คมนาคมติดเครื่องลงทุน ลุย 'แลนบริดจ์' รับปีฉลู
“ศักดิ์สยาม” ดันนโยบายปี 2564 ลุยลงทุนโครงการแลนบริดจ์ ท่าเรือบางสะพาน - แหลมฉบัง และดึงเอกชนร่วมทุนรถไฟทางคู่ มั่นใจช่วยเพิ่มศักยภาพขนส่งทางราง 30% จี้ทุกหน่วยเร่ง 7 งานค้างท่อ เตรียมเปิดตัวแอพพลิเคชั่นแท็กซี่ พ.ค.ปีหน้า
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแผนดำเนินงานในปี 2564 โดยระบุว่า ปีหน้ากระทรวงฯ เตรียมดำเนินการนโยบายที่ค้างคาอีก 7 เรื่อง รวมไปถึงผลักดันโครงการลงทุนที่ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้วในปี 2563 อาทิ การพัฒนาโครงการแลนบริดจ์เชื่อมสองฝั่งทะเลระนอง – ชุมพร เพื่อส่งเสริมการขนส่งสินค้าทั้งในและต่างประเทศ และโครงการพัฒนาท่าเรือบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เชื่อมท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งผลักดันรูปแบบการลงทุนรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งจะเปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการรัฐ หรือรูปแบบพีพีพีมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีความคืบหน้าของโครงการลงทุนดังกล่าวแล้ว โดยเฉพาะโครงการแลนบริดจ์ ที่กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการศึกษาออกแบบโครงการ ซึ่งปัจจุบันทราบว่าได้จัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) แล้วเสร็จ เตรียมประมูลจัดหาเอกชนเข้ามาศึกษาออกแบบ คาดว่าจะได้ตัวเอกชนในช่วงต้นปี 2564 และทำการศึกษาแล้วเสร็จภายในปีหน้า เพื่อเสนอเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาอนุมัติ
ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือบางสะพาน จ.ประจวบฯ - แหลมฉบัง ที่ผ่านมาได้มีการศึกษาความคุ้มค่าแล้ว พบว่าเป็นเส้นทางที่เหมาะสมในการพัฒนา เพราะจะช่วยลดระยะเวลาขนส่งสินค้า และลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ทำให้ต้องทบทวนปริมาณการขนส่งสินค้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง ดังนั้นอาจจะมีการทบทวนตัวเลขกันใหม่ในปีหน้า
ด้านแนวทางเปิดพีพีพีผลักดันรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ขณะนี้ ร.ฟ.ท.ได้รับมอบหมายจากกระทรวงฯ ให้ดำเนินการศึกษารูปแบบแล้ว โดยเป้าหมายสำคัญจะต้องเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมทุนอย่างถูกต้อง และเหมาะสม เนื่องจากปัจจุบันต้องยอมรับว่าผลการดำเนินงานของ ร.ฟ.ท.มีภาระหนี้สินค่อนข้างมาก ดังนั้นอาจมีงบประมาณจำกัดในการลงทุน หากให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ทำให้โครงการเกิดขึ้น ซึ่งคาดว่าต้นปี 2564 จะได้ความชัดเจนของรูปแบบร่วมทุน
“ปีหน้าเราจะมีรถไฟทางคู่สายใหม่เกิดขึ้นทั้งทางคู่สายเด่นชัย – เชียงราย - เชียงของ และบ้านไผ่ - นครพนม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่กระทรวงฯ พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ตามเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการขนส่งด้วยระบบรางเป็น 30% ภายในเวลา 3 ปี และทำให้เป็นระบบโลจิสติกส์หลักในการขนส่งสินค้า”
นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวอีกว่า นอกจากโครงการลงทุนแล้ว ในปี 2564 กระทรวงฯ ยังเร่งรัด 7 งานคงค้างตามนโยบายที่ตนสั่งการไว้ รวม 8 นโยบาย 21 เรื่อง ซึ่งตลอดทั้งปี 2563 ได้ดำเนินการไปแล้วจำนวน 14 เรื่อง โดยเรื่องที่ยังคงค้าง อาทิ นโยบายปรับเวลาเดินรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป การศึกษารูปแบบ เงื่อนไข การอนุญาตบริหารรถรับจ้างสาธารณะผ่านแอพพลิเคชั่น การศึกษาและจัดทำแผนการใช้บัตรโดยสารเชื่อมโยงรถไฟฟ้าทุกระบบ หรือ ตั๋วร่วม รวมไปถึงแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
สำหรับ 7 งานคงค้าง ขณะนี้มีความคืบหน้าดำเนินการแล้ว เช่น ระบบตั๋วร่วมที่ปัจจุบันได้ศึกษาระบบแล้ว โดยอยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งโปรแกรม ที่มีสถาบันทางการเงิน 1 แห่งให้ความสนใจลงทุน เพื่อทำโปรแกรมระบบจัดเก็บข้อมูลดังกล่าว และเปิดให้ผู้ประกอบการขนส่งมาใช้บริการ เช่นเดียวกับการอนุญาตบริหารรถรับจ้างสาธารณะผ่านแอพพลิเคชั่น ขณะนี้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) อยู่ระหว่างจัดทำแอพพลิเคชั่นแท็กซี่ คาดว่าต้นปี 2564 จะสามารถเปิดทดลองใช้ และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในช่วงเดือน พ.ค. 2564
ส่วนแผนฟื้นฟู ขสมก. ก่อนหน้านี้กระทรวงฯ ได้จัดทำแผนฟื้นฟูฉบับปรับปรุง และส่งไปยังเลขา ครม.เพื่อเตรียมบรรจุวาระเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาอนุมัติ โดยสาเหตุที่ทำให้การเสนอเรื่องดังกล่าวยังล่าช้า เนื่องจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ความเห็นว่าตามขั้นตอนเมื่อมีการปรับปรุงแผนฟื้นฟู จะต้องรายงาน สศช.และขอรับความเห็นชอบก่อน ดังนั้นขณะนี้กระทรวงฯ จึงนำแผนดังกล่าวกลับมาเตรียมเสนอ สศช.ในช่วงต้นปี 2564 ก่อนนำเข้า ครม.
อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงแผนฟื้นฟู ขสมก.นั้น กระทรวงฯ ยืนยันว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากแผนเดิมที่ผ่านมาเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพราะยังคงรูปแบบของการบริหารหนี้สิน และการดำเนินการเรื่องโครงสร้างองค์กร ลดอัตราพนักงาน โดยแผนฉบับปรับปรุงนี้ มีรายละเอียดเปลี่ยนแปลงจากเดิม 3 ส่วน คือ 1. เปลี่ยนวิธีจัดหารถโดยสาร จากซื้อเป็นเช่าจ้าง เพื่อตัดปัญหาซ่อมบำรุง ควบคุมบริหารจัดการต้นทุนของ ขสมก.
2.เก็บค่าโดยสาร จากเดิมที่กำหนดจัดเก็บค่าโดยสารตามระยะทาง เพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันได ได้ปรับใหม่เป็นจัดเก็บค่าโดยสาร 30 บาทต่อวัน ซึ่งส่วนนี้ทำให้ สศช.มีคำถามว่าอัตราราคาดังกล่าวจะคลอบคลุมการดำเนินงานของ ขสมก.ให้สามารถเลี้ยงองค์กรในระยะยาวได้หรือไม่ โดยกระทรวงฯ ยืนยันว่ามีแผน และรายละเอียดที่สามารถชี้แจงผลการดำเนินงานให้ ขสมก.หลุดจากองค์กรขาดทุนสะสม และฟื้นฟูกิจการได้
3.ปรับช่องทางวิ่ง โดยแผนฟื้นฟูได้กำหนดให้ช่องทางวิ่งรถโดยสารประจำทาง จากเดิมที่เคยอยู่ช่องจราจรริมสุด จะปรับเป็นช่องเกาะกลาง เพื่อให้สะดวกต่อการจอดรถโดยสารและแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด คล้ายกับการจัดช่องจราจรของประเทศเกาหลีใต้ อย่างไรก็ดี กระทรวงฯ ยืนยันว่าแผนฟื้นฟู ขสมก.ต้องรีบดำเนินการ เพราะหากยังล่าช้าจะส่งผลต่อภาระหนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยหนี้สิน ขสมก.จะเพิ่มขึ้นปีละ 4 พันล้านบาท