5 คำทำนายในปี 2564
เปิด 5 คำทำนายของปี 2564 กับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ หลังจากทั่วโลกต้องเผชิญวิกฤติโควิด-19 มานานกว่าปี
“ความไม่แน่นอนคือสิ่งที่แน่นอน” ตรรกะแห่งพุทธพจน์เป็นจริงเสมอ เพราะแม้แต่คำทำนายปี 2563 ของผู้เขียนที่มักมองโลกอย่างระมัดระวังแล้ว ก็ยังดูห่างไกลกับความเป็นจริงในปีนี้อย่างมาก
นั่นเป็นเพราะปี 2563 เป็นปีแห่งอาถรรพณ์ที่โรคร้ายแห่งศตวรรษได้มาระบาดทั่วโลก ทำให้ผู้ติดเชื้อมีจำนวนมากกว่าประชากรประเทศไทย ผู้เสียชีวิตมีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคนและกำลังจะเข้าสู่ 2 ล้านคนในกลางปีหน้า ยิ่งไปกว่านั้น โรคร้ายยังได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม การเมือง สงครามเย็นและการพัฒนาของโลกอย่างไม่มีวันหวนกลับ
การเปลี่ยนแปลงทั้ง 5 นั้นได้แก่
(1) โควิด-19 ที่ได้นำมาซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงที่สุดในรอบกว่า 80 ปี และจะทำให้เกิด “รอยแผลเป็น” ต่อเศรษฐกิจตลอดไป
(2) ประธานาธิบดีทรัมป์แพ้เลือกตั้ง และจะเป็นจุดเริ่มต้นของการหมดยุคกระแสชาตินิยมขวาจัดทั่วโลก
(3) การลงทุนโลกในภาพรวมเติบโตดีมาก สวนทางกับเศรษฐกิจ ผลจากการอัดฉีดภาคการเงินการคลังทั่วโลกที่จะมีไปอีกพักหนึ่ง
(4) สงครามเย็นที่มีแนวโน้มเปลี่ยนรูปแบบไป จากการเผชิญหน้าโดยตรงและใช้เครื่องมือเก่าอย่างภาษีศุลกากร เป็นรูปแบบใหม่ที่ใช้พันธมิตรมากขึ้น และ
(5) เอเชียมีแนวโน้มที่จะผงาดขึ้นมาเป็นใหญ่ แทนที่ซีกโลกตะวันตก
ด้วยการเปลี่ยนแปลงแบบ “พสุธาพลิก” (Tectonic Shift) เช่นนี้ ทำให้ผู้เขียนมองว่าปี 2564 จะเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ โดยขอฉายภาพ 5 คำทำนายของปี 2564 ดังนี้
1.วัคซีนจะมาช้ากว่าคาด แต่ยารักษาโควิดและเครื่องตรวจ จะเป็นความหวังและผู้คนจะชินกับนิวนอร์มอล (New Normal)
แม้วัคซีนจะเป็นความหวังของชาวโลก และเริ่มอนุมัติให้ฉีดได้ตั้งแต่ปลายปี 2563 ในบางราย แต่การอนุมัติวัคซีนหลายรายจะล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ เช่น Astra Zenica อาจได้รับการอนุมัติในไตรมาสแรกของปีหน้าแทนที่จะภายในปีนี้ ทำให้การฉีดให้กับประชาชนล่าช้า
ผู้เขียนคาดการณ์ว่า วัคซีนทั่วโลกจะฉีดได้เพียง 2.4 ล้านโดสในครึ่งปีแรก และ 4 ล้านโดสในครึ่งปีหลัง ทำให้พลโลกได้รับการฉีดประมาณ 2.4 พันล้านคนในปี 2564 หรือประมาณ 30% ของประชากรโลกที่ 7.7 พันล้านคน ซึ่งจะทำให้การเดินทางระหว่างประเทศยังค่อนข้างยาก และทำให้เหตุการณ์สำคัญอย่างโอลิมปิคในญี่ปุ่นที่เลื่อนมาจากปีนี้ ยังไม่สามารถเปิดได้ ทำให้เศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นตัวเต็มที่
แต่ความหวังเศรษฐกิจโลกจะอยู่ที่ยารักษาโควิดโดยเฉพาะ Dexamethasone ซึ่งเป็นสเตียรอยด์ และ Remdesevir ที่เคยเป็นยารักษาอีโบลา จะช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยที่ติดเชื้อมากขึ้น นอกจากนั้นเครื่องมือทดสอบที่ง่ายขึ้น สามารถทดสอบได้ด้วยตนเอง รวมถึงการทำ Social distancing อย่างต่อเนื่อง จะทำให้ผู้คนใช้ชีวิตได้มากขึ้น แต่การพบปะเป็นกลุ่มใหญ่ รวมถึงการเดินทางระหว่างประเทศจะยังถูกคุมเข้มโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก
2.เศรษฐกิจจะฟื้นตัวแบบ “หลุม” แบบ “ช้อน” แบบ “ตัว K” โดยเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปถ้าวัคซีนได้รับอนุมัติ แต่ความเชื่อมั่นของประชาชนจะไม่ฟื้นกลับมาได้ในทันที เนื่องจากวัคซีนต้องได้รับการอนุมัติและการแจกจ่ายทั่วโลกต้องใช้เวลา ทำให้การฟื้นตัวในแต่ละประเทศแตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับ
(1) จำนวนผู้ติดเชื้อและการได้รับวัคซีน ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อในระดับต่ำจะฟื้นตัวดีกว่า
(2) การพึ่งพิงภาคท่องเที่ยวและบริการ ประเทศที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวและบริการสูงจะฟื้นตัวช้ากว่า
(3) ภาคเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ หากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการจะอ่อนแอ/ฟื้นตัวช้ากว่า
ภาพดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เติบโตได้ดีที่สุดในปี 2564 ได้แก่ จีน ที่จะเติบโตในระดับ 6-7% และการฟื้นตัวจะเป็นแบบเครื่องหมายไนกี้ รองลงมาได้แก่สหรัฐ (ประมาณ 3-4%) ที่ฟื้นตัวขึ้นจากฐานต่ำและวัคซีน แต่การเมืองจะเป็นตัวฉุดรั้ง ทำให้การฟื้นตัวเป็นรูปแบบช้อน (คือเป็นหลุมก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้น)
ขณะที่เศรษฐกิจไทย (3-4%) ยูโรโซน (2-3%) และญี่ปุ่น (1-2%) จะฟื้นตัวต่ำกว่าจากการพึ่งพิงความต้องการจากต่างประเทศและภาคการท่องเที่ยวที่สูงกว่า และทำให้การฟื้นตัวเป็นรูปแบบแอ่ง รวมถึงระดับการฟื้นตัวไม่เท่ากัน (เป็นรูป K-shape) โดยภาคเกษตรและอุตสาหกรรมฟื้นตัวดีขึ้นกว่าภาคบริการ (ดูรูป)
3.สงครามเย็นภาคสอง : จาก Superman เป็น Avenger ในยุคของทรัมป์ สหรัฐประกาศสงครามเย็นกับจีนผ่านการรบ 4 สมรภูมิ คือการค้า เทคโนโลยี การลงทุน และด้านความมั่นคง โดยเน้นทำสงครามแบบ “ฉายเดี่ยว” แบบซูเปอร์แมน เช่นขึ้นภาษีนำเข้ากับจีน และแบนบริษัทเทคฯ จีน เป็นต้น
แต่ในยุคไบเดน สงครามเย็นจะไม่หายไป แต่จะเปลี่ยนรูปแบบเป็นการรบแบบ “รวมพล” เหมือน Avenger มากขึ้น โดยในส่วนการค้า จีนเดินแต้มก่อนหลังจากได้เข้าร่วมสนธิสัญญาการค้าอาร์เซ็ป ขณะที่รัฐบาลไบเดนจะเริ่มเดินเกมในเอเชียมากขึ้นผ่านความร่วมมือกับอาเซียน ทีพีพีและเอเปค รวมถึงบีบให้จีนต้องยอมทำตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดร่วมกัน เช่น มาตรฐานสินค้า การคุ้มครองแรงงาน
ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และการลดทอนอิทธิพลและขนาดของรัฐวิสาหกิจในเศรษฐกิจ แลกกับการลดภาษีนำเข้าที่เคยขึ้นในสมัยของทรัมป์
ในส่วนสมรภูมิเทคโนโลยีจะเข้มข้นขึ้น ในช่วงที่ผ่านมา จีนพัฒนาด้านเทคโนโลยีมาก โดยให้เงินอุดหนุนกับบริษัทขนาดใหญ่ ขณะที่เผยแผ่อิทธิพลด้านเทคโนโลยีของตนให้กับประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ไบเดนมีแนวโน้มที่จะทำนโยบายสนับสนุนธุรกิจเทคโนโลยีในสหรัฐและพันธมิตรมากขึ้น เช่น ผ่อนคลายกฎหมายต่อต้านการผูกขาด เพื่อให้บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ยุโรป และเอเชียได้เติบโตขึ้น รวมถึงทำความร่วมมือกับด้านเทคโนโลยีกับพันธมิตร และลดนโยบายเชิงลบระหว่างกันเอง เช่น การเก็บภาษี Digital tax ของยุโรป เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป สงครามเย็นในยุคต่อไปจะเป็นการหาพันธมิตรเพื่อกดดันอีกฝ่ายมากขึ้น ประเทศในเอเชียจะเนื้อหอม ทั้งจีนและสหรัฐจะพยายามชักจูงเข้าเป็นพวก นอกจากนั้นทั้งคู่ยังจะใช้นโยบายพึ่งพาตนเอง โดยลดการพึ่งพิงซัพพลายเชนจากต่างชาติให้น้อยที่สุด ผ่านแนวนโยบาย Dual circulation ของจีน และ Made in all of America มากขึ้น
คำทำนายที่ 4 Tech-Celelation หรือการเร่งตัวของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด
วิกฤติโควิดที่จำกัดการปฏิสัมพันธ์โดยตรง ทำให้มนุษยชาติน้อมรับเทคโนโลยี (Technological adoption) รวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยบริษัทที่ปรึกษา McKinsey กล่าวว่า ผู้บริโภคและภาคธุรกิจย่นระยะเวลาน้อมรับเทคโนโลยีต่างๆ จาก 5 ปีเหลือประมาณ 8 สัปดาห์ และ 10 ปี เหลือ 3 เดือนสำหรับการชอปปิงออนไลน์ โดยเฉพาะผู้บริโภคในสหรัฐและอิตาลี (นั่นคือเร่งไปปี 2568-2573)
ด้านการทำธุรกรรมการเงิน
นิตยสาร The Economist ระบุว่า ส่วนแบ่งการทำธุรกรรมแบบไม่ใช้เงินสด (Cashless Transaction) ทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึงระดับที่คาดว่าจะได้เห็นใน 2-5 ปี ส่วนด้านการแพทย์ รายงานจาก New York Times ระบุว่าบริการทางการแพทย์ในอังกฤษได้ย่นระยะเวลาจากหนึ่งทศวรรษเหลือหนึ่งสัปดาห์ หลังจากแพทย์เปลี่ยนไปใช้การให้คำปรึกษาผ่านอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ
ด้วยภาพดังกล่าว ผู้เขียนจึงมองว่ากระแส Tech-celelation จะส่งผลกระทบกับ 3 กลุ่มธุรกิจทั่วโลก ได้แก่
1.ธุรกิจไอที เนื่องจากโควิดทำให้ความจำเป็นในการทำธุรกิจแบบ Social Distancing มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจซอฟต์แวร์ทั่วโลกที่จะขยายตัวประมาณ 7% ในขณะที่ธุรกิจแบบ Backup system และ Cloud-based software (หรือที่เรียกว่า Infrastructure as a service) จะโตถึง 28% ทำให้ผู้นำอย่าง Amazon, Google, Microsoft จะเข้ามาแข่งขันในธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์มากขึ้น
2.ธุรกิจค้าปลีก จะกลับมาเติบโตได้ประมาณ 3% หลังจากหดตัวกว่า 5% ทั่วโลก โดยประเทศในเอเชีย เช่น จีน เวียดนาม และฟิลิปปินส์ รวมถึงในสหรัฐจะเติบโตได้ดีในระดับ 4-7% ผลจากการชอปปิงออนไลน์รวมถึง Omni Channel เช่น Click-and-Collect ที่มากขึ้น
และ 3.ธุรกิจเทเลคอม ที่จะได้ประโยชน์จากออนไลน์ชอปปิง และ Work from Home มากขึ้น แต่กำลังซื้อผู้บริโภคที่น้อยลง รวมถึงค่าใช้จ่ายของธุรกิจในการน้อมรับกระแส 5จี ที่ต้องลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานเชิงโครงสร้าง (Infrastructure) จะเป็นตัวกดดันผลกำไร แต่ในระยะยาวจะได้ประโยชน์เต็มที่จากกระแสดังกล่าว
คำทำนายสุดท้าย ปี 2564 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติพลังงานสะอาด (Clean Energy Revolution)
ที่ผ่านมา มนุษยชาติพยายามลดภาวะโลกร้อนอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 กว่า 190 ประเทศได้ลงนามใน Paris Agreement ในการประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศโลก (COP21) โดยให้คำมั่นว่าจะพยายามลดการเพิ่มของอุณหภูมิโลก (ภาวะโลกร้อน) ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เทียบกับช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ภายในปี 2593
ดังนั้น ในการประชุม COP-26 ที่อังกฤษในปลายปี 2564 สหภาพยุโรปจะประกาศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดให้เหลือศูนย์ภายในปี 2593 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า เช่นเดียวกับสหรัฐ ส่วนจีนจะลด “การปล่อยก๊าซคาร์บอน” ให้เหลือศูนย์ภายในปี 2603
ด้วยภาพดังกล่าว ผู้เขียนจึงมองว่าปี 2564 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติพลังงานสะอาด ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน 3 จุด
1.ความต้องการน้ำมันถึงจุดสูงสุดแล้วและจะลดลงในระยะต่อไป พร้อมๆ กับความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่มากขึ้น (Peak oil and Rising EV trend) แม้ผู้เขียนจะคาดว่าความต้องการน้ำมันทั่วโลก (Demand for oil) จะเพิ่มขึ้นในปีหน้ามาอยู่ที่ 96 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากประมาณ 91 ล้านในปีนี้ และ 99 ล้านบาร์เรลในปี 2562 แต่ก็เป็นเพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจช่วงสั้น แต่ในระยะต่อไป ความต้องการน้ำมันจะลดลงต่อเนื่อง
ขณะที่คาดว่ายอดขายรถยนต์นั่งและรถบรรทุกทั่วโลกในปี 2564 จะเพิ่มขึ้น 15% อยู่ที่ประมาณ 80 ล้านคัน จากปีนี้ที่ 70 ล้านคัน และปี 2562 ที่ 84 ล้านคัน แต่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.4 ล้านคัน (4.3% ของรถยนต์ทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 2.5% ในปี 2562) โดยนโยบายของประเทศต่างๆ จะสนับสนุนการใช้ EV และลดการอุดหนุนการใช้เครื่องยนต์สันดาป (ICE)
2.ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแร่ธาตุหายากและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดจะเฟื่องฟู โดยที่ผ่านมา โลกพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิง Fossil เกินกว่า 80% แต่นับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป การพึ่งพิงแหล่งพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้นจาก 5% ของกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าในวันนี้เป็น 25% ในปี 2578 และเกือบ 50% ในปี 2593
กระบวนการดังกล่าวจะทำให้ผู้ผลิตอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้ประโยชน์ โดยเฉพาะจีนที่เป็นผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ถึง 72% ของการผลิตทั่วโลก และเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและกังหันลมถึงกว่า 69% และ 45% ทั่วโลก และยังเป็นผู้ผลิตหลักของแร่ธาตุที่สำคัญเช่นโคบอลต์และลิเธียม ขณะที่ในยุโรปก็มีผู้พัฒนาฟาร์มกังหันลมและโซลาร์ฟาร์มยักษ์ใหญ่ เช่น Orsted, Enel และ Iberdrola กำลังสร้างโครงการดังกล่าวทั่วโลก ขณะที่สหรัฐล้าหลังในเรื่องดังกล่าว ทำให้เป็นไปได้ที่ประธานาธิบดีไบเดนจะเร่งพัฒนาในประเด็นดังกล่าว
และ 3.การลงทุนที่เกี่ยวกับสีเขียวจะเฟื่องฟู โดย Clean Energy Revolution ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเงิน กล่าวคือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันเริ่มเข้าสู่ขาลง เช่น Exxon Mobil ที่ถูกให้ออกจากดัชนีดาวโจนส์ ขณะที่เทสลาได้เข้าร่วมใน S&P 500
ด้านการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนทั่วโลกได้เพิ่มขึ้น 70% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ในปีนี้ดัชนีหุ้นที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดปรับตัวเพิ่มขึ้น 45% หลังจากที่โจ ไบเดน ประกาศว่าจะตั้งงบประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อลดปริมาณการใช้คาร์บอนในสหรัฐ ดังนั้น ผู้เขียนจึงเชื่อว่าการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวจะเติบโตก้าวกระโดดในปี 2564
กล่าวโดยสรุป ในปีหน้า (1) วัคซีนจะมาช้า (2) เศรษฐกิจจะฟื้นแบบช้อน แบบหลุม และแบบตัว K (3) สงครามเย็นจะเป็นแบบ Avenger (4) จะเป็นปีแห่ง Tech-Celelation และ (5) เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติพลังงานสะอาด (Clean Energy Revolution)
ผู้อ่านทั้งหลายเตรียมพร้อมกับความเสี่ยงและโอกาสในปีหน้าแล้วหรือยัง
(บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด)