติอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อน
"ถ้าคนทั่วไปมอง นวัตกรรมก็คือสินค้าใหม่ เช่น รถยนต์รุ่นใหม่ อาหารจานใหม่ที่เราไม่เคยกินมาก่อน แต่เบื้องหลังของสิ่งของเหล่านี้คือองค์ความรู้ใหม่ที่ใส่ประกอบเข้าไปในสิ่งของเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งจับต้องได้ มันอาจจะเป็นบริการ เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด หรือวิถีชีวิตก็ได้ การใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ก็นับว่าเป็นนวัตกรรม"
แนวโน้มการประยุกต์ใช้นวัตกรรมในมิติต่างๆ ที่ผ่านมาทำให้ประเทศไทยได้ขยับอันดับด้านนวัตกรรมขึ้นมาอยู่ที่ 44 จากอันดับที่ 51 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการขยับขึ้นถึง 7 อันดับ ที่เรียกได้ว่านวัตกรรมของไทยนั้นก้าวกระโดด
โดย "สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ" ให้ความสำคัญกับการผลักดันให้นวัตกรรมไปอยู่ในทุกๆ มิติของชีวิตที่ช่วยยกระดับชีวิตได้ดีขึ้นอย่างจริงจัง หนึ่งในนั้นคือแคมเปญ "Innovation Thailand" ภายใต้ธีม Innovation for Crafted Living ที่ทาง NIA ได้แบ่งนวัตกรรมออกเป็น 7 หมวดที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตในมิติต่างๆ ได้ดีขึ้น ประกอบไปด้วย
- Healthy Living นวัตกรรมเพื่อสุขภาพดีที่ไม่ใช่แค่การดูแลรักษาแต่รวมไปถึงการป้องกัน
- Easy Living นวัตกรรมเพื่อให้ผู้สูงวัย คนพิการ หรือผู้ที่ด้อยโอกาส ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นและเท่าเทียมกับคนปกติแบบไร้รอยต่อ
- Smart Living นวัตกรรมเพื่อโลกและสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่แหล่งพลังงานสะอาด การกำจัดขยะ ลดมลพิษ และคิดเผื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Bio-Circular-Green Economy)
- Connected Living นวัตกรรมที่เชื่อมโยงผู้ที่สนใจเรื่องเดียวกัน สร้างเป็นเครือข่ายด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยลดช่องว่างทางความคิด
- Safe Living นวัตกรรมเพื่อชีวิตและทรัพย์สินปลอดภัย ครอบคลุมทุกมิติในการใช้ชีวิตทั้งในบ้านและนอกบ้าน
- Wealthy Living นวัตกรรมที่สร้างโอกาสและอาชีพใหม่ๆ ที่เลี้ยงตัวเองได้ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
- Happy Living นวัตกรรมด้านการท่องเที่ยว ดนตรี และสันทนาการ เพื่อทำให้ชีวิตผ่อนคลายและมีความสุข
- ตัวอย่าง Smart Living
- 'นวัตกรรม' ผลักดัน 'อัตลักษณ์' ให้ยั่งยืน
ยกตัวอย่างการผสมผสานอัตลักษณ์เข้ากับนวัตกรรม ให้เห็นภาพมากขึ้น เช่น "การนวดแผนไทย" เป็นอัตลักษณ์ที่มาจากภูมิปัญญาที่เป็นภาพจำเมื่อพูดถึง "ประเทศไทย" แต่หากมีการนำนวัตกรรมด้านสุขภาพเข้ามาต่อยอดให้การนวดไทยมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม เช่น การทำให้ลูกประคบที่ใช้สำหรับนวดสามารถเก็บได้นานขึ้น ใช้งานได้ง่ายขึ้น ซึ่งนับเป็น Healthy Living ที่สามารถต่อยอดให้อัตลักษณ์ของไทยไปไกลขึ้น
"ทุกอย่างที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่ความคิดที่ทุกคนมีต่อนวัตกรรมไทย กระบวนการทางวัฒนธรรมที่สอดประสานกับนวัตกรรม"
นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมอีกมากมาย ที่ถูกผลักดันร่วมกับ วัตถุดิบที่เป็นอัตลักษณ์ของไทย เช่น "ข้าว" ให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นประโยชน์มากกว่าแค่อิ่มท้องหรือเก็บได้นาน เช่น
นวัตกรรมอาหารเสริมสำหรับเด็กเล็กกลุ่มภูมิแพ้อาหารทั้ง 8 ชนิด ซึ่งเป็นการพัฒนาสูตรอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสำหรับเด็กเล็ก และปราศจากวัตถุดิบที่ก่อให้เกิดอาการแพ้อาหารด้วยการใช้ข้าวกล้องอินทรีย์เป็นส่วนประกอบหลัก หลังจากนั้น นำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชนิดกึ่งเหลวด้วยกระบวนการทำให้สุกบางส่วน และทำแห้งด้วยแหล่งความร้อนด้วยรังสีอินฟราเรด ตลอดจนนำไปพัฒนาเป็นอาหารเสริมชนิดกึ่งแข็งสำหรับเด็กวัย 8 เดือนขึ้นไปด้วยเทคโนโลยีนึ่งด้วยไอน้ำ และบ่มพักเพื่อทำให้ส่วนของคาร์โบไฮเดรตในสูตรอาหารจัดเรียงโมเลกุลใหม่ด้วย
ผลิตภัณฑ์น้ำส้มสายชูหมักพร้อมดื่มจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ โดยเริ่มจากการย่อยแป้งข้าวให้เปลี่ยนเป็นน้ำตาลด้วยเอนไซม์ซึ่งปริมาณน้ำตาลทั้งหมดที่ได้จากการย่อยแป้งข้าวไรซ์เบอร์รี่ เท่ากับ20.83 g/100 g แล้วนำมาหมักไวน์ด้วยเชื้อยีสต์ S. cerevisiae sub. Kyokai ระยะเวลา 15-20 วัน ซึ่งสามารถผลิตแอลกอฮอล์ได้สูงถึงร้อยละ 16.05 และหมักน้ำส้มสายชูแบบวางนิ่งจากไวน์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ด้วยเชื้อ A. acetiTISTR 345 สามารถผลิตกรดอะซิติกปริมาณสูงภายในระยะเวลาทั้งหมด 11 วัน และปรับปรุงรสชาติโดยคิดสูตรน้ำส้มสายชูหมักพร้อมดื่มที่ผสมน้ำผลไม้
นวัตกรรมระดับโลกด้านผลิตภัณฑ์วัสดุห้ามเลือดทางด้านศัลยศาสตร์ สำหรับกดแปะห้ามเลือดที่ไหลจากพื้นผิวอวัยวะที่อ่อนนุ่ม ผลิตจากผงแป้งข้าวเจ้าไทยที่สกัดจากการปั่นเหวี่ยงในสารละลายตัวกลางของข้าวหัก ผสมกับสารเติมแต่งให้มีลักษณะเป็นแผ่นเส้นใยร่างแหสามมิติสำหรับข้าวฟองสุรดาและมีลักษณะเป็นแผ่นเจลสีขาวสำหรับข้าววรางกูร มีความสามารถดูดซับเลือดจนเต็มปริมาตรได้อย่างรวดเร็ว ไม่เกิดผลข้างเคียงชนิดก่ออันตราย และแผ่นซับเลือดทั้งสองชนิดสามารถย่อยสลายได้จนหมดสิ้นในร่างกายภายในระยะเวลาประมาณ 3 สัปดาห์
นอกจากนี้ ดร.พันธุ์อาจ ยังเล่าว่า ยังมีนวัตกรรมของไทยที่หลายคนอาจไม่เคยรู้คือ "เทคโนโลยีกลิ่น" ประเทศไทยมีคนที่พัฒนาเรื่ององค์ความรู้ด้านวิชาชีพ ด้านกลิ่นเอามาใส่ในตัวสินค้ามาตรฐานหลายอย่างที่นักท่องเที่ยวใช้และซื้อ ซึ่งนี่คือเรื่องการนำกลิ่นไปสู่การเป็นนวัตกรรมที่ ไม่ใช่เทียนหอม น้ำหอมปรับอากาศห้อง อย่างที่หลายคนคุ้นเคย
ดังนั้น Innovation for Crafted Living ที่ NIA สนับสนุนขึ้นจะเป็นส่วนที่ช่วยสร้าง "ภาพจำ" ใหม่ๆ ตอกย้ำภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศไทย ที่มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรมที่แทรกซึมอยู่ทุกจังหวะของชีวิต โดยเฉพาะนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยทำให้มีความสุข สะดวกสบาย และมีความประณีตในการใช้ชีวิตมากขึ้นด้วย