'ปีใหม่' ได้ 'โบนัส' ก้อนใหญ่ ใช้ยังไงให้เกิดประโยชน์สูงสุด

'ปีใหม่' ได้ 'โบนัส' ก้อนใหญ่ ใช้ยังไงให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เปิดเคล็ดลับจัดการ "โบนัส" ก้อนใหญ่จากที่ทำงานมาทั้งปี ให้ "เกิดประโยชน์" มากกว่าแค่เลี้ยงฉลอง หรือเก็บไว้เฉยๆ

ถ้าถามว่าปีใหม่อยากได้อะไรในกลุ่มคนวัยทำงาน คงมีคนตอบว่า "โบนัส (Bonus)" จำนวนไม่น้อย “โบนัส (Bonus)” หรือเงินพิเศษ ณ ที่นี้หมายถึงเงินที่องค์กรส่วนใหญ่เลือกให้พนักงานเป็นพิเศษเพื่อเป็นกำลังใจในการทำงานหลังจากที่พนักงานทุกคนต่างช่วยกันทำหน้าที่ของตัวเองเพื่อผลักดันองค์กรในสู่เป้าหมายที่วางไว้

ในช่วง "วิกฤติ" ที่มีการแพร่ระบาดของโรค "โควิด-19" ที่มีน้อยบริษัทนักที่ยังสามารถทำกำไรและจ่ายโบนัสให้กับพนักงานได้ตามปกติ

ไม่ว่า "โบนัส" ที่ได้จะเป็นเงินจำนวนมากหรือน้อย แต่สิ่งที่ควรจะคิดตามหลังจากที่ได้รับเงินโบนัสมาแล้ว คือการวางแผนจัดสรรโบนัสของคุณเพื่อใช้จ่าย ออม หรือลงทุนที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์กับชีวิตของเรามากที่สุด

ได้มากหรือได้น้อย ก็ไม่สำคัญเท่ากับบริหารได้เกิดประโยชน์ได้หรือไม่ 

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวมวิธีจัดสรรโบนัสให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อช่วยให้จัดสรรเงินโบนัสได้ง่ายขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้ เคลียร์หนี้ ออม ลงทุน และ ให้รางวัลตัวเอง 

160944183498

 1. เคลียร์หนี้ (โดยเฉพาะหนี้ดอกเบี้ยสูง) 

หลายคนคงเคยได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่แนะนำว่าให้เคลียร์หนี้ หรือโปะหนี้ทันทีที่ได้รับเงินโบนัส ซึ่งคำแนะนำนั้นคงเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการโบนัสที่ดีในวันนี้

สำหรับคนมีหนี้ก้อนใหญ่ หรือหนี้ที่ดอกเบี้ยสูง อาจจะต้องแบ่งสัดส่วนเงินก้อนจากโบนัสมาเพื่อส่วนนี้ใหญ่กว่าส่วนอื่นๆ เพื่อลดภาระดอกเบี้ย หรือใช้โอกาสนี้โปะหนี้ระยะยาวให้สั้นลง โดยจะให้ดี อาจแบ่งสัดส่วนสำหรับหนี้สินราว 30 - 40% ของโบนัสที่ได้

สำหรับคนที่มีหนี้แต่ปริมาณไม่สูงมาก การจัดสรรเงินโบนัสราว 30-40% มาใช้หนี้ นั่นอาจหมายความว่า คุณสามารถใช้โอกาสนี้จ่ายหนี้ทั้งหมด เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการเงินที่ง่ายขึ้นในขึ้นในอนาคต แต่สำหรับคนที่ปลอดหนี้ นับว่าเป็นความโชคดี ที่จะสามารถนำเงินส่วนนี้ไปจัดสรรในอีก 3 ส่วนที่เหลือในสัดส่วนที่มากขึ้นได้

 2. เก็บออม 

หลายคนใช้โบนัสใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ ก่อน และหวังว่าจะออมเงินหลังจากที่ใช้ แต่ผิดถนัด เงินออมเป็นเงินส่วนที่สำคัญมาก และควรถูกแบ่งไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่หลังจากได้รับโบนัส 

เงินออม ณ ที่นี้ คือการออมเงินในบัญชีออมทรัพย์ หรือฝากประจำบางส่วนที่สามารถดึงมาใช้ได้ในยามฉุกเฉิน โดยหลักการทั่วๆ ไป ควรมีเงินสำรองสำหรับกรณีฉุกเฉินอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายเฉลี่ยแต่ละเดือน

เช่น คุณมีค่าใช้จ่ายประจำในแต่ละเดือนที่ 20,000 บาท เงินเก็บฉุกเฉินหรือเงินสำรองที่ควรมี คือ 120,000-160,000 บาท ที่สามารถนำมาใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น ตกงานกะทันหัน หรือมีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินก้อน เป็นต้น

สำหรับใครที่มีเงินสำรองขั้นต่ำแล้ว ก็ยังสามารถใช้เงินโบนัสสะสมเพิ่มขึ้นไปอีกได้ เพื่อเพิ่มความอุ่นใจ ให้เป็นเงินที่สามารถใช้หมุนเวียนได้อย่างลื่นมือ เสมือนมีเบาะนุ่มๆ คอยรองรับในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างไร้กังวล

 3. ลงทุน/ต่อยอดโปรเจคในฝัน 

เมื่อใช้เงินส่วนแรกโปะหนี้ในอดีต ใช้เงินส่วนที่สองออมสำหรับอนาคารอันใกล้แล้ว ส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้คือการ “ลงทุน” เพื่ออนาคตในระยะยาว 

การแบ่งสัดส่วนเงินโบนัสที่เป็นเงินก้อนมาลงทุนในสินทรัพย์ใดๆ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เงินได้ทำงาน และงอกเงยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อที่มีส่วนทำให้เงินมีค่าลดลงในอนาคต สำหรับคนที่ลงทุนในสินทรัพย์ใดๆ อยู่แล้ว สามารถนำเงินที่แบ่งจากโบนัสไปลงทุนตามแผนการลงทุนที่วางไว้ได้

ส่วนคนที่ยังไม่เคยลงทุนลองใช้โอกาสได้รับโบนัสนี้มาเป็นจุดเริ่มต้นในการลงทุนในสินทรัพย์ใดๆ ที่เหมาะกับความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ ทำให้เงินงอกเงย และต่อยอดเพื่อจุดประสงค์ใดจุดประสงค์หนึ่งได้ เช่น ลงทุนระยะสั้นเพื่อเป็นทุนในการเรียนต่อ ลงทุนระยะกลางเพื่อซื้อบ้าน ลงทุนระยะยาวเพื่อเตรียมเกษียณ ฯลฯ

ส่วนที่สำคัญที่สุดก่อนที่จะลงทุน คือต้องระลึกอยู่เสมอว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาให้เข้าใจก่อนการลงทุน” โดยจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่จะได้รับ ไปพร้อมๆ กับผลตอบแทนที่มีโอกาสจะได้ ซึ่งแต่ละสินทรัพย์มีความเสี่ยงและลักษณะของผลตอบแทนที่แตกต่างกันออกไป 

  • ลงทุนแบบมีความเสี่ยงต่ำ การลงทุนแบบที่มีความเสี่ยงต่ำ โอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนอาจไม่สูงนัก แต่เงินต้นที่ใช้ในการลงทุนก็จะยังคงอยู่ ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ กองทุนรวมตราสารหนี้
  • ลงทุนแบบมีความเสี่ยงปานกลาง การลงทุนประเภทนี้มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง แต่ก็เสี่ยงจะขาดทุนเช่นกัน ผลตอบแทนจะอยู่กลางๆ ไม่สูง ไม่ต่ำจนเกินไป ได้แก่ กองทุนรวมผสมที่ลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุน (หุ้น) ความเสี่ยงไม่สูงไม่ต่ำ ได้แก่ หุ้น
  • ลงทุนแบบมีความเสี่ยงสูง การลงทุนแบบมีความเสี่ยงสูง มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง แต่ก็มีโอกาสขาดทุนสูงเช่นกัน ได้แก่ หุ้น กองทุนรวมหุ้น เป็นต้น

นอกจากนี้ การลงทุนอาจมีนัยยะถึงการลงทุนกับการศึกษา ซึ่งจะให้ผลตอบแทนเป็นความรู้ หรือทักษะที่สามารถต่อยอดความก้าวหน้าในหน้าที่การงานต่างๆ ได้

 4. ให้รางวัลตัวเอง 

ข้อนี้เป็นข้อที่กลุ่มคนที่ได้โบนัสมากกว่าครึ่งคิดถึงเป็นข้อแรกๆ เพราะโอกาสได้รับเงินก้อนโตๆ กระตุ้นความต้องการใช้ เพื่อการตอบสนองความต้องการของตัวเองที่สะสมมาทั้งปี 

แต่การใช้จ่ายเพื่อความสุขจะให้ผลตอบแทนในลักษณะของประสบการณ์ชีวิต หรือความสุขทางใจนี้ จะได้ผลตอบแทนในมิติทางการเงินน้อยที่สุด จึงจำเป็นที่ต้องไตร่ตรองให้มาก แบ่งสัดส่วนให้ชัดเจน ไม่ควรเกิน 25% ของยอดโบนัสทั้งหมดที่ได้รับ เพื่อป้องกันการใช้เงินไปกับส่วนนี้จนมากเกินไปจนกลายเป็นทุกข์ในภายหลัง และ เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างสุขภาพทางการเงิน และสุขภาพจิตที่ดีอย่างต่อเนื่อง

นอกจากการมีเงินเพิ่มขึ้นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องสร้างไปพร้อมๆ กับการบริหารจัดการโบนัส คือ “การสร้างนิสัยให้กลายเป็นโบนัส” นั่นหมายถึงการใช้เงินอย่างรู้คุณค่า พยายามศึกษา และเรียนรู้ที่จะบริหารจัดการเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุดอยู่เสมอ 

เพราะท้ายที่สุดแล้วจุดเริ่มต้นของการบริหารจัดการเงินที่ดี ย่อมเกิดจากทัศนคติที่ดี ความเข้าใจ และความมุ่งมั่นตั้งใจจัดการเงินอย่างมีเป้าหมาย ที่จะสามารถช่วยให้สามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพไปตลอดชีวิตอีกด้วย



ที่มา: KrungsriPlearnPlearn AomMoney MoneyGuru